เมื่อวาน เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์

เกย์ลอร์ด เนลสัน บุรุษผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้เกิด ‘วันคุ้มครองโลก’

22 เมษายน วันคุ้มครองโลก Earth Day
วันคุ้มครองโลกครั้งแรกถูกจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ในปี 1970 อันเป็นเวลาที่ประเทศนี้ประสบกับปัญหามลภาวะอย่างรุนแรง
แต่ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไปจากการเคลื่อนไหวของบุคคลที่ชื่อ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) นักการเมืองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับประเด็นสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้ผู้คนตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญกับเราอย่างไร
“อากาศ น้ำ ดิน ป่าไม้ มหาสมุทร แม่น้ำ ทะเลสาบ ทิวทัศน์สวยงาม ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า แร่ธาตุ เป็นความมั่งคั่งของประเทศ”
เกย์ลอร์ด เนลสัน เกิดที่เคลียร์เลค เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของรัฐวิสคอนซินในปี 1916 ท่ามกลางป่าไม้ที่ยังอุดมสมบูรณ์ ก่อนที่มันจะค่อยๆ หดหายจากบริษัททำไม้ท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นบทเรียนแรกให้เนลสันได้เห็นการทำลายธรรมชาติด้วยน้ำมือของมนุษย์
ในวัยเยาว์ชีวิตของเนลสันผูกพันกับกิจกรรมทางการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากแอนตัน เนลสัน บิดาของเขาเป็นผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันตัวยง อีกทั้งปู่ปวดยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันพรรคการเมืองนี้ในวิสคอนซิน
เนลสันสำเร็จการศึกษาระดับรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานโฮเซในแคลิฟอร์เนีย จากนั้นกลับมาเรียนทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินบ้านเกิด
เช่นเดียวกับชายหนุ่มหลายคนในเวลานั้น เนลสันเข้าร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ออกไปรบในสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อผ่านสงครามเขากลับทำงานด้านกฎหมายในเมืองเมดิสัน วิสคอนซิน และเริ่มอาชีพทางการเมืองโดยการเข้าเป็นวุฒิสภารัฐวิสคอนซินในปี 1948
จนในปี 1958 เนลสันก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าการรัฐ พร้อมๆ กับการยกเครื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐใหม่ การทำงานของเนลสันทำให้เขามีชื่อเสียงระดับชาติในฐานะ ‘ผู้ว่าการนักอนุรักษ์’
เนลสัน เป็นผู้จัดตั้ง Youth Conservation Corps เพื่อสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับคนหนุ่มสาวที่ว่างงานกว่า 1,000 คน และพยายามจัดสรรเงิน 50 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการ Outdoor Recreation Action เพื่อจัดหาที่ดินและพื้นที่รกร้างว่างเปล่าทำสร้างสวนสาธารณะ
ความนิยมที่เกิดจากงานสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เนลสันเข้าสู่วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาในปี 1962
แม้ตำแหน่งจะเปลี่ยนไป แต่ เกย์ลอร์ด เนลสัน ยังคงผลักดันประเด็นทางสิ่งแวดล้อมไม่ต่างไปจากเดิม
เนลสันสามารถเกลี้ยกล่อมให้ประธานาธิบดีเคนเนดีออกมาสนับสนุนประเด็นทางสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ นำไปสู่กิจกรรมเดินสาย ‘ทัวร์อนุรักษ์’ ใน 11 รัฐ
แต่เมื่อมีคนเห็นด้วยก็ย่อมมีคนเห็นต่าง บางครั้งเขาต้องพบกับความไม่แยแสของเพื่อนร่วมงาน เพราะมุมมองนักการเมืองในเวลานั้นไม่คิดว่านี่เป็นสิ่งน่าสนใจ หรือเรียกคะแนนจากประชาชนได้สักเท่าไหร่
ผลลัพธ์ในทัวร์ครั้งนั้น ค่อนข้างหน้าผิดหวัง ประธานาธิบดีไม่ ‘อิน’ กับประเด็นนี้สักเท่าไหร่
ขณะที่ฝากสื่อก็แทบไม่ถามถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย คำพูดของเคนเนดีที่ถูกนำไปตีพิมพ์มีแต่สนธิสัญญาห้ามทดสอบนิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียตเพียงเท่านั้น
จนในที่สุดเนลสันมาได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘teach-in’ เกี่ยวกับการต่อต้านสงครามเวียดนาม
ก่อนหน้านั้นในการประท้วงสงครามเวียดนาม ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน คณาจารย์และนักศึกษาได้ออกมาทำกิจกรรม ‘teach-in’ โดยมีทั้งการบรรยายสาธารณะ การอ่านแถลงการณ์จากมุมมองที่หลากหลาย ตลอดจนการถาม-ตอบเกี่ยวกับปัญหาสงครามเวียดนาม
เนลสันประกาศแผน ‘teach-in’ ในแบบของตัวเองในเดือนกันยายน 1969 เพื่อให้สื่อมวลชนได้เริ่มแจ้งต่อสาธารณชนทราบ ด้วยแนวคิดสุดอหังการ์ว่างานนี้จะจัดขึ้นทั่วประเทศ ให้ผู้คนระดับรากหญ้ามารวมตัวกันจัดกิจกรรม และพยายามย้ำให้สื่ออย่าลืมลงคำว่า ‘Earth Day’
ในช่วงเตรียมการ เนลสันมักพาตัวเองออกไปตามสถานที่ชุมนุมต่างๆ หาโอกาสกล่าวปราศรัยหาแนวร่วมรวมพลคนจัดงานวันคุ้มครองโลก
ด้วยความเป็นนักสิ่งแวดล้อมเต็มตัว เนลสันเชื่อว่าวิกฤตสิ่งแวดล้อมคือสงครามที่น่ากลัวที่สุดที่มนุษยชาติเคยเผชิญมาทั้งหมด
“การต่อสู้เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมือง ศีลธรรม จริยธรรม และการเงินที่ยาวนาน ยั่งยืน เกินกว่าที่เคยทำมาก่อน”
คำพูดและวลีต่างๆ ที่เนลสันใช้ทำให้มีคนคล้อยเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เสียงตอบรับการจัดงานวันคุ้มครองโลกก็ค่อยๆ เป็นบวกตามมาเรื่อยๆ
ทีมงานที่เข้าร่วมกับเนลสันต้องช่วยกันตอบจดหมายและประสานงานกันหามรุ่งหามค่ำทุกวัน
อย่างไรก็ตาม เวลานั้นเรื่องสงครามกับสิ่งแวดล้อมยังเป็นประเด็นที่ถูกมองแยกส่วนกันอยู่ และกลุ่มต่อต้านสงครามก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเอาเรื่องสงครามมาอุปมาถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่
บางคนมองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนสงคราม และการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ทำให้เกิดความไขว้เขวต่อประเด็นสงครามในเวียดนาม
อีกทั้ง ขบวนการทางสิ่งแวดล้อมที่เริ่มก่อตัวขึ้นก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ออกมาต่อต้านสงคราม คนอีกกกลุ่มจึงคิดว่านี่เป็นการลดทอนขุมกำลัง
แต่ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร ตัวของเกย์ลอร์ด เนลสันคือหนึ่งในผู้ที่ออกมาต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างชัดเจน เพราะเขามองทะลุแล้วว่าสงครามคือวายร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้ย่อยยับได้อย่างรวดเร็ว
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แนวคิดวันคุ้มครองโลกได้รับความสนใจ เกิดขึ้นเพราะการนำเสนอเนื้อหานี้ของสื่อหนังสือพิมพ์ที่เริ่มต้นจากเพียงหัวสองหัว ก่อนกระจายไปทั่วประเทศ
และนำมาสู่การจัดกิจกรรมวันคุ้มครองโลกขึ้นพร้อมกันในทุกหัวระแหง
ซึ่งสารตั้งต้นมาจากเนลสันได้ไอเดียว่า หากวิทยาลัยหลายร้อยแห่งทั่วประเทศจัดการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน พูดคุย ออกมาทำกิจกรรมพร้อมๆ กัน มันคงกลายเป็นวาระชาติที่รัฐสภาต้องหันมาสนใจบ้างล่ะ
แนวคิดนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในสุนทรพจน์สำคัญของเนลสัน และถูกตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้การรวมตัวเพื่อคุ้มครองโลกมีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ผลของการทำงานอย่างมุมานะทำให้วันที่ 22 เมษายน 1970 อเมริกันชนกว่า 20 ล้านคน (ในขณะนั้นคิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดในสหรัฐฯ) ในเมืองต่างๆ พากันออกมาเคลื่อนไหวและส่งเสียงเพื่อสิ่งแวดล้อม
ในเวลานั้นการรณรงค์ทางสิ่งแวดล้อมในสหรัฐแม้จะไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่ก็พอมีกลุ่มต่างๆ ที่ขับเคลื่อนในสิ่งที่ตนสนใจทำงานกระจายกันออกไป
กระทั่งมีแนวคิดวันคุ้มครองโลกเกิดขึ้น กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อต่อต้านการรั่วไหลของน้ำมัน โรงงานและโรงไฟฟ้าที่ก่อมลพิษ น้ำเสีย แหล่งทิ้งสารพิษ ยาฆ่าแมลง ทางด่วน การสูญเสียพื้นที่ธรรมชาติ และการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า ต่างรวมตัวกันในวันคุ้มครองโลกโดยยึดมั่นในค่านิยมร่วมกัน
Earth Day เปรียบได้กับรุ่งอรุณแห่ง ‘ทศวรรษสิ่งแวดล้อม’ นำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง หลังจากประสบปัญหาในการผ่านกฎหมายตลอดช่วงทศวรรษที่ 1960
เนลสันได้มีส่วนเกี่ยวร่วมกับการออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติน้ำสะอาด พระราชบัญญัติแม่น้ำป่าและทิวทัศน์แห่งชาติ พระราชบัญญัติสารกำจัดศัตรูพืช ตลอดพระราชบัญญัติอากาศบริสุทธิ์
โดยในเดือนกรกฎาคมปีแรกของการจัดงานวันคุ้มครองโลก ได้มีการตั้งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยคำสั่งพิเศษ เพื่อควบคุมและบังคับใช้กฎหมายมลพิษระดับชาติ
รวมถึงยังได้ร่างมติเพื่อกำหนดให้สัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายนของทุกปีเป็นสัปดาห์โลก (Earth Week) ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาครึ่งหนึ่งได้เข้าแถวเพื่อลงนามในฐานะผู้ให้การสนับสนุน
วันคุ้มครองโลกได้นำมาซึ่งการดำเนินงานเพื่อสร้างวาระทางการเมืองด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ และดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี 1980 เนลสันพ่ายแพ้ในการแข่งขันชิงตำแหน่งวุฒิสภา ความปราชัยครั้งนั้นเป็นเหมือนการบอกลาบทบาททางการเมือง แต่ถึงอย่างนั้นเนลสันก็ยังไม่คิดเกษียณตัวเองจากการเป็นนักอนุรักษ์
เขายังทำงานอีกหลายอย่าง ทั้งได้รับการทาบทามเป็นที่ปรึกษาทางสิ่งแวดล้อมในหลายโครงการ
ในปี 1995 เขาได้รับเหรียญ Congressional Medal of Freedom จากประธานาธิบดีบิล คลินตันสำหรับการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมาหลายทศวรรษ
ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในอีก 10 ปีต่อมา วันที่ 3 กรกฎาคม 2005
วันหนึ่ง ในวัยเกษียณ เนลสันถูกถามว่าทำไมคุณยังไม่หยุดทำงาน
เขาตอบเพียงสั้นๆ ว่า “งานของเรายังทำไม่เสร็จ”
และหวังว่าในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ จะมีคนสานต่อปณิธานนั้น เพราะยังมีเรื่องที่ต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกมาก
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้นำสหรัฐฯ หันหลังให้กับธรรมชาติไปเสียแล้ว
อ้างอิง
National Park Service, Gaylord Nelson
Nelson EarthDay Tracing Earth Day’s Origins
World Biography Gaylord A. Nelson Biography
Michigan in the World In Focus: Gaylord Nelson
Photo : Wisconsin Conservation Hall of Fame
เผยแพร่ครั้งแรก 22 เมษายน 2022 แก้ไขเรียบเรียงเพิ่มเติม เมษายน 2025
โฆษณา