19 เม.ย. เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ศึกภาษีทรัมป์: พายุกระหน่ำโลกการค้า SMEs ไทยต้องปรับตัว ผู้บริโภคก็ต้องรู้เท่าทัน

ลองจินตนาการว่าคุณกำลังแล่นเรืออยู่กลางทะเลนิ่งๆ ทันใดนั้นก็มีพายุใหญ่พัดเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว…นี่แหละคือสิ่งที่เราทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการไทยกำลังเผชิญอยู่ กับ “ศึกภาษีทรัมป์” ที่เป็นนโยบายของสหรัฐฯ แต่ส่งแรงกระเพื่อมกระแทกมาถึงเมืองไทยอย่างจัง แม้ล่าสุดจะมีการประกาศเลื่อนภาษีออกไป 90 วัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พายุจะพัดผ่านไปแล้วอย่างสงบหากแต่กำลังเริ่มต้นต่างหาก
1
เกิดอะไรขึ้นกับภาษีทรัมป์?
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำเสนอนโยบาย “ขึ้นภาษีนำเข้า” สินค้าจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศตนเอง และลดการขาดดุลการค้า โดยเฉพาะกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลมาก เช่น จีน เม็กซิโก เยอรมนี รวมถึงไทยด้วย และเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ก็ได้ประกาศภาษีนำเข้าทั้งหมด 3 รูปแบบ
1
  • Universal Tariffs: ภาษี 10% ที่เก็บทุกประเทศเท่าๆ กัน
  • Country-Specific Tariffs: ภาษีเฉพาะเจาะจง หรือเป็นการตอบโต้ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เช่น จีนโดนถึง 125% (และมีประกาศเพิ่มเติมในวันที่ 11 เมษายน 2568 ว่าจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 145%) ขณะที่ไทยโดน 36%
1
  • Product-Specific Tariffs: สินค้าบางประเภทโดยเฉพาะ เช่น รถยนต์ เหล็ก อลูมิเนียม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่โดนหนัก โดยอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เก็บจากสินค้าจากไทยเฉลี่ย 36% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (16%) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน (33%)
ผู้ประกอบการ SMEs ไทย และผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?
ผลกระทบจากพายุภาษีครั้งนี้ส่งผลต่อคนไทยทุกคนในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาสินค้าบางอย่างที่แพงขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัว (GDP ไทยปี 2568 อาจเติบโตต่ำกว่า 2% จากเดิมคาดการณ์ที่ 2.4%) เงินบาทผันผวนจากความไม่แน่นอนทางการค้า และในที่สุดการจ้างงานอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้ประกอบการ SMEs ไทย
SMEs ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดนตรงๆ โดยเฉพาะกลุ่ม High Impact ซึ่งพึ่งพารายได้จากสหรัฐ จีน และโลกสูง มีความเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด เช่น สินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในหมวดเหล่านี้ หลายรายการ ไม่ใช่แค่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯสูง แต่ยังโดนเก็บภาษีสูงกว่า “คู่แข่ง” อีกด้วย ทำให้แข่งขันลำบากและมีกำไรลดลง
1
นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างจีน ญี่ปุ่น หรือในอาเซียนซบเซาเพราะโดนภาษีเหมือนกัน ก็ส่งผลกระทบ “ทางอ้อม” กลับมายังไทย เพราะสินค้าขั้นกลางหรือวัตถุดิบที่เคยขายให้ประเทศเหล่านี้ก็ขายได้น้อยลง
ผู้บริโภคบางคนอาจคิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรา แต่ในความเป็นจริง ทุกคนโดนผลกระทบ แบบไม่รู้ตัว เช่น:
  • ของใช้บางอย่างอาจแพงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตและการนำเข้าเพิ่มขึ้น
  • สินค้าแบรนด์นอกหายากขึ้น หรือมีให้เลือกน้อยลง เพราะบริษัทต่างชาติเปลี่ยนแผนการนำเข้าสินค้า
  • ธุรกิจรายย่อยบางรายอาจต้องปิดกิจการหรือขึ้นราคา เพื่อเอาตัวรอดจากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น
แล้วเราทำอะไรได้บ้าง?
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs การปรับตัวเป็นหัวใจสำคัญ:
1. กระจายตลาด ลดการพึ่งพาสหรัฐฯ
มองหาตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือเพื่อนบ้านอาเซียนที่ยังมีโอกาสเติบโต รวมถึงตลาดออนไลน์ที่ยังไม่เคยเข้าถึงมาก่อน
2. ยกระดับสินค้า ไม่แข่งด้วย “ราคา” อย่างเดียว
ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต สร้างจุดเด่นที่คู่แข่งทำไม่ได้ เพิ่มความพิเศษให้สินค้า เช่น สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าเฉพาะกลุ่ม (niche market)
2
3. เตรียมพร้อมและปรับตัวเร็วด้วยข้อมูล
มีแผนฉุกเฉินสำหรับทุกสถานการณ์ทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ ต้นทุนเพิ่ม ยอดขายตก กระจายแหล่งวัตถุดิบ พึ่งพาซัพพลายเออร์หลายแหล่ง รักษาเงินสดให้เพียงพอ ป้องกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยใช้ Forward Contract กับธนาคาร รวมทั้งติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่เสมอ ใช้ข้อมูลจากภาครัฐหรือแหล่งวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ เช่น SCB EIC เพื่อประเมินผลกระทบล่วงหน้า
4. เสริมทักษะทีมงาน
เพิ่มความสามารถของแรงงานและผู้จัดการ เช่น ด้านดิจิทัล โลจิสติกส์ การตลาดออนไลน์ และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับผู้บริโภค
  • ตั้งรับอย่างมีสติ วางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะสมและรอบคอบ เช่น เก็บเงินฉุกเฉินให้มากขึ้น ลดการก่อหนี้บริโภค ชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างไรก็ตาม อย่าตื่นตระหนก แต่ควรเข้าใจว่า “เศรษฐกิจโลก” เริ่มมีบทบาทในชีวิตเรามากกว่าที่คิด
  • กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย โดยศึกษาอย่างรอบคอบ พิจารณาความเสี่ยงจากการลงทุน และระวังการเก็งกำไรจากตลาดหุ้นในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน
  • เข้าใจกลไกของราคา เมื่อราคาสินค้าบางอย่างสูงขึ้น ไม่ใช่เพราะร้านค้ากำไรเยอะ แต่เกิดจากต้นทุนที่ถูกผลักมาจากระดับนโยบายระหว่างประเทศ หากเป็นไปได้ เลือกซื้อสินค้าไทยคุณภาพดี เพื่อสนับสนุน SMEs ไทยให้รอดจากวิกฤต
  • หาโอกาส upskill ตัวเองเพื่ออนาคต เพิ่มทักษะใหม่ ๆ และเตรียมพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ
สรุป: วิกฤตนี้ไม่ได้แค่ “แรง” แต่ “เร็ว” ด้วย
นโยบายภาษีของทรัมป์อาจจะอยู่ไกลถึงสหรัฐฯ แต่ส่งผลตรงถึงโต๊ะอาหาร ร้านค้า ไปจนถึงโรงงานและออฟฟิศของ SMEs ไทยทุกแห่ง ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ หรือเป็นผู้บริโภคธรรมดา สิ่งสำคัญคือ “อย่าอยู่นิ่ง” มองหาโอกาสในวิกฤติอยู่เสมอ เพราะในโลกที่เปลี่ยนไว
การเข้าใจเกม และปรับตัวให้ทัน คือกุญแจที่ทำให้เรา “อยู่รอด” และ “เติบโต” ไปได้พร้อมกัน ไม่มีพายุลูกไหนที่พัดผ่านไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยไว้ แต่เรือที่แข็งแรง และกัปตันที่ชาญฉลาดเท่านั้นที่จะผ่านพายุไปได้อย่างปลอดภัย
(ข้อมูลจากการบรรยายในหัวข้อ “ศึกภาษีทรัมป์ ถอดบทเรียนและกลยุทธ์สำหรับ SMEs ณ วันที่ 10 เมษายน 2568)
โฆษณา