19 เม.ย. เวลา 01:30 • ธุรกิจ

คดีหมื่นล้าน "มหากิจศิริ" โต้ "เนสท์เล่" ศึก "เนสกาแฟ" ยืดเยื้อ

คดีหมื่นล้าน “เนสกาแฟ” ส่อเค้ายืดเยื้อ “มหากิจศิริ” ออกโรงโต้ “เนสท์เล่” บิดเบือนคำสั่งศาลเพื่อให้สังคมเข้าใจผิด ยื่นฟ้องให้ QCP ล้มละลาย แนะ 2 ทางออก ให้ผลิตเนสกาแฟต่อ หรือผลิตกาแฟภายใต้แบรนด์ QCP โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์
กลายเป็น “มหากาพย์” สำหรับข้อพิพาทระหว่าง “เนสท์เล่” เจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” กับตระกูล “มหากิจศิริ” ซึ่งร่วมกันก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตกาแฟ ตั้งแต่ปี 2533 และเมื่อยุติสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของ QCP ได้ จึงเกิดเป็นคดีพิพาทในชั้นศาลต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน พร้อมกับการออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อเนื่องของเนสท์เล่
เรื่องราวข้อพิพาทระหว่าง “เนสท์เล่” และ “มหากิจศิริ” ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง เมื่อล่าสุด “ตระกูลมหากิจศิริ” ได้ออกแถลงการณ์ ภายใต้บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) โดยระบุว่า การร่วมทุนระหว่างตระกูลมหากิจศิริกับเนสท์เล่ เริ่มต้นเมื่อครั้งนายประยุทธ มหากิจศิริ ร่วมลงทุนกับเนสท์เล่ตั้งโรงงานผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ซึ่งแม้เนสท์เล่จะเป็นเจ้าของแบรนด์และสูตรการผลิต แต่บริษัท QCP ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เนสท์เล่เป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
1
เมื่อสัญญาร่วมทุนหมดอายุ เนสท์เล่ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา โดยศาลอนุญาโตตุลาการสากลได้ตัดสินในเดือนธันวาคม 2567 ว่า เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุนกับนายประยุทธ มหากิจศิริเพียงผู้เดียว ซึ่ง ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ เห็นว่า ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย เนื่องจากคุณประยุทธถือหุ้นเพียง 3% ขณะที่คุณเฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 47%
ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัวจึงฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี จนศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ห้ามเนสท์เล่ผลิต ขาย นำเข้าสินค้าเนสกาแฟมาจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้เนสท์เล่ไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทยได้
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ระบุว่า เนสท์เล่ไม่ยอมรับคำสั่งศาลไทย โดยได้ไปฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ยืนยันว่าเนสท์เล่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “Nescafé” แต่ QCP กล่าวว่า เนสท์เล่ได้บิดเบือนคำสั่งศาลเพื่อให้สังคมเข้าใจผิดว่าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า เนสท์เล่กำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทย เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ 100% และไม่ได้มีความห่วงใยผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร และซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาล
1
ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ยังกล่าวหาว่า เนสท์เล่ต้องการ “ฆ่าลูกทิ้ง”โดยฟ้องให้บริษัท QCP ล้มละลาย ทั้งที่บริษัทมีทรัพย์สินกว่าหมื่นล้านบาท และมีเงินสดกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการทำลายทรัพย์สินของคนไทยและกลั่นแกล้งบริษัทในประเทศไทย
1
“ความเป็นจริง ในเมื่อเนสท์เล่และมหากิจศิริมีความเห็นต่างในเชิงธุรกิจ ก็หย่ากันได้ แยกทางกันได้ แต่จะฆ่าลูกไม่ได้” ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ระบุในแถลงการณ์ พร้อมเสนอทางออกว่า ควรให้บริษัทสามารถผลิตเนสกาแฟต่อ หรือผลิตกาแฟภายใต้แบรนด์ QCP เองก็ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในราคาที่ถูกลง โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเนสท์เล่อีกต่อไป
ย้อนเส้นทางของคดีหมื่นล้าน เริ่มต้นเมื่อนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ผู้ถือหุ้นในบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ ๕๗๑/๒๕๖๘ ที่มีโจทก์ คือ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ นางสุวิมล มหากิจศิริ และนายประยุทธ มหากิจศิริ รวม 3 คน
1
โดยมีบริษัท เนสท์เล่ เอส.เอ , โซชิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.เอ, บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด, นายรามอน เมนดิวิล กิล , บริษัท เนสท์เล่ อาร์โอเอช (ประเทศไทย) และ บริษัท เนสท์เล่เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด รวม 6 คน เป็นจำเลย
และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ศาลแพ่งมีนบุรีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว “ห้ามเนสท์เล่ ผลิตว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย” คำสั่งนี้ส่งผลให้เนสท์เล่ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ทันที เนสท์เล่ ระบุว่า สร้างความเสียหายมหาศาลที่เนสท์เล่อ้างว่าสูงถึง 68.7 ล้านบาทต่อวัน
2
เนสท์เล่แก้เกมตอบโต้ด้วยการยื่นศาลแพ่งมีนบุรี ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินก่อนหยุดยาวสงกรานต์ คือ วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 โดยวันนั้นเนสท์เล่ ระบุว่า ได้เตรียมพยาน 11 ปากที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง เพื่อให้ศาลเห็นความเสียหายในวงกว้าง แต่ทว่าศาลยังไม่ไต่สวนฉุกเฉินทันที และนัดอีกครั้งหลังสงกรานต์ คือ วันที่ 17 เมษายน เพื่อวินิจฉัยคำร้อง โดยฝ่ายทนายมหากิจศิริเตรียมจะยื่นคำคัดค้านทันทีเช่นกัน
แต่ระหว่างที่รอให้ถึงวันที่ 17 เม.ย. นั้น ปรากฏว่า เนสท์เล่ได้ทำหนังสือแจ้งพันธมิตรทางการค้าว่า “ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง” มีคำสั่งยืนยันให้เนสท์เล่เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” และ “เนสกาแฟ” ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568
และล่าสุดหลังจบเทศกาลสาดน้ำวันสงกรานต์ ทนายฝ่ายเนสท์เล่ มาตามนัดและได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี 2 คำร้อง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 1. คำร้องขอไต่สวนพิจารณายกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 68 และ 2. ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งมีนบุรี ทำหนังสือถึง “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” วินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ไม่ใช่อำนาจของศาลแพ่งมีนบุรี ซึ่งเป็นการยกระดับการต่อสู้จากประเด็นเนื้อหาคดีไปสู่ประเด็นเชิงโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม
ประเด็นนี้ ทนายโจทก์ของตระกูลมหาศิริ เดิมทีเแถลงความประสงค์ต่อศาลเมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า จะยื่นคำคัดค้านคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่เพิ่งได้รับทราบเรื่องการที่ทนายจำเลย ยื่นคำร้องขอให้คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จึงขอยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้าน
ซึ่งประเด็นนี้ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควร จึงอนุญาตในการให้ฝ่ายโจทก์ยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้านภายใน 5 วัน โดยขออนุญาตยื่นภายในวันที่ 23 เมษายน 2568 ถ้าไม่ยืนภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงโต้แย้ง
จากนั้น ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อคดีต้องรอการวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จึงยังไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้ จึงให้รับคำแถลงโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ แล้วให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเพื่อพิจารณา
และศาลนัดพร้อมกันวันที่ 20 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 น. ตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีวันว่างตรงกันฟัง เพื่อคำสั่งประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่จะมีคำวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งมีนบุรีหรือไม่ หากไม่มีอำนาจก็ต้องจำหน่ายคดีให้ศาลทรัพย์สิน แต่หากอยู่ในอำนาจของศาลแพ่งมีนบุรี จะทำการไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อทันที
โฆษณา