Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
20 เม.ย. เวลา 05:18 • ธุรกิจ
เปิดผังใหม่ทอท.ปรับแผนลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ 1.7 แสนล้าน
เปิดผังใหม่ทอท.ปรับแผนลงทุนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าการลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท ขยายการลงทุนใหม่ๆในธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และ คาร์โก้
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT มีเป้าหมายพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากปัจจุบันหากรวมอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) จะอยู่ที่ 60 ล้านคน ให้สามารถรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน ขึ้นเป็น Top 10 ของโลก ในแง่ของขนาดการรองรับของสนามบิน จากปัจจุบันอยู่ใน Top 30 ของโลก
1
รวมทั้งยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายใน 5 ปี (ปี 2572) จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 58 ของโลก
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. จึงอยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนล้านบาท ให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยผังการลงทุนใหม่ในสนามบินที่จะเกิดขึ้น
ไฮไลท์หลักๆนอกจากการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (East Expansion) และการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) แล้ว ทอท. ยังจะตัดแผนการลงทุนในบางโครงการออกไป และจะโฟกัสการเปิดพื้นที่ เพื่อขยายการลงทุนใหม่ๆในธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และ คาร์โก้
สำหรับแผงผังการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิล่าสุด ทอท. จะยกเลิกแผนการก่อสร้าง ใน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT 2) ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ( North Expansion) และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก ( West Expansion) ดังนั้นแผนแม่บทการลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิ ฉบับปรับปรุงใหม่ จะประกอบไปด้วย 7 โครงการ
กีรติ กิจมานะวัฒน์
เปิดผังแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฉบับปรับปรุงใหม่
1.โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ อยู่ด้านทิศใต้ของสนามบิน หรือ South Terminal พื้นที่ 4 แสนตรม. และอาคารเทียบเครื่องบิน 6 แสนตรม. ซึ่งจะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารอีก 70 ล้านคนต่อปี
เป็นรูปแบบ Mega Terminal เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ใกล้อาคารผู้โดยสาร (แอร์พอร์ต พลาซ่า) ขนาด 3.5 แสนตรม. โดยมีทางยกระดับ และรถไฟฟ้า เชื่อมเข้าอาคารด้านทิศใต้โดยตรง
2.ทางวิ่งเส้นที่ 4 หรือ รันเวย์ 4 วงเงินลงทุนรวม 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มการรองรับเที่ยวบิน 26 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งหากรวมการลงทุนอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ และรันเวย์ 4 การลงทุนรวมจะอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท
3.ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ( East Expansion) พื้นที่ 8.1 หมื่นตรม. ลงทุน 1.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มการรองรับผู้โดยสารอีก 15 ล้านคน ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 65 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 80 ล้านคน และเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสาร เป็น 2.57 แสนตรม.
4.อาคารผู้โดยสารทั่วไป หรือ General Aviation : GA (การบินทั่วไป) พื้น 1 แสนตรม. สำหรับรองรับการบินที่ไม่ได้ทำการบินตามตารางเวลา เช่น เที่ยวบินเช่าเหมาลำ การบินส่วนบุคคล รองรับการจอดเครื่องบินได้ 10 ลำ
5. VIP Terminal พื้นที่ 8 หมื่นตรม. รองรับผู้โดยสารระดับวีไอพี และไพรเวท เจ็ท ระดับหรู ซึ่งอาคารนี้จะเชื่อมต่อกับพื้นที่ Landside / Airside
6. โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ Maintenance Repair Overhaul ( MRO) ซึ่งทางสนามบิน มีพื้นที่ทั้งด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ในการผลักดันการลงทุนให้เกิดขึ้น โดยพื้นที่ด้านทิศใต้ 3.5 แสนตรม.สามารถรองรับเครื่องบินได้ 18 ลำ
ส่วนทางทิศเหนือ จะมีพื้นที่ 1.25 แสนตรม. สามารถทำศูนย์ซ่อม MRO รองรับเครื่องบินได้ 6 ลำ และ พื้นที่ราว 1.5 ตรม. สามารถสร้างโรงซ่อมอากาศยาน รองรับเครื่องยินได้ 8 ลำ
7. แอร์พอร์ต ซิตี้ ซึ่งเป็นพื้นที่แปลง 37 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 547.92 ไร่ (ที่ดินราชพัสดุ) ซึ่งอยู่ในเขตสนามบิน โดยมองว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ประชุม
รวมถึงธุรกิจโรงแรม 3 ดาว โรงแรม 4 ดาว รองรับผู้มาใช้บริการในพื้นที่และผู้โดยสารที่มาจากสนามบิน เพื่อท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกับโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ ที่อยู่ประชิดอาคารผู้โดยสาร
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจํากัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท.ได้ทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งล่าสุดมีการตัดอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 2 (SAT-2) ออกไป
เนื่องจากมีการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ ที่จะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 70 ล้านคนต่อปี ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคน มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารรวม 6.57 แสนตรม. และมีพื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินรวม 9.40 แสนตรม.
ดังนั้นจึงถือว่าเพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสารที่จะขยายตัวได้สูงสุด จาก 4 รันเวย์ของสนามบิน และการสร้าง SAT-2 จะมีผลต่อการบริหารจัดการทั้งระบบสายพานกระเป๋า และ Tranfer ที่ยุ่งยากมากขึ้น เพราะการเชื่อมต่อระหว่าง อาคารหลัก ไปยัง SAT-1 ไปยัง SAT-2 และอาคารทิศใต้ จะต้องไม่มีปัญหาสะดุด
1
ส่วนการตัดโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) ออกไป เป็นเพราะเบื้องต้นการศึกษาพบว่า อาคารหลัก มีความสามาถรองรับได้ ขณะที่เมื่อก่อสร้างอาคารด้านทิศใต้เสร็จ ทอท.จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลักให้มีความทันสมัยและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้โดยสารอีกด้วย
เช่นเดียวกับโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ก็ไม่จำเป็นเช่นกัน โดยพื้นที่ดังกล่าว จะนำไปใช้รองรับศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และ คาร์โก้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่เพิ่มรายได้ให้ทอท.อีกทางหนึ่ง
สำหรับการลงทุนในโครงการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion คาดว่าจะหาผู้รับเหมาในเดือน ก.ค.2568 เริ่มงานก่อสร้างในเดือน พ.ย.2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2571
ส่วนโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ตามแผนจะเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างปี 2570 แล้วเสร็จปี 2576 โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร รันเวย์ที่ 4 และระบบรถไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ APM (เชื่อมจากอาคาร SAT-1 ไป South Terminal) ด้วย นายกีรติ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามแผนการผลักดันศูนย์ซ่อม MRO ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของแผนภาพใหญ่ ในการขับเคลื่อนความเป็นเอวิเอชั่นฮับของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิเปิดดำเนินการมาแล้ว 19 ปี แต่ยังขาดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ครบวงจร
พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. กล่าวว่าก่อนหน้านี้ผมได้รับมอบหมายให้เป็นประธานในเรื่องของ เอวิเอชั่น ฮับ ซึ่งการทำ MRO ก็เป็นส่วนหนึ่งของเอวิเอชัน ฮับ โดยจะมีการทำแผนแม่บทในเรื่องนี้ก่อน โดยพื้นที่ที่เหมาะสม คือ สนามบินสุวรรณภูมิ
โดยศูนย์ซ่อม MRO จะไม่จำกัดเฉพาะการซ่อมเครื่องบิน แต่รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทางด้านการบินด้วย เช่น ศูนย์ฝึกจำลองการบิน (Simulator) สำหรับนักบิน ลูกเรือ และช่างซ่อมบำรุง
ที่ผ่านมาผมได้ชักชวนทั้งผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ เช่น โบอิ้ง เอเอ็นเอของญี่ปุ่น และสิงคโปร์แอร์ไลน์ ก็ได้ชักชวนให้มาร่วมลงทุน ซึ่งทางสิงคโปร์ก็สนใจ และจะมีผู้ประกอบการไทยที่สนใจด้วย ซึ่งเป็นลักษณะรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ PPP ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ AOT เพื่อจะทำให้เครื่องบินที่ทำการบินเข้าไทย มีทางเลือกในการซ่อมบำรุงอากาศยาน
โดยในระยะแรกการซ่อมบำรุงอากาศยานขั้นต้นกับขั้นกลางที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะเกิดได้เร็วกว่า ส่วนการซ่อมแบบ Overhaul ต้องมีโรงซ่อมก็คงต้องใช้เวลา เพราะต้องมีการสร้างโรงซ่อมอากาศยานเสียก่อน
ทั้งหมดล้วนเป็นแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะเกิดขึ้น
thansettakij.com
เปิดผังใหม่ทอท.ปรับแผนลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ 1.7 แสนล้าน
เปิดผังใหม่ทอท.ปรับแผนลงทุนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าการลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท ขยายการลงทุนใหม่ๆในธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และ คาร์โก้
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย