19 เม.ย. เวลา 13:00 • สัตว์เลี้ยง

ไม่ได้มีดีแค่น่ารักนะ "สิงโตทะเล" กับภารกิจลับใต้น้ำของกองทัพเรือสหรัฐฯ

หากพิจารณาในแง่ภูมิศาสตร์ความมั่นคง (Geostrategic Security) สหรัฐอเมริกาถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ ด้วยทางทิศตะวันออกติดมหาสมุทรแอตแลนติก ทางทิศตะวันตกมหาสมุทรแปซิฟิก และทางทิศใต้ติดอ่าวเม็กซิโก เรียกได้ว่ามีมหาสมุทรขนาดใหญ่ล้อมรอบส่วนสำคัญของประเทศ จึงทำให้แนวชายแดนโดยธรรมชาติของสหรัฐฯ มีระยะทางยาวมาก ทั้งยังยากต่อการรุกรานทางทหารแบบดั้งเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแผ่นดินใหญ่ที่มีเพื่อนบ้านล้อมรอบอย่างยุโรปหรือเอเชีย
🚢ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) การมีเพื่อนบ้านเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ แคนาดาทางเหนือ และเม็กซิโกทางใต้ ซึ่งไม่มีภัยคุกคามทางทหารโดยตรง ยังช่วยให้สหรัฐสามารถบริหารความมั่นคงชายแดนได้ง่ายกว่าประเทศที่ต้องรับมือกับเพื่อนบ้านจำนวนมากในสถานการณ์ความสัมพันธ์ที่ไม่แน่นอน
ถึงแม้สหรัฐจะมีที่ตั้งที่ได้เปรียบที่ถูกคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้านได้ยาก อีกทั้งหากมีกองทัพใดเข้ามารุกรานทางทะเล กองทัพเรือสหรัฐก็จะสามารถตรวจจับภัยคุกคามเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามกองทัพสหรัฐยังคงมีการวางแผนการค้นหาวัตถุใต้ทะเล การลาดตระเวน และการป้องกันภัยทางทะเล อย่างครอบคลุมและซับซ้อน หนึ่งในความท้าทายคือภัยคุกคามจากทุ่นระเบิดใต้น้ำ ซึ่งอาจถูกใช้โดยฝ่ายตรงข้ามในยามสงครามหรือการก่อวินาศกรรม
⛴️เทคโนโลยีที่กองกองทัพสหรัฐนำมาใช้ได้แก่ ระบบเรดาร์ตรวจการณ์, โซนาร์ใต้น้ำ, เครือข่ายดาวเทียม, และหน่วยลาดตระเวนพิเศษ ทั้งทางเรือและทางอากาศ อีกทั้งยังมีระบบเฝ้าระวังทางน้ำตามแนวชายฝั่งที่ทันสมัย ครอบคลุมทั้งท่าเรือยุทธศาสตร์และช่องทางเดินเรือระหว่างประเทศ
หากกล่าวถึงกองทัพสหรัฐฯ เราคงนึกภาพถึงระบบป้องกันแสนยานุภาพสุดล้ำ ตามข้างต้น แต่ทว่ายังมี “กองกำลังพิเศษ” ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงคือ "เจ้าสิงโตทะเล" ตากลมโต หนวดจุ๊มน่ารัก ที่ไม่ใช่แค่ขวัญใจนักท่องเที่ยว แต่ถูกฝึกให้กลายเป็น นักรบใต้ทะเล ที่ปฏิบัติภารกิจทางทหารได้อย่างจริงจัง
🌊โครงการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลของกองทัพเรือสหรัฐฯ (United States Navy Marine Mammal Program - NMMP) เป็นโครงการที่เริ่มต้นในปี 1960 ตั้งอยู่ในซานดิเอโก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ซึ่งริเริ่มในช่วงสงครามเย็น ภายใต้โครงการนี้ สหรัฐฯ ได้ทดลองนำโลมาและสิงโตทะเลมาฝึกเพื่อช่วยค้นหาทุ่นระเบิด และป้องกันภัยใต้น้ำในเขตท่าเรือและเรือรบ จุดเด่นของสิงโตทะเลที่ถูกเลือกคือ ความฉลาดสูง ความสามารถในการเรียนรู้ที่รวดเร็ว และการเคลื่อนไหวคล่องแคล่วในน้ำตื้นและน้ำลึกง
ที่มา : US Navy
ปัจจุบันมีอย่างน้อย 4 ประเทศที่ยังคงมีโครงการสัตว์ทะเลทางทหาร ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ เกาหลีเหนือ และอิสราเอล โดยมีข่าวลือที่ไม่ยืนยันว่าบางกรณีอาจนำไปสู่การใช้งานในภารกิจสายลับหรือการสอดแนม ซึ่งคล้ายกับปฏิบัติการของ CIA ที่เคยพยายามใช้แมวติดตั้งเครื่องดักฟังในช่วงสงครามเย็น
งบประมาณของโครงการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลของกองทัพเรือสหรัฐสำหรับปี 2023 จัดสรรไว้ 40 ล้านดอลลาร์ โดยประมาณ 21 ล้านดอลลาร์ครอบคลุม "อาหาร ยา การดูแลสัตวแพทย์ การเลี้ยงดู และสิ่งอำนวยความสะดวก" สำหรับปลาโลมา 77 ตัวและสิงโตทะเล 47 ตัวของโครงการ ประมาณ 19 ล้านดอลลาร์ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภารกิจและการวิจัย โครงการนี้จ้างพลเรือนของกองทัพเรือ 54 คนและสัตวแพทย์ของกองทัพบก 6 คน รวมถึงผู้รับเหมา 220 รายและนักศึกษาระดับปริญญาตรีหรืออาสาสมัคร 22 คน
ที่มา : navalunderseamuseum.org
สิงโตทะเล (Sea Lion) ที่กองทัพเรือสหรัฐฯใช้ฝึกคือสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนีย (Zalophus californianus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล มักอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของทวีปอเมริกาเหนือ ตัวผู้โตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 300 – 400 กิโลกรัม และความยาวประมาณ 2.4 เมตร ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า อยู่ที่ประมาณ 100 –120 กิโลกรัม และความยาวประมาณ 1.8 เมตร พวกมันสามารถว่ายน้ำด้วยความเร็วสูงสุดถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดำน้ำลึกถึงประมาณ 900 ฟุต และกลั้นหายใจได้นานถึง 10 –15 นาที ต่อครั้ง
สิงโตทะเลมีประสาทสัมผัสเฉียบคม โดยเฉพาะการมองเห็นในน้ำที่สามารถมองเห็นได้แม้ในสภาพแสงน้อย ความสามารถในการได้ยินใต้น้ำ และความว่องไวในการว่ายน้ำ ทำให้เหมาะอย่างยิ่งต่อภารกิจยุทธวิธี เช่น การตรวจจับทุ่นระเบิด การระบุตำแหน่งสิ่งแปลกปลอมใต้ท้องเรือ หรือแม้แต่ค้นหานักประดาน้ำไม่ทราบฝ่าย
สิงโตทะเลในโครงการกำลังต่อสายกู้ภัยเข้ากับอุปกรณ์ทดสอบ ที่มา US Navy
การฝึกสิงโตทะเลจะเน้นไปที่การเสริมสร้างพฤติกรรมตอบสนองต่อคำสั่ง ด้วยระบบ “รางวัลเชิงบวก” (Positive Reinforcement) โดยทุกครั้งที่สิงโตทะเลทำภารกิจได้สำเร็จ เช่น พบวัตถุ หรือส่งสัญญาณตำแหน่ง มันจะได้รับปลาเป็นรางวัล การฝึกจะเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ โดยใช้สิ่งเร้า เช่น เสียง แสง และสัญลักษณ์มือ หรือวัตถุเพื่อให้จดจำภารกิจ เช่น การตรวจสอบวัตถุเหล็กกลมที่ฝังในทราย การว่ายเข้าไปคาบเชือก หรือการส่งข้อมูลตำแหน่งกลับไปยังครูฝึก
โครงการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลของสหรัฐอเมริกาได้ฝึกสิงโตทะเลให้ตรวจจับนักดำน้ำของศัตรูควบคู่ไปกับโลมา โดยสิงโตทะเลจะตรวจจับนักดำน้ำและติดอุปกรณ์ติดตามที่มีรูปร่างเหมือนกุญแจมือไว้ที่ขาข้างหนึ่งของศัตรู นอกจากนี้พวกเขายังได้รับการฝึกฝนให้ค้นหาและกู้คืนฮาร์ดแวร์ทางทหาร รวมถึงเหยื่อจากอุบัติเหตุทางทะเลอีกด้วย
สไปก์ สิงโตทะเลแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นสมาชิกของโครงการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้รับการฝึกให้เล่นวิดีโอเกม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยด้านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับสัตว์ในโครงการ
เหตุผลที่ยังคงมีการฝึกใช้สิงโตทะเล ในภารกิจทางน้ำกองทัพเรือสหรัฐ คาดว่า เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่ก้าวหน้าไปถึงจุดนั้น UUV ขั้นสูงและโซนาร์สแกนด้านข้าง "เรายังคงต้องใช้เวลาอีก 5 ปีจึงจะมีเทคโนโลยีที่จะขจัดความจำเป็นในการใช้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ ฉันสงสัยว่าเราจะไปถึงจุดนั้นหรือยัง" Savitz ซึ่งเคยทำงานกับยานพาหนะผิวน้ำและยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับกล่าว
นอกจากนี้ Savitz ยังกล่าวว่าโลมาและสิงโตทะเลสามารถตรวจจับและโจมตีได้เร็วกว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ ซึ่งใช้ลำดับการตัดสินใจและการกระทำที่กำหนดไว้เพื่อตรวจจับวัตถุ พิจารณาว่าเป็นทุ่นระเบิดหรือไม่ และตัดสินใจว่าต้องใช้มาตรการตอบโต้ใด สิงโตทะเล และโลมาเพียงแค่แตะแป้นเพื่อแจ้งให้ผู้ฝึกหรือผู้ควบคุม EOD ทราบเมื่อพบทุ่นระเบิดที่ต้องสงสัย
“พวกมันมีความแม่นยำสูงในการแยกแยะวัตถุที่คล้ายกับทุ่นระเบิดหรือตัวระเบิดเองออกจากเศษซากขนาดใหญ่ที่อยู่บนพื้นทะเล และในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่” มันเป็น “ความสามารถอันยอดเยี่ยมที่สามารถเอาชนะความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมมากมายได้” ยิ่งไปกว่านั้น พวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้ยังทำงานในกระแสน้ำที่แรง ซึ่งระบบที่ใช้แบตเตอรี่อาจทำงานได้ยาก
สิงโตทะเลถูกนำไปใช้งานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจับและระบุทุ่นระเบิดหรือสิ่งแปลกปลอมใต้น้ำ การค้นหาอุปกรณ์ตกหล่นจากเรือ การตรวจตราบริเวณท่าเรือหรือใต้เรือเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม การใช้เป็นหน่วยค้นหาและกู้ภัยในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์เข้าถึงยาก ในการใช้งานจริงสิงโตทะเลเคยถูกส่งไปประจำการในปฏิบัติการบุกอิรักในปี 2003 และที่อ่าวกามราห์นในช่วงสงครามเวียดนาม โดยทำหน้าที่ตรวจจับทุ่นระเบิดและป้องกันไม่ให้ผู้ว่ายน้ำไปก่อวินาศกรรมเรือ
โคดี้ สิงโตทะเล เตรียมลงน้ำระหว่างการฝึกซ้อมปฏิบัติการตอบโต้ทุ่นระเบิดนานาชาติ (IMCMEX) ที่มา : Navy Times
การปรากฏตัวของเจ้าสิงโตทะเลตาแป๋วในเขตฐานทัพเรือจึงไม่ใช่เพียงสีสันประจำอ่าว แต่คือ “โล่เงียบ” ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังอันตรายใต้น้ำอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ในโลกแห่งสงครามยุคใหม่ แม้แต่สิ่งมีชีวิตธรรมดา เมื่อผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และยุทธวิธี ก็สามารถกลายเป็นอาวุธแห่งความมั่นคงได้เช่นกัน
ดังนั้น ในขณะที่สายตาโลกจับจ้องไปที่ดาวเทียม และเรือดำน้ำ สหรัฐอเมริกาก็ยังคงไว้ซึ่งความลับเชิงยุทธศาสตร์ใต้น้ำในรูปแบบที่น่าเอ็นดูแต่ทรงพลังอย่าง “เจ้าสิงโตทะเล” ผู้กล้าหาญเหล่านี้
ที่มา : Navalunderseamuseum
ที่มา
1. Graham Land. (2018). 10 Animals Used for Military Purposes. Access from https://www.historyhit.com/animals-used-for-military-purposes/
2. JANE J. LEE. (2019). แม้โลกจะมีเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ก็ไม่มีอะไรเหนือกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทางทะเล (Marine mammals) ที่มีความสามารถในการค้นหาสิ่งของในโลกใต้ทะเล เช่น วาฬ โลมา หรือสิงโตทะเลได้อีกแล้ว. Access from https://ngthai.com/wildlife/21532/militarywhalesanddolphins/
3. Businessinsider. (2023). Here's what happens when US Navy special operators go up against dolphins trained to keep them out of sensitive bases. Access from https://www.businessinsider.com/us-navy-seals-train-against-marine-mammal-dolphins-sea-lions-2023-1
4. Businessinsider. (2023). For 60 years, the US Navy has been training dolphins and sea lions to keep rivals away from its most sensitive hardware. Access from https://www.businessinsider.com/us-navy-trains-dolphins-sea-lions-to-guard-sensitive-hardware-2022-12
5. Maison Piedfort, Naval Information Warfare Center Pacific. (2023). The Navy's Sea Lions Love Video Games. Access from https://www.navy.mil/Press-Office/News-Stories/Article/3388169/the-navys-sea-lions-love-video-games/
6. Navalunderseamuseum. (2023). LIFE FOR NAVY DOLPHINS AND SEA LIONS. Access from https://navalunderseamuseum.org/marinemammals4/
7. SPYSCAPE. (2024). Sea Lions & Spies: Five Secrets About the US Navy’s Elite Swimmers. Access from
8. Don Bartletti. (2015). Navy dolphins and sea lions. Access from https://www.latimes.com/visuals/photography/la-me-navy-mammals-20150329-pictures-photogallery.html
9. Farah Mohammed. (2019). Navy Seals: Why the Military Uses Marine Mammals. Access from https://daily.jstor.org/navy-seals-why-the-military-uses-marine-mammals/
โฆษณา