19 เม.ย. เวลา 03:00 • ข่าว

3 รพ.เมืองกาญจน์เงินติดลบ หลัง รพ.สต.ถ่ายโอนค้างจ่ายค่ารักษา

เรียกเก็บหลักล้าน จ่ายน้อยสุด 1,275 บาท
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2568 ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 5 เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กาญจนบุรี ได้รับถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปจาก สธ.ครบทั้งจังหวัด รวม 144 แห่ง
โดยปีงบประมาณ 2566 อบจ.กาญจนบุรีได้ขอเป็นผู้บริหารงบเหมาจ่ายรายหัวจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนบริการผู้ป่วยนอก (OP) และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ทั้งหมดเอง ส่งผลให้ต้องชำระค่าบริการทางการแพทย์กรณีประชาชนไปเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลแม่ข่ายรวม 228.46 ล้านบาท แต่จ่ายมาเพียง 76.48 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.48 ยังค้างจ่ายอีก 152 ล้านบาท โดยพบว่า
โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา มียอดเรียกเก็บสูงสุด 75.02 ล้านบาท ได้รับเงินเพียง 8.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.89 เท่านั้น และมีโรงพยาบาล 4 แห่ง ที่ได้รับเงินไม่ถึงร้อยละ 1 คือ
โรงพยาบาลไทรโยค ยอดเรียกเก็บ 5.84 ล้านบาท ได้รับเงิน 4,081 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.07
โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ยอดเรียกเก็บ 28.82 ล้านบาท ได้รับเงิน 12,106 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.04
โรงพยาบาลสังขละบุรี ยอดเรียกเก็บ 2.1 ล้านบาท ได้รับเงิน 1,275 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.06
โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ยอดเรียกเก็บ 15.72 ล้านบาท ได้รับเงิน 24,699 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.16
ภญ.สุภัทรากล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2567 โรงพยาบาลแม่ข่ายเป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวแบบเหมาจ่าย จึงไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์จาก อบจ.กาญจนบุรี แต่ในปีงบประมาณ 2568 นี้ อบจ.กาญจนบุรีขอเป็นผู้บริหารจัดการงบเหมาจ่ายรายหัวฯ อีกครั้ง จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาค้างจ่ายหนี้เช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2566 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการสรุปข้อมูลจาก สปสช. เพื่อเรียกเก็บเป็นรายไตรมาสต่อไป
ส่งผลให้โรงพยาบาลในจังหวัดกาญจนบุรีหลายแห่งเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยมีโรงพยาบาลแม่ข่าย 3 แห่งที่มีสถานะเงินบำรุงคงเหลือสุทธิติดลบ ได้แก่
โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ติดลบ 34.51 ล้านบาท
โรงพยาบาลเจ้าคุณไพบูลย์พนมทวน ติดลบ 7.86 ล้านบาท
โรงพยาบาลหนองปรือ ติดลบ 5.7 ล้านบาท
ทำให้กระทบต่อการจ่ายหนี้ค่ายา ค่าวัสดุทางการแพทย์ และค่าตอบแทนบุคลากรของโรงพยาบาล
ทั้งนี้ อบจ.กาญจนบุรีแจ้งว่าจะทยอยจ่ายเป็นรายอำเภอ แต่ไม่ระบุว่าจะจ่ายครบเมื่อไร จึงขอให้ อบจ.กาญจนบุรีเร่งทบทวนกระบวนการบริหารจัดการด้านงบประมาณ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการจัดบริการประชาชนจังหวัดกาญจนบุรีของโรงพยาบาลในพื้นที่
โฆษณา