19 เม.ย. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า กดดันส่งออก-การลงทุน ฉุดจีดีพี

SCB EIC ระบุ ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้ายังสูง กดดันการส่งออกและการลงทุน คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพียง 1.5%
แม้ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน เพื่อเปิดให้เจรจา แต่ความเสี่ยงใหญ่ของโลกยังคงอยู่ มุมมองจาก SCB EIC ประเมินว่า มาตรการภาษีนำเข้าชุดใหญ่ที่สหรัฐฯ ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2025 จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สร้างความไม่แน่นอนกดดันการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโลกสูงต่อไป ซึ่งอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ตั้งให้สินค้าจากไทยที่ 36% นั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง สะท้อนสัดส่วนการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ที่สูง
ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้ายังสูง กดดันการส่งออกและการลงทุน คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพียง 1.5%
โดยอัตราภาษีตอบโต้ไทยสูงเป็นอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ และเป็นอันดับ 10 ของเอเชีย สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (17%) และค่าเฉลี่ยเอเชีย (23%) เพราะสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยสูงกว่า
นอกจากเรื่องนี้ สหรัฐฯ ยังระบุไว้ในรายงาน Foreign Trade Barriers 2025 ว่า ไทยตั้งกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐฯ สูงเฉลี่ย 9.8% ขณะที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยเพียง 3.3% โดยเฉพาะสินค้าเกษตร (ไทยเก็บสหรัฐฯ 27%) นอกเหนือจากการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังกล่าวถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, มาตรการกีดกันการค้าในภาคบริการ และสิทธิเสรีภาพของแรงงานในไทยด้วย
อย่างไรก็ดี การขอเจรจาของประเทศต่างๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของภาษีได้บ้าง แค่ในส่วน Reciprocal tariffs และ Specifics tariffs รายประเทศ แต่สำหรับ Universal tariffs และ Specifics tariffs รายสินค้า อาจเจรจาได้ยาก เพราะสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการใช้เป็นอัตราภาษีขั้นต่ำส่วนเพิ่ม และปกป้องบางอุตสาหกรรมในประเทศ
สำหรับการเจรจา รัฐบาลควรเร่งเจรจาลดผลกระทบภาษีครั้งใหญ่นี้ โดยเน้นสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ
  • ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ
  • ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
  • และแก้ปัญหาสำคัญอื่น ๆ เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพแรงงาน
ซึ่งรัฐบาลควรเจรจาบนผลประโยชน์ในภาพรวมและมีกลไกดูแลผลกระทบของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ส่งออกเจอศึกหนัก เพราะพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เกือบ 1 ใน 5
ขณะที่ ส่งออกไทยจะกระทบมาก เพราะพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เกือบ 1 ใน 5 และโดนภาษีตอบโต้สูง และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ในปี 2024 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 2019 หากคิดเป็นสัดส่วนของ GDP จะอยู่ที่ราว 10% ซึ่งค่อนข้างสูง เทียบประเทศ เศรษฐกิจหลักและอาเซียน และไทยเองก็โดน Reciprocal rate สูงกว่าเช่นกัน ไทยจึงได้รับผลกระทบสูง หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% จริง
SCB EIC ประเมินว่า Nominal GDP ไทยอาจลดลงราว -3.3pp (ผลสะสมเฉลี่ยภายใน 3 ปี) ผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าไทยที่ลดลง สาเหตุเพราะการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ มีบทบาทต่อ GDP ไทยสูง จึงคาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้า (รวมทองคำ) คาดว่าจะหดตัว -0.7%YOY (เดิม 1.6%YOY) โดยจะมีแนวโน้มหดตัว ตั้งแต่ไตรมาส 2 จากผลของภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และปิโตรเคมี
China Flooding จะยิ่งรุนแรง กระทบภาคการผลิตไทยต่อเนื่อง
นอกจากนั้นแล้ว การส่งออกสินค้าของจีนไปสหรัฐฯ จะยากขึ้นมากหลังมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่รุนแรงมากกับจีนกว่าประเทศอื่น และจีนยังมีการผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ (Overcapacity) จึงมีโอกาสที่สินค้าจีนจะถูกระบายเข้ามายังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการทะลักเข้ามาตีตลาดของกลุ่มสินค้าขั้นกลางน้ำและปลายน้ำจากจีน
เช่น คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เหล็ก กระดาษ และเป็นปัจจัยกดดันการเติบโต ของการผลิตสินค้าของไทย สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจาก จีนขยายตัวในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าของจีนในไทยมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแหล่งก าเนิดสินค้าที่จะส่งไปขายยังสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มด าเนินนโยบายในเชิงกีดกันสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพึ่งพาสินค้ากลุ่มกลางน้ำที่เป็นวัตถุดิบจากจีนมากขึ้นกว่าเดิม
SCB EIC มอง กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 1.25% ณ สิ้นปี 2025
ส่งนนโยบายการเงินจำเป็นต้องช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยมากขึ้น มาตรการภาษีทรัมป์ที่มากกว่าคาดมาก จะยิ่งซ้ำเติม เศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพอย่างมีนัยยะ โดยนโยบายการเงินจะมีบทบาทช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
และช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและ ครัวเรือนได้ SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง เหลือ 1.25% ณ สิ้นปี 2025 อัตราดอกเบี้ย นโยบายคาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปี 2018 – 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ รอบแรกที่ไทย ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
เศรษฐกิจไทยปี 2025 จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.5%
อย่างไรก็ตาม จากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นของนโยบายการค้าสหรัฐที่ยังมีอยู่สูง SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2025 จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.5% (เดิม 2.4%) จากทั้งสงครามการค้าและแผ่นดินไหว รวมทั้ง ประเมิน กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 3 ครั้งไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2025 (เดิม 1.50%) เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนสูง
ขณะที่ เศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวลงในปีนี้แม้ทรัมป์เลื่อนเวลาขึ้นภาษีตอบโต้ชั่วคราว การประกาศกำแพงภาษีที่สูงของสหรัฐฯ ได้สร้างความไม่แน่นอนต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลกไปแล้ว โดย SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะมีแนวโน้มเติบโตเหลือเพียง 2.2%
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/246930
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา