เมื่อวาน เวลา 03:00 • การตลาด

สรุปการตลาด ทศวรรษ 2000 ยุคแห่ง Online Marketing และจุดกำเนิด ยุคโซเชียลมีเดีย

- ซีรีส์บทความ การตลาด 1,000 ปี โดย MarketThink
ทศวรรษ 2000 หรือภาษาวัยรุ่นหน่อยเรียกกันว่า Y2K (Year 2000)
โลกของเรา ก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
1
เราพูดได้ว่า นี่คือยุคแห่ง Online Marketing หรือการตลาดบนโลกออนไลน์
แล้วในโลกของการตลาด ยุคสมัยนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?
..ซีรีส์บทความ การตลาด 1,000 ปี เล่าเรื่องราวความเป็นมา และวิวัฒนาการของโลกการตลาด ที่วิวัฒน์ไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกเราในแต่ละยุคสมัย ในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา โดยเพจ MarketThink..
-หลังจากที่ในทศวรรษก่อนหน้า ช่วงปี 1990-1999 โลกได้ก้าวจากยุคแอนะล็อกเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว
อินเทอร์เน็ตมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก
สงครามของเทคโนโลยีเว็บเบราว์เซอร์ และ Search Engine ฟาดฟันกันอย่างดุเดือดในทศวรรษที่แล้ว
พร้อม ๆ กับการมาของสมาร์ตโฟนในยุคแรกเริ่ม ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาในทศวรรษนี้
พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละนิด ๆ ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1990
ในยุคทศวรรษ 2000 พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง
ปัจจัยสำคัญมาจาก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกคือ Google และ Apple
ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์โลกขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad และการเริ่มต้นของสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์
ผู้คนจึงเริ่มใช้เวลากับโลกออนไลน์มากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก
ส่งผลให้การโฆษณาในช่องทางออนไลน์ได้รับการตอบรับไปในทางที่ดี
ในปี 2000 สหรัฐอเมริกามีขนาดเศรษฐกิจวัดตาม GDP = 358.3 ล้านล้านบาท
โดยมีเม็ดเงินในวงการโฆษณากว่า 9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5% ของ GDP
ซึ่งตัวเลขนี้ เติบโตขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับจำนวนเงินในปี 1990
แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาจำนวน 9 ล้านล้านบาท ถูกกระจายไปตามสื่อแต่ละประเภท ดังนี้
- หนังสือพิมพ์ 1.79 ล้านล้านบาท
- โทรทัศน์ผ่านการกระจายสัญญาณ (Broadcast TV) 1.64 ล้านล้านบาท
- ไปรษณีย์ทางตรง 1.63 ล้านล้านบาท
- สื่อเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ 1.17 ล้านล้านบาท
- วิทยุ 7 แสนล้านบาท
- โทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล (Cable TV) 5.6 แสนล้านบาท
- สมุดหน้าเหลือง (Yellow Pages) 4.8 แสนล้านบาท
- นิตยสาร 4.5 แสนล้านบาท
- อินเทอร์เน็ต 2.4 แสนล้านบาท
- สื่อโฆษณานอกอาคาร 1.9 แสนล้านบาท
- สื่อสิ่งพิมพ์ของธุรกิจ 1.8 แสนล้านบาท
จากตัวเลขเม็ดเงินโฆษณา จะเห็นว่า ในปี 2000 สื่อที่ยังมาแรงเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2
ยังคงเป็นหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เหมือนในทศวรรษก่อนหน้า
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้ในทศวรรษ 1990 จะมีอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่เม็ดเงินโฆษณาในอินเทอร์เน็ตยังไม่มีการเติบโตมากเท่าไรนัก เนื่องจากยังเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตมีผู้ใช้งานในวงจำกัดเล็ก ๆ เท่านั้น
แต่กลับกันในปี 2000 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 361 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดในขณะนั้นประมาณ 6,150 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 5.9% ของประชากรทั้งโลก
โดยประเทศที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2000 คือ
3
- สหรัฐอเมริกา 95.1 ล้านคน
- ญี่ปุ่น 47.1 ล้านคน
- เยอรมนี 24 ล้านคน
- จีน 22.5 ล้านคน
- เกาหลีใต้ 19.1 ล้านคน
ด้วยจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นจาก 3 ล้านคนในปี 1990 กลายเป็น 361 ล้านคนในปี 2000
ทำให้เม็ดเงินโฆษณาจำนวนมหาศาลเริ่มไหลเข้าไปในสื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยสาเหตุที่การโฆษณาบนโลกออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า
การเติบโตของ Search Engine ที่ชื่อว่า Google
ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน ปี 1998 ที่ Google เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา
ในเวลานั้นจำนวนการค้นหาข้อมูลเฉลี่ยบน Google อยู่ที่ประมาณ 10,000 ครั้งต่อวันเท่านั้น
(ซึ่งจำนวนการค้นหา 10,000 ครั้งนี้ เท่ากับจำนวนการค้นหาต่อ 1 วินาที ในช่วงสิ้นปี 2006)
เดือนกันยายน ปี 1999 หลังจาก Google ก่อตั้งได้ 1 ปี จำนวนการค้นหาเพิ่มขึ้นไปที่ 3.5 ล้านครั้งต่อวัน
และหลังจากนั้นเพียง 9 เดือนต่อมา ในช่วงกลางปี 2000
จำนวนการค้นหาข้อมูลก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5 เท่า เฉลี่ยอยู่ที่ 18 ล้านครั้งต่อวัน
การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Google Search ทำให้ในปี 2000 Google ตัดสินใจปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่
ออกมาชื่อว่า “Google Ads” หรือชื่อเต็มคือ Google AdWords
ซึ่ง Google Ads จะช่วยจัดการโฆษณาออนไลน์ต่าง ๆ บนผลิตภัณฑ์ของ Google
ทำให้การตลาดออนไลน์ (Online Marketing) ได้รับความสนใจจากธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้น
1
และในปีเดียวกัน ก็มีการนำข้อความ SMS มาใช้โฆษณาบนโทรศัพท์มือถือเป็นครั้งแรก เกิดเป็น Mobile Marketing
โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่ก็คือ ร้านอาหาร และร้านขายของชำ
หลังจากนั้นเพียง 2 ปี การโฆษณาด้วย SMS ก็เป็นวิธีการที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
เนื่องจากนักการตลาดหลายคนมองว่า เป็นวิธีการโฆษณาที่มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับรู้ข้อมูลอย่างแน่นอน
ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้การโฆษณาผ่านช่องทาง SMS ในช่วงเวลานั้น เช่น
บริษัทผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬารายใหญ่ของโลกอย่าง Nike และบริษัทรถยนต์ Pontiac
ในปี 2004 Mark Zuckerberg ได้สร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมที่ชื่อ Facebook ขึ้นมา
และหลังจากเปิดให้ใช้งานได้ในระยะเวลาไม่ถึงปี ก็มีผู้ใช้งานทั่วโลกทะลุ 1,000,000 คน
การมาของ Facebook เป็นการปูทางไปสู่กลยุทธ์การตลาดหลากหลายรูปแบบในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Social Media Marketing, Content Marketing และ Influencer Marketing
ในช่วงแรกของการก่อตั้ง Facebook เป็นเพียงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เอาไว้ใช้ภายใน
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ภายหลังจึงได้ขยายแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกับบุคคลภายนอก
โดยตัวเลขจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Facebook ตั้งแต่ปี 2004-2009 เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ
- สิ้นปี 2004 มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน
- สิ้นปี 2005 มีผู้ใช้งาน 5.5 ล้านคน
- สิ้นปี 2006 มีผู้ใช้งาน 12 ล้านคน
- เดือนตุลาคม ปี 2007 มีผู้ใช้งาน 50 ล้านคน
- เดือนสิงหาคม ปี 2008 มีผู้ใช้งาน 100 ล้านคน
- สิ้นปี 2009 มีผู้ใช้งาน 350 ล้านคน
- ปัจจุบัน มีผู้ใช้งาน 2,208 ล้านคน
การเติบโตของยอดผู้ใช้งานแบบถล่มทลายด้วยระยะเวลาเพียง 6 ปีแรก Facebook จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมาแรงของทศวรรษ และมีการปล่อยฟีเชอร์ใหม่ออกมาเรื่อย ๆ
ตัวอย่างฟีเชอร์ที่สำคัญในด้านการตลาด เช่น
- ฟีเชอร์ฟีดข่าว (News Feed) ปล่อยออกมาในปี 2006
ฟีเชอร์แสดงเนื้อหาข้อความ รูปภาพ วิดีโอ อัปเดตต่าง ๆ จากเพื่อนหรือเพจต่าง ๆ ที่กดถูกใจ
- ฟีเชอร์เฟซบุ๊กเพจ (Facebook Page) ปล่อยออกมาในปี 2007
ฟีเชอร์ที่ให้แบรนด์ ธุรกิจ หรือองค์กร มีพื้นที่ได้แชร์เรื่องราวและเชื่อมต่อกับคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน
- ฟีเชอร์เฟซบุ๊กแอด (Facebook Ads) ปล่อยออกมาในปี 2007
เป็นเครื่องมือที่ให้ธุรกิจสามารถแสดงโฆษณาโดยตรงไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้
- ฟีเชอร์ปุ่มไลก์ (Facebook Like Button) ปล่อยออกมาในปี 2009
ฟีเชอร์ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของ Facebook และแสดงถึงการมีส่วนร่วมกับแบรนด์
ต่อมาในปี 2005 อดีตพนักงาน PayPal 3 คน คือ Chad Hurley, Steve Chen และ Jawed Karim
ได้ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิงวิดีโอระดับโลกอย่าง YouTube ขึ้นมา
2
โดยคลิปวิดีโอแรกที่เผยแพร่ใน YouTube ชื่อว่า “Me at the Zoo” มีความยาวคลิป 19 วินาที
โพสต์โดย Jawed Karim หนึ่งในผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม YouTube ปัจจุบันมียอดวิวกว่า 327 ล้านวิว
และหลังจากที่เกิดขึ้นมาได้เพียง 1 ปี YouTube ก็ถูก Google เข้าซื้อกิจการไป
หลังจากนั้น ในปี 2006 Jack Dorsey นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้สร้าง Twitter ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสามารถแบ่งปันข้อความสั้น ๆ กับกลุ่มคนได้ คล้ายกับการส่งข้อความ
โดยในตอนแรกใช้ชื่อว่า “twttr” และใช้สำหรับการทำงานในบริษัทพอดแคสต์ Odeo เท่านั้น
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้เปิดให้ผู้คนทั่วไปได้ใช้งานกัน
ซึ่งในช่วงเดือนแรกหลังจากเปิดให้ใช้งาน Twitter ก็เริ่มมีทวีตประมาณ 20,000 ทวีตต่อวัน
ต่อมาในอีกไม่ถึง 1 ปี ตัวเลขก็เพิ่มเป็นประมาณ 60,000 ทวีตต่อวัน
และที่สำคัญเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญอย่าง Hashtag ก็ได้เริ่มใช้อย่างเป็นทางการบน Twitter
การมาของ Hashtag ทำให้ผู้คนสามารถค้นหาข้อมูล, หัวข้อ, เนื้อหา และเรื่องราวต่าง ๆ ที่ตัวเองสนใจ
ได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดายมากขึ้น
ต่อมาในปี 2007 การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในวงการเทคโนโลยีและการตลาดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
เมื่อ Steve Jobs เปิดตัวสมาร์ตโฟนภายใต้แบรนด์ Apple รุ่นแรก ในชื่อว่า iPhone 2G
ในเวลานั้น ใครที่ต้องการฟังเพลง ก็ต้องฟังจาก iPod, วิทยุ หรือแผ่น CD
ใครที่ต้องการพูดคุยสื่อสารกับคนอื่นอย่างรวดเร็ว ก็ต้องใช้โทรศัพท์ ซึ่งมีปุ่มกดมากมายอยู่บนนั้น
ใครที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูล ก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก
แต่ช่วงเวลานับแต่เปิดตัว iPhone นั่นคือ จุดเริ่มต้นเรื่องราวประวัติศาสตร์บทใหม่ของมนุษยชาติ
เพราะ iPhone คือ “Revolutionary Product” หรือผลิตภัณฑ์ที่มาเขย่าโลกอย่างแท้จริง
จากการรวมเอาฟีเชอร์ทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ การฟังเพลง, การโทร และการท่องอินเทอร์เน็ต
มาอยู่รวมกันในสมาร์ตโฟนเพียงเครื่องเดียว
พร้อมด้วยการใช้งานผ่านหน้าจอแบบสัมผัสและคีย์บอร์ดที่เด้งขึ้นมาอัตโนมัติเมื่อต้องการใช้งาน
ด้วยความสามารถอันน่าทึ่งของ iPhone ที่ปรากฏแก่สายตาของคนทั้งโลก
ผลตอบรับจึงเป็นไปในทิศทางบวก ด้วยยอดขายกว่า 1,400,000 เครื่องภายในปีเดียวกัน
ในช่วงแรกหลังจากที่คนทั้งโลกรู้จักสมาร์ตโฟนผ่านการเปิดตัวของ iPhone แล้ว
ยอดผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนทั่วโลกก็เริ่มเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้
- ปี 2007 มีผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนทั่วโลกประมาณ 122 ล้านคน
- ปี 2008 มีผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนทั่วโลกประมาณ 139 ล้านคน
- ปี 2009 มีผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนทั่วโลกประมาณ 172 ล้านคน
ก่อนที่ยอดผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนจะเติบโตแบบก้าวกระโดดในทศวรรษถัดไป
การมาถึงของ iPhone และสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Twitter ในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ
ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในปลายทศวรรษนี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
การติดตามข่าว การค้นหาข้อมูล การพูดคุยติดต่อสื่อสาร ล้วนทำได้ผ่านสมาร์ตโฟนในเครื่องเดียว
ผู้คนจึงเริ่มใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ตโฟนของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์อย่าง หนังสือพิมพ์และนิตยสาร มีรายได้จากการโฆษณาสูงที่สุดในปี 2007
ก่อนที่รายได้ของสื่อสิ่งพิมพ์จะตกลงอย่างรวดเร็ว เพราะคนเริ่มให้ความสนใจน้อยลง
ซึ่งสวนทางกับสื่อโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising)
ด้วยวิธี Search Engine Marketing หรือ SEM ผ่าน Google Ads ที่เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้วยจำนวนยอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเทียบไม่ติดจากทศวรรษก่อนหน้า
รวมถึงการมาของสมาร์ตโฟนและสื่อโซเชียลมีเดียที่นับวันจะทวีความนิยม
และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนทั้งโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่คู่วิถีชีวิตของคนมานานกว่า 500 ปี ต้องพบเจอกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่
แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทศวรรษนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของใครหลาย ๆ คนเท่านั้น
เพราะมันเทียบไม่ได้เลย กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษถัดไป ที่ชื่อว่า
“ยุคโซเชียลมีเดีย”..
..ซีรีส์บทความ การตลาด 1,000 ปี เล่าเรื่องราวความเป็นมา และวิวัฒนาการของโลกการตลาด ที่วิวัฒน์ไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกเราในแต่ละยุคสมัย ในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา
ติดตามได้ที่ เพจ MarketThink..
โฆษณา