Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
26 เม.ย. เวลา 15:00 • สิ่งแวดล้อม
‘Milky Sea’ ทะเลเรืองแสง มองเห็นจากอวกาศ ที่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร
เป็นเวลากว่า 400 ปีแล้ว ที่มนุษย์รู้จัก “มิลค์กี้ซี” (Milky Sea) ปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสงสุดลึกลับ ที่ทำให้ท้องทะเลมีแสงระยิบระยับสุดลูกหูลูกตา ซึ่งจะมีโอกาสพบเห็นได้เฉพาะในมหาสมุทรที่ห่างไกล ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ จึงทำให้ยากต่อการศึกษาว่ามันคืออะไร และเกิดจากอะไร แต่ในตอนนี้นักวิจัยกำลังเข้าใกล้ความลับของทะเลเรืองแสงมากยิ่งขึ้น
1
จัสติน ฮัดสัน นักศึกษาปริญญาเอกจากภาควิชาบรรยากาศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด ได้รวบรวมการพบเห็นปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสง มากกว่า 400 ครั้ง ทั้งจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ รายงานของผู้เห็นเหตุการณ์จากลูกเรือ และข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์นำเรือวิจัยไปสำรวจเหตุการณ์ดังกล่าวได้ในสักวันหนึ่ง
1
“เรายังไม่รู้ว่าทะเลเรืองแสงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าระบบนิเวศมีสุขภาพดี หรือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงระบบนิเวศที่ไม่แข็งแรงกันแน่ ดังนั้น เมื่อเราสามารถคาดเดาได้ว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ใด เราก็สามารถเริ่มตอบคำถามเหล่านี้ได้” ฮัดสันกล่าว
📌 แบคทีเรียเรืองแสง
คนที่เคยเห็นทะเลเรืองแสงมักให้การตรงกันว่า ปรากฏการณ์นี้มีสีขาวอมเขียวอ่อนคล้ายกับดวงดาวที่เรืองแสงที่ติดไว้บนเพดานในห้องนอน ลูกเรือรายงานว่าปรากฏการณ์นี้เปล่งแสงออกมาสว่างมากพอที่จะอ่านหนังสือได้ ซึ่งแตกต่างกับมหาสมุทรในยามค่ำคืนอันมืดมิดอย่างสิ้นเชิง
ปรากฏการณ์นี้อาจกินเวลานานหลายเดือน ครอบคลุมพื้นที่ถึง 100,000 ตารางกิโลเมตร และสามารถมองเห็นแสงได้จากอวกาศ
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นปรากฏการณ์มิลค์กี้ซี (สีฟ้าอ่อน) เครดิตภาพ: NERC Earth Observation Data Acquisition and Analysis Service at Plymouth Marine Laboratory.
เบาะแสหนึ่งเดียวที่มีเกียวกับปรากฏการณ์มิลค์กี้ซี ได้จากเรือวิจัยที่บังเอิญพบกับปรากฏการณ์นี้ ในปี 1985 นักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างน้ำมาทำการทดลอง และพบว่าปรากฏการณ์นี้อาจเกิดจากแบคทีเรียเรืองแสงขนาดเล็กที่มีความเข้มข้นสูงที่เรียกว่า “Vibrio harveyi” แบคทีเรียเรืองแสงสายพันธุ์นี้อาศัยอยู่บนพื้นผิวของสาหร่ายภายในฟองอากาศ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเรืองแสงอย่างสม่ำเสมอในทุกทิศทาง
2
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นเพียงจุดข้อมูลเดียวและอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เพื่อลดช่องว่างในการทำความเข้าใจ นักวิจัยพยายามใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่รวบรวมจากภาพถ่ายดาวเทียมเป็นระยะ ๆ
1
“แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่าทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น และเกิดขึ้นได้อย่างไร” ดร.สตีเวน มิลเลอร์ ผู้เขียนร่วมการศึกษาและศาสตราจารย์ในภาควิชาบรรยากาศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด กล่าว
1
จากการรวบรวมบันทึกที่ทราบทั้งหมดเกี่ยวกับการพบเห็นปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสง นักวิจัยสังเกตเห็นแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ลึกลับนี้ โดยพบว่า ปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสงมักปรากฏในทะเลอาหรับและน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศโลกบางประเภท เช่น ปรากฏการณ์ IOD ที่ทำให้มหาสมุทรอินเดียแปรปรวน และเอลนีโญ
1
“ภูมิภาคที่เกิดปรากฏการณ์นี้มากที่สุดคือบริเวณมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือใกล้กับโซมาเลียและโซโคตราในเยเมน โดยเกือบ 60% ของเหตุการณ์ทั้งหมดที่ทราบเกิดขึ้นที่นั่น ในขณะเดียวกัน เรารู้ว่าช่วงต่าง ๆ ของมรสุมอินเดียเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมทางชีวภาพในภูมิภาคนี้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบลมและกระแสน้ำ” ฮัดสันกล่าว
2
ภูมิภาคที่เกิดปรากฏการณ์นี้มีแนวโน้มที่เจอกับปรากฏการณ์น้ำผุดในมหาสมุทร ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน้ำที่เย็นกว่าและอุดมด้วยสารอาหารจากมหาสมุทรลึกถูกพัดขึ้นมาที่ผิวน้ำ เนื่องจากลมแรง โดยนักวิจัยทำนายว่าในภูมิภาคเหล่านี้จะเกิดปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสงประมาณหนึ่งครั้งหรือสองครั้งต่อปี
1
ตัวอย่างน้ำที่เก็บได้จากปรากฏการณ์มิลค์กี้ซี ที่มา: S. Haddock / MBARI
มิลค์กี้ซี แตกต่างจากการเหตุการณ์เรืองแสงในมหาสมุทรทั่วไปที่เกิดจาก “ไดโนแฟลกเจลเลต” (Dinoflagellate) สาหร่ายเซลล์เดียวชนิดหนึ่ง ที่จะเปล่งแสงสีน้ำเงินเมื่อถูกรบกวน เช่น ปลาว่ายผ่านหรือคลื่นซัดเข้าฝั่ง เพื่อเป็นกลไกป้องกันตัว แต่ผู้วิจัยตั้งทฤษฎีว่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดมิลค์กี้ซี เปล่งแสงเพื่อดึงดูดปลา ซึ่งจะกินแบคทีเรียและทำให้แบคทีเรียเข้าไปเจริญเติบโตในลำไส้ของสัตว์ได้
2
ดร.เอ็ดดิธ วิดเดอร์ นักสมุทรศาสตร์และนักชีววิทยาทางทะเล สงสัยว่าเหตุการณ์เรืองแสงส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในมหาสมุทรอย่างไร โดยเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตที่ซ่อนตัวอยู่ในความมืดมิดในตอนกลางวันและขึ้นมาหากินเฉพาะในความมืด
1
“แสงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการกระจายและพฤติกรรมของสัตว์ในมหาสมุทร จะเกิดอะไรขึ้นหากสัตว์ที่ต้องการซ่อนตัวได้รับแสงจากสิ่งมีชีวิตเรืองแสงมากมาย ผลกระทบต่อวัฏจักรคาร์บอนคืออะไร นี่คือการทดลองตามธรรมชาติที่มีศักยภาพในการเปิดเผยข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการทำงานของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร” วิดเดอร์กล่าวเสริม
1
ท่ามกลางคำถามมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์เรืองแสงอย่างไร และปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร
1
“เราจำเป็นต้องเข้าใจว่ากระบวนการดังกล่าวทำงานอย่างไร เนื่องจากแบคทีเรียและแพลงก์ตอนพืชมีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทร สิ่งมีชีวิตและปลาในลำดับชั้นสูงทั้งหมดต้องพึ่งพาห่วงโซ่อาหารนี้เพื่อดำรงอยู่ และการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อาหารนั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของการหมุนเวียนของดาวเคราะห์ของเรา เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้” มิลเลอร์กล่าว
อ้างอิง:
-
https://edition.cnn.com/2025/04/12/science/milky-sea-ocean-glow-mystery-database/index.html
-
https://www.earth.com/news/glowing-milky-seas-phenomenon-has-stumped-scientists-for-400-years/
-
https://futurism.com/scientists-ocean-otherworldly-glow
-
https://scitechdaily.com/what-makes-the-ocean-glow-inside-the-strange-400-year-mystery-of-milky-seas/
สิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจ
31 บันทึก
57
1
21
31
57
1
21
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย