21 เม.ย. เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์

เศรษฐกิจแบบนี้ รามิตร เศรษฐี “ แนะนำให้มี เงินสำรอง 12 เดือน”

และ 6 วิธีสร้างกองทุนฉุกเฉินให้เร็วที่สุด
รามิตร เศรษฐี (Ramit Sethi) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาทางการเงิน ที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการเงินในรายการพอดแคสต์ “I Will Teach You To Be Rich”
เขาเป็นเศรษฐีร้อยล้านที่สร้างความมั่งคั่งด้วยตัวเอง และผู้เขียนหนังสือขายดี “ผมจะสอนให้คุณรวย” ที่ติดอันดับหนังสือขายดีของ The New York Times คอนเทนต์ส่วนใหญ่ของเขาจะพูดถึงเรื่องการเงินส่วนบุคคล และการเงินคู่รัก รวมถึงความผิดพลาดทางการเงินที่ควรหยุดทำ ถ้าเราอยากจะมีชีวิตที่ร่ำรวย
ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ เขาก็ได้มาทวิต ผ่านแพลตฟอร์ม X เกี่ยวกับ วิธีสร้างกองทุนฉุกเฉินให้ได้ 12 เดือนให้ไวที่สุด แต่ก่อนจะเข้าสู่วิธีสร้างกองทุนฉุกเฉิน เรามาทำความเข้าใจคร่าวๆ อีกทีว่าทำไมต้องสร้างกองทุนฉุกเฉินถึง 12 เดือนและ มันเกินกว่า 12 เดือนได้ไหม
[ ทำไมเราต้องสร้าง “กองทุนฉุกเฉิน” ให้พอใช้ถึง 12 เดือน? ]
กองทุนฉุกเฉิน คือ เงินที่กันไว้ใช้ใน “สถานการณ์ไม่คาดฝัน” เช่น ตกงาน เจ็บป่วย ธุรกิจรายได้ลดฮวบ เกิดเหตุจำเป็นต้องจ่ายเงินก้อน เช่น รถพัง บ้านรั่ว ฯลฯ
ถ้าไม่มีเงินสำรองเลย เราอาจต้องกู้ ยืม หรือรูดบัตรเครดิต ซึ่งดอกเบี้ยสูงมาก และทำให้สถานการณ์ที่แย่ กลายเป็น “แย่กว่าเดิม” ได้ง่ายมาก
ซึ่งจริงๆ แล้วจำนวนเงินสำรองควรมีกี่เดือน มันขึ้นอยู่กับ “ความเสี่ยงในชีวิต” ของแต่ละคน ยิ่งเรามีความเสี่ยงสูง หรือรายได้ไม่แน่นอน กว่าจะหางานใหม่หรือสร้างรายได้ใหม่ได้อาจต้องใช้เวลา และมีภาระระหว่างนั้นที่ต้องจ่ายต่อเนื่อง เช่น ค่ากินอยู่ ค่าผ่อนบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ดังนั้น การมีเงินสำรองไว้ยังไงก็อุ่นใจกว่า
โดยทั่วไปแล้ว รามิตร เศรษฐี ก็เหมือนกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทั่วไปที่จะแนะนำให้เราเก็บเงินสำรองไว้ไม่เกิน 3-6 เดือน ในบัญชีธนาคารเพื่อที่เราจะถอนออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ในกรณีฉุกเฉิน (อย่าเอาเงินฉุกเฉินไปลงทุนหรือทำให้มันอยู่ในสภาพคล่องต่ำนะ เพราะเงินฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้ ต้องได้ใช้และขาดทุนไม่ได้)
แต่รอบนี้เขาบอกว่า “ผมขอแนะนำกองทุนฉุกเฉิน 12 เดือน ซึ่งถือเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ที่ผมแนะนำให้เก็บเงินสำรองเท่านี้ ครั้งสุดท้ายคือช่วงโควิด และนี่เป็นเพราะความไม่แน่นอนมหาศาลที่เกิดจากภาษีศุลกากร (tariffs)”
อีกทั้ง รามิตรยังบอกกับ Business Insider ไว้ด้วยว่าสำหรับคนที่อยากเพิ่มผลตอบแทนในช่วงตลาดซบเซา เขาเตือนว่า “อย่าลงทุนมากเกินกว่าที่คุณทำเป็นปกติ”
เพราะหนึ่งในความผิดพลาดที่คนทำกันตอนนี้ คือยังพยายามจะบีบผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้มากที่สุด แม้จะเป็นแค่ส่วนนิดเดียวก็ตาม
“หลายคนคิดว่า ‘เฮ้ย ตอนนี้ตลาดตก งั้นฉันลงทุนเพิ่มเลยดีมั้ย?’ ฟังดูฉลาดนะ แต่จริง ๆ แล้ว นั่นก็คือการพยายามจับจังหวะตลาด (Market Timing) เหมือนกับตอนที่บางคนจะขายหุ้นเพราะตลาดอยู่ในช่วงขาลง — แค่ครั้งนี้คุณเป็น ‘คนซื้อ’ ไม่ใช่ ‘คนขาย’ ก็เท่านั้นเอง” รามิตร กล่าว
ถ้าคุณมีเงินเหลือในช่วงนี้ เขาแนะนำว่า
“เอาไปเก็บในบัญชีเงินฝาก เพื่อสร้าง ‘กองทุนฉุกเฉิน’ หรือ ‘เงินสำรองเผื่อเหตุไม่คาดฝัน’ มันจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเอาไปเสี่ยงลงทุน เพราะถ้าคุณโดนเลย์ออฟขึ้นมา เงินตรงนั้นจะช่วยคุณได้ทันที”
[ วิธีสร้างเงินสำรองฉุกเฉินให้ได้ไวที่สุด ตามฉบับ รามิตร เศรษฐี ]
สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือ “หักใช้จ่าย”
1. ตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ให้ลงมืออย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว แล้วนำเงินส่วนนั้นไปออมแทน ในที่นี้คุณรามิตรเขาได้ทำเทมเพลต Conscious Spending Plan ไว้ เพื่อช่วยคนแยกค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายใดควรรักษาไว้ และค่าใช้จ่ายใดควรตัดออก (แปะไว้ที่คอมเมนต์)
2. ชะลอการใช้จ่ายก้อนใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถหรือย้ายบ้าน ช่วงนี้มีความเสี่ยงสูง เขาแนะนำให้เลี่ยงการใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ เพราะมันมักจะมีค่าใช้จ่ายแฝงตามมาเสมอ
3. ยืดค่าใช้จ่ายที่เคยชินบางรายการออกไป
รามิตรบอกว่า ค่าใช้จ่ายบางอย่างเรา “เคยชิน” ว่าต้องทำบ่อย แต่จริง ๆ แล้วถ้าลดความถี่ลง ก็ไม่ได้เสียคุณภาพชีวิตมากนัก และยังประหยัดได้เยอะ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ที่หลายคนมักมองข้ามวิธีนี้เมื่อหาวิธีประหยัด
เช่น สมมติคุณตัดผมทุกเดือน เดือนละ 800 บาท
ถ้าคุณยืดเวลาตัดออกไปเป็นตัดทุก 2 เดือน = ปีหนึ่งจ่ายแค่ 6 ครั้ง = ประหยัดได้ 4,800 บาทต่อปี
การลงทุน
4. ถ้าคุณจ่ายหนี้ดอกเบี้ยต่ำมากเกินไป (เช่น ดอกเบี้ยบ้าน 3%) ให้พิจารณาขอหยุดชำระชั่วคราว แล้วนำเงินส่วนนั้นมาออมจะดีกว่า (ในความเห็นของเขา) เพราะการมีเงินก้อนสำรองไว้ในช่วงนี้มีค่ามากกว่าการรีบจ่ายหนี้ดอกต่ำให้หมด
5. พิจารณาลดเงินลงทุนในกองทุนเกษียณ
รามิตรไฮไลต์ข้อนี้ไว้ว่า
เรื่องสำคัญ: โปรดอ่าน ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง เช่น เป็นครอบครัวที่มีรายได้ทางเดียว มีลูก และการตกงานคือหายนะครั้งใหญ่ ให้พิจารณาลดการลงทุนในช่วงนี้ ผมแนะนำให้ลดแค่พอให้ยังได้ matching จากนายจ้าง หรืออาจลดการลงทุนใน Roth IRA ก็ได้ การหยุดลงทุนไม่กี่เดือนอาจไม่กระทบในระยะยาว แต่การมีเงินสดก้อนใหญ่ตอนนี้จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้มาก คุณมีทางเลือกหลายอย่าง
6. สุดท้าย — และควรหลีกเลี่ยงที่สุด
พิจารณาลดการจ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง (7% ขึ้นไป โดยเฉพาะบัตรเครดิต) เพราะตอนนี้มีสิ่งอื่นที่ควรทำก่อนมาถึงจุดนี้มากมาย
ก่อนจบคำแนะนำ รามิตรบอกไว้ว่า “มีหลายอย่างที่ต้องทำก่อนที่สถานการณ์นี้จะเกิด แต่ผมแบ่งปันสิ่งนี้ให้คุณทราบไว้ก่อน โปรดทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำได้ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด”
Conscious Spending Plan โดยคุณรามิตร
#aomMONEY #การเงินส่วนบุคคล #tariffs #การเงิน #Ramit #RamitSethi
โฆษณา