19 เม.ย. เวลา 07:25 • การศึกษา

บางเวลาคาเฟ่ พื้นที่เรียนรู้ในอำเภอทุ่งฝน จากหมู่บ้านที่เคยเงียบเหงา สู่จุดเริ่มต้นของความสร้างสรรค์

จากที่เราคิดและตกผลึกมา เด็กหลายคนขาดพื้นที่ในการค้นหาตัวเอง ถ้ามีพื้นที่ที่เปิดกว้างมากขึ้น ให้เขาได้ลองผิดลองถูก โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเดิม
.
ผู้ใหญ่มองแค่อาชีพข้าราชการ แต่ถ้าสร้างพื้นที่ให้เขาได้เปิดประสบการณ์ ทดลองทำสิ่งใหม่ อาจเป็นสิ่งที่เขาจดจำไปตลอดชีวิตก็ได้ ถ้าเขารู้สึกว่าสิ่งนั้นสนุกและมีความหมาย ก็อาจต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้เลย
เกรฟ-สิทธิชัย สมสนุก เจ้าของบางเวลาคาเฟ่
พื้นที่เล็กๆ ที่แปลงโฉมจากสวนโล่งๆ ให้กลายเป็นคาเฟ่ขนาดกะทัดรัดในอำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี
.
เมื่อพูดถึงบริบทด้านการเรียนรู้ของทุ่งฝน อำเภอที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียง แหล่งมรดกโลกของอุดรธานี พื้นที่เน้นการส่งเสริมเรื่อง “ศาสนา” และ “สายมู” เป็นหลัก แต่เกรฟ ผู้เติบโตมาที่นี่ตั้งแต่เด็ก กลับมองเห็นมุมอื่นที่มีศักยภาพในการต่อยอดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกช่วงวัย ทว่ากลับยังไม่ถูกหยิบยกมาใช้อย่างเต็มที่
.
ปี 2568 อุดรธานีเข้าร่วมโครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” เป็นปีแรก นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการขยายเครือข่ายสู่หัวเมืองใหญ่ของภาคอีสาน และบางเวลาคาเฟ่ก็ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ภายใต้เวิร์กชอป “มาระบาย” ชวนเด็กมาวาดภาพด้วยสีจากดอกไม้ ระบายดินสี และทำผ้ามัดย้อมจากวัสดุธรรมชาติ
.
การหวนคืนถิ่นของผู้คน แปลงเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเรียนรู้
.
“ทุกปิดเทอม ผมจะถูกส่งไปเรียนพิเศษที่กรุงเทพฯ ตลอด แทบไม่มีเวลาได้หยุดพัก หรือทบทวนตัวเองเลย”
.
ลาวเด้อได้เดินทางไปยังอำเภอทุ่งฝน เพื่อตามหาพื้นที่การเรียนรู้แห่งใหม่อย่างบางเวลาคาเฟ่ ซึ่งเกรฟได้นำกิจกรรมจากประสบการณ์ที่เคยได้รับการฝึกอาชีพกับอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่ได้มาร่วมจัดเป็นเวิร์กช็อปการย้อมผ้ามัดบนพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ โดยตั้งใจให้เป็นโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้แก่คนในชุมชน
.
เกรฟยังทดลองแปรรูปวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ดอกดาวเรือง ดอกมะลิ และดอกอัญชัน มาสร้างสรรค์เป็นชาดอกไม้ดื่มได้ สะท้อนแนวคิดสร้างงานจากสิ่งรอบตัวอย่างเรียบง่ายแต่เปี่ยมแรงบันดาลใจ
.
เกรฟฉายภาพว่า เด็กๆ ในหมู่บ้านมักใช้เวลาวันหยุดแบบเรียบง่าย ไม่ต่างจากเด็กอีสานทั่วไป ทั้งวิ่งเล่น ปั่นจักรยาน ขุดปู หรือเล่นน้ำในคลอง ซึ่งต่างจากตัวเขาเองที่ในช่วงปิดเทอมมักถูกส่งไปเรียนพิเศษในเมืองใหญ่เสมอ จนแทบไม่มีโอกาสได้หยุดพักหรือทบทวนตัวเอง
.
“บางเวลาคาเฟ่เกิดขึ้นในปี 2563 หลังจากช่วงโควิดไม่นาน ตอนนั้นผมยังทำงานประจำอยู่ แต่ได้กลับมาอยู่บ้านเพราะต้องเวิร์กฟอร์มโฮมนานถึง 2 ปี พอถึงเวลาที่ต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ กลับรู้สึกไม่อยากไปจากบ้านอีกแล้ว”
.
จากเด็กที่อยู่ไม่ติดบ้านตั้งแต่มัธยม ปิดเทอมต้องไปเรียนพิเศษที่กรุงเทพฯ พอเรียนจบก็ทำงานไกลบ้าน ทั้งยังพบว่างานที่ทำส่งผลให้เกิดความเครียด เกรฟจึงได้เริ่มกลับมาทบทวนว่า สุดท้ายแล้ว พื้นที่ที่มอบทั้งอิสระทางความคิด ทางใจ และเวลาสำหรับตัวเองมากที่สุด ก็คือบ้านของเขาเอง จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคาเฟ่เล็กๆ ที่สร้างขึ้นโดยคนตัวเล็กๆ อย่างเกรฟ
อ่านบทความ "บางเวลาคาเฟ่ พื้นที่เรียนรู้ในอำเภอทุ่งฝน จากหมู่บ้านที่เคยเงียบเหงา สู่จุดเริ่มต้นของความสร้างสรรค์" ได้ที่ : https://louderisan.com/archives/3774
.
สมัครฟรี : https://docs.google.com/.../1FAIpQLSc.../viewform… (รับจำนวนจำกัดเพียง 20 คน)
วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2568 (10.00 - 15.00 น.)
สถานที่ : บางเวลาคาเฟ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี
.
เรื่อง : เนตรนภา ก๋าซ้อน
ภาพ : สุภัสสรา สมสา
.
#ลาวเด้อ #Louder #อุดรธานี #อำเภอทุ่งฝน #บางเวลาคาเฟ่ #ปิดเทอมสร้างสรรค์ #ปิดเทอมสร้างสรรค์2568
โฆษณา