21 เม.ย. เวลา 13:13 • การเมือง

Chip supply chain : ใครคุม ?

ในโลกที่ทุกอย่างกำลังฉลาดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่รถที่ไม่ต้องมีคนขับ โทรศัพท์ที่รู้ว่าเราจะพิมพ์อะไรต่อ ไปจนถึงระบบป้องกันประเทศที่ไม่ต้องรอคำสั่งจากมนุษย์ คำถามสำคัญอาจไม่ใช่ว่า
“AI ไปได้ไกลแค่ไหน” แต่คือ
ใครเป็นคนสร้างสมองให้มัน?
จุดที่ดูเหมือนเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่มีใครอยู่กลางวงจริง
ในสายตาคนทั่วไป “เทคโนโลยี” ดูเหมือนเป็นของสหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริง ชิประดับสูงสุดที่ใช้พัฒนา AI อย่างชิป A100 หรือ H100 ของ NVIDIA กลับผลิตโดย TSMC ที่ไต้หวัน และ TSMC เองก็ต้องพึ่งเครื่องจักรที่สร้างจากบริษัทในเนเธอร์แลนด์ ที่ชื่อว่า ASML
ASML คือผู้ผลิตเครื่อง EUV Lithography เพียงรายเดียวในโลก และเครื่องนี้เอง คือหัวใจของการผลิตชิประดับ 3 นาโนเมตร ชิปที่ AI ต้องใช้
ฟังดูเหมือนเนเธอร์แลนด์คือศูนย์กลาง?
แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะ ASML เองก็ไม่ได้สร้างเครื่อง Lithographyได้ด้วยตัวคนเดียว
เลนส์ที่ใช้สะท้อนแสง EUV ต้องเป็นของ Zeiss (เยอรมนี) เลเซอร์ความเข้มสูงต้องมาจาก Trumpf (เยอรมนี) ระบบสุญญากาศต้องพึ่ง Edwards (สหราชอาณาจักร) และวัสดุต้นน้ำส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น
ทุกคนแตะจุดสำคัญคนละจุด แต่ไม่มีใครแตะได้ครบ
โซ่ที่บาง แต่ไม่มีใครปล่อยมือก่อนใครได้
หากเลนส์จาก Zeiss หยุดผลิต จะส่งผลให้ ASML ต้องหยุดผลิตทันที หรือถ้า Trumpf ถูกควบคุมการส่งออก แหล่งพลาสมาของแสง EUV ก็จะหยุดลงเช่นกัน หรือ หากญี่ปุ่นหยุดขาย photoresist ให้ TSMC ก็จะผลิตไม่ได้ และสุดท้าย ถ้าหาก TSMC ถูกกดดัน NVIDIA จะไม่มีชิปใหม่ให้ตลาด AI
ระบบนี้ดูเหมือนเสถียร แต่มันคือ สมดุลเปราะบาง ที่อาศัยการร่วมมือโดยไม่แน่ใจว่าจะไว้ใจกันได้จริง
จีน อยากขึ้นนำ แต่องค์ความรู้ทางฟิสิกส์ไม่อาจเร่งด้วยเงินอย่างเดียว
จีนลงทุนมหาศาลในชิป รัฐบาลเทเงินนับแสนล้านหยวน พัฒนาโรงงานใหม่ ผ่านบริษัทอย่าง SMIC แต่ติดปัญหาเพียงข้อเดียว คือไม่มีใครขายเครื่อง EUV ให้
จีนจึงยังอยู่ในเทคโนโลยี DUV (Deep UV) ที่ผลิตชิปได้เพียง 14–28 นาโนเมตร แม้จะพยายาม reverse engineering จากเครื่องเก่าหรือเส้นทางลัดใด ๆ แต่ฟิสิกส์ของแสงในช่วง EUV ไม่สามารถข้ามได้ง่าย ๆ
มันไม่ใช่แค่ "สร้างให้เหมือน" แต่ต้อง "ควบคุมแสงที่เดินทางไม่ได้ในอากาศ"
ซึ่งต้องการทั้งเลเซอร์พลาสมา ระบบสุญญากาศ และวัสดุในห้อง clean room ระดับ Class 1
ฟิสิกส์ไม่ได้ลำเอียง แต่มันมีข้อกำหนดที่ไม่สนใจภูมิรัฐศาสตร์
สหรัฐฯ ไม่ได้ผลิตเอง แต่เล่นเกมควบคุมได้
อเมริกาไม่ได้มีโรงงานผลิตชิประดับ 3 นาโนเมตรภายในประเทศ แต่ถือกุญแจหลายดอกใน supply chain
NVIDIA, AMD, Intel ยังถือครอง know-how การออกแบบที่ดีที่สุด Synopsys และ Cadence คุม software ออกแบบวงจร (EDA tools) และที่สำคัญ อเมริกาคือผู้กดดันให้เนเธอร์แลนด์ เพื่อ "ไม่ให้ขาย EUV ให้จีน"
สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องถือของ ขอเพียงแค่ "ใครบางคนไม่มีของ" ก็พอ
ญี่ปุ่น กับ เยอรมนี เป็นผู้เล่นเงียบที่ไม่มี spotlight ส่อง
ญี่ปุ่นยังเป็นเจ้าของวัสดุต้นน้ำหลายชนิดที่สุดในโลก เช่น photoresist, mask blank, fluorinated gas เยอรมนีถือเทคโนโลยีเฉพาะทางอย่างเลนส์ระดับอะตอม และเลเซอร์ที่ผลิตซ้ำแทบไม่ได้
แต่ทั้งสองประเทศมักไม่อยู่กลางเวที ทั้งที่ถ้า 2 ประเทศนี้ถอนตัว โลกจะไม่มีใครผลิตชิปขนาดเล็กกว่า 7 นาโนเมตรได้เลย
นี่คือ "อำนาจที่ไม่ประกาศตัว"
TSMC ยักษ์ที่ยืนอยู่บนดินที่สั่นไหว
TSMC คือบริษัทที่ผลิตชิปมากที่สุดในโลก (มากกว่า 50%) และผลิตชิประดับสูงที่สุดให้ทั้ง Apple, NVIDIA, Qualcomm และกองทัพสหรัฐฯ
แต่โรงงานหลักอยู่ในไต้หวัน ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยภูมิรัฐศาสตร์มากที่สุดในโลก
จีนอ้างสิทธิ์ไต้หวัน สหรัฐฯ ต้องปกป้องไต้หวันเพราะ supply chain ของตนผูกติดอยู่ที่นั่น
แปลว่า ถ้าความขัดแย้งเพียงจุดเดียวปะทุ โลกอาจไม่มีสมองใหม่ผลิตได้อีกในช่วงเวลาหนึ่ง
แล้วถ้า Technology Quantum พาเรื่องการทำชิปเดินมาทางลัดได้ล่ะ?
ขณะที่ทุกคนยังถกเถียงว่าใครจะครองเทคโนโลยี 2 นาโนเมตรกัน ก่อน จีนกลับพัฒนาอีกเส้นทางขนานที่ไม่มีใครจับตามองพอ
คอมพิวเตอร์ควอนตัมอย่าง Zuchongzhi 3.0, Xiaohong, และ Wukong กำลังแสดงให้เห็นว่า "บางโจทย์" ที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ใช้เวลานานหลายปี สามารถถูกแก้ได้ในเวลาไม่กี่วินาที
เทคโนโลยีนี้ไม่ได้พิมพ์ลวดลายบนเวเฟอร์ แต่มันประมวลผลด้วยคิวบิต ที่อยู่ในหลายสถานะพร้อมกัน (superposition) และเชื่อมโยงกันแบบที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยตรรกะคลาสสิก (entanglement)
มันไม่ได้เร็วขึ้นทีละขั้นแต่มันเปลี่ยนสนามแข่งขัน
แล้ว Quantum จะมาแทนการผลิตชิปแบบเดิมได้อย่างไร?
คำตอบคือ Quantum ไม่ได้ “พิมพ์สมอง” เหมือน EUV แต่มัน “ประมวลผลแบบที่ไม่ต้องพิมพ์”
ถ้าเปรียบกับระบบเดิม:
ทุกอย่างเริ่มจากการออกแบบวงจร (Design)
แล้วต้องพิมพ์ลงบนแผ่นซิลิคอนผ่าน EUV
ทุกคำสั่งที่ AI คิด ต้องวิ่งผ่านทรานซิสเตอร์บนชิปนั้น
แต่ใน Quantum ไม่มีลวดลาย ไม่มีแผ่นซิลิคอน ไม่มีการยิงแสง
ข้อมูลถูกเข้ารหัสใน "คิวบิต" ซึ่งอยู่ในหลายสถานะพร้อมกัน
เมื่อประมวลผล คิวบิตจะทำงานพร้อมกันเป็นพันทาง แทนที่จะรันแบบทีละคำสั่ง
ถ้าเปรียบง่าย ๆ ให้เห็นภาพ
ชิปแบบเดิม เหมือนเราต้องพิมพ์แผนที่ก่อนค่อยขับรถ
Quantum เหมือนเรา “วาร์ป” ไปพร้อมกันทุกเส้นทาง แล้วรู้ทันทีว่าเส้นไหนดีที่สุด
หรือถ้าให้เห็นภาพอีกแบบ
ชิปทั่วไปคือโรงพิมพ์สมอง
Quantum คือสมองที่คิดพร้อมกันทุกอย่าง โดยไม่ต้องพิมพ์อะไรเลย
ถ้าทำได้สำเร็จจริง Quantum จะไม่ต้องใช้ EUV เพราะมันไม่ต้อง “พิมพ์วงจร” อีกต่อไป แต่มันจะกลายเป็นหน่วยประมวลผลที่มีพลังเทียบเท่าหรือมากกว่าชิปขนาด 1 นาโนเมตร โดยไม่ต้องใช้เลเซอร์ ไม่ต้องมีสุญญากาศ ไม่ต้องมีแผ่นเวเฟอร์ใด ๆ เลย
ซึ่งแปลว่าโลกจะไม่ต้องแย่งกันเป็นเจ้าของเครื่อง EUV อีกต่อไป เพราะระบบใหม่จะไม่มีลวดลายให้พิมพ์ และไม่มีใครรอแสงอีกแล้ว
แล้วใครที่ควบคุมใครกันแน่?
เมื่อเราไม่สามารถผลิตชิปเองได้ทั้งเส้นทาง เมื่อทุกฝ่ายพึ่งพากันในระดับที่ห้ามขัดกันเลยแม้แต่น้อย และเมื่อเทคโนโลยีใหม่อย่างควอนตัม กำลังเดินมาทางที่ไม่มีใครตั้งรั้วรอไว้
คำถามอาจเปลี่ยนจาก "ใครควบคุมชิป?" ไปเป็น "ชิป กำลังควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอยู่หรือเปล่า?"
และถ้าวันหนึ่ง สมองกลไม่ได้ถูกพิมพ์ด้วยลำแสงอีกต่อไป แต่พิมพ์ด้วยฟิสิกส์ที่เรายังเข้าไม่ถึง
ใครจะเป็นคนควบคุมอนาคตที่ไม่ต้องรอให้พิมพ์เสร็จ?
#ChipWar #ใครคุมชิป #QuantumComputing
#สงครามเทคโนโลยี #ชิปคือสมองของโลก #อ่านเรื่องยากให้ง่าย
โฆษณา