21 เม.ย. เวลา 09:30 • ข่าว

ขีดเส้นตาย 90 วัน สหรัฐฯบังคับใช้ “ภาษีนำเข้า”ชุดใหม่ เตือนไทยอย่ารับมือแค่วิกฤติเฉพาะหน้า

นโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐ (Reciprocal tariffs ) จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยมากน้อยแค่ไหน? ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน หลัง” โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ ออกไปอีก 90 วัน
แต่นั่นก็อาจไม่ช่วยให้ธุรกิจส่งออก รอดพ้นจากมรสุมทางเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมาได้ ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า 800,000 ล้านบาท อาจหายวับไปกับตา ในระยะ 5 ปี หากไทยถูกสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีนำเข้า ที่ 36%
ขณะความคืบหน้า ในการแก้ปัญหา “ทีมไทยแลนด์” โดยรัฐบาลไทย มีกำหนดการ เข้าเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อหาทางลดผลกระทบ ในวันที่ 23 เม.ย.68 ซึ่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจา
โดยวางกรอบแนวทางในการเจรจา ผ่าน “5 มาตรการ” สำคัญ
1.การเน้นความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน เช่น การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง
2.การเปิดตลาดสินค้าเกษตรเช่น ข้าวโพด ให้สหรัฐ โดยใช้โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่น
3.การเพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากสหรัฐ เช่น ก๊าซธรรมชาติและเครื่องบินพาณิชย์
4.การคัดกรองสินค้าส่งออกเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม
5.การเพิ่มการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐ
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า หากการเจรจราสำคัญ อาจช่วยลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐได้ในระดับหนึ่ง
  • แนะรัฐบาล คัดกรองสินค้าส่งออก - ยกเลิกให้สินบนเงินค่าปรับศุลกากร
ล่าสุด ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ว่า โดยรวมเห็นด้วยกับกรอบแนวทางในการเจรจาดังกล่าว และน่าจะพอตอบโจทย์ของรัฐบาลสหรัฐได้บ้าง และหลายเรื่องในกรอบการเจรจาก็เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว เพราะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยเองในหลายด้าน
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว มากกว่าการแก้ไขวิกฤติการค้าเฉพาะหน้า มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอื่นๆ
โดย ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ไทยควรใช้โอกาสนี้ คัดกรองสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สามด้วย ทั้งการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบและโรงงานผลิต เน้นความโปร่งใสและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้า
เนื่องเป็นความจริงที่ การสวมสิทธิ์สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สามให้กลายเป็นสินค้าไทย เพื่อหลบเลี่ยงภาษีในระดับสูงในการส่งออกไปสหรัฐ มีส่วนทำให้ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐมาก จนเป็นเป้าหมายในการถูกเก็บภาษีนำเข้า
อย่างไรก็ตาม “การคัดกรองสินค้าส่งออก” เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย และอาจทำให้การส่งออกโดยรวมประสบปัญหาล่าช้าไปด้วย นอกจากนี้หากรัฐบาลมุ่งคัดกรองเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ แต่ไม่คัดกรองสินค้าที่ส่งออกไปตลาดอื่น เช่น ยุโรป ในอนาคตสินค้าไทยก็อาจจะเป็นเป้าหมายในการกีดกันการค้าจากตลาดดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมกว่าและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางคือ “การคัดกรองการลงทุน” ที่ย้ายมาประเทศไทยเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของประเทศปลายทาง เช่น สหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนจำนวนมากมาดำเนินการเล็กๆ น้อยๆ ในประเทศไทยก่อนจะส่งออกไปปลายทาง ทั้งนี้การลงทุนที่ทำให้เกิดปัญหาส่วนหนึ่งอาจเป็นการลงทุนที่ได้รับการ “ส่งเสริม” จากรัฐบาลไทยด้วย
ดังนั้น บีโอไอควรใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นในการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้การส่งเสริมเฉพาะโครงการที่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยอย่างแท้จริง เช่น สร้างงานรายได้ดีจำนวนมากแก่คนไทย คุ้มค่ากับภาษีที่ยกเว้นหรือลดหย่อนให้
นอกจากนี้ TDRI ยังเรียกร้องให้รัฐบาล ยกเลิกการให้สินบน 30% จากเงินค่าปรับจากการทำผิดกฎหมายศุลกากร ซึ่งเป็นเหตุให้มีกรณีที่เจ้าหน้าที่บางคนแสวงหาผลประโยชน์ในทางไม่ชอบ โดยการยกเลิกสินบนดังกล่าวจะทำให้ระบบศุลกากรของไทยมีความโปร่งใสมากขึ้นและเอื้อต่อการทำธุรกิจของประชาชนมากขึ้น
  • รัฐต้องรู้ตัวเลขแท้จริงจีนสวมสิทธิส่งออกไทยเท่าไหร่?
ด้าน “รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เผยว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการไทยกำลังเร่งส่งออก เพิ่มกำลังการผลิต ก่อนสู่เส้นตาย 90 วัน “ขึ้นภาษี” โดย เรือสินค้าเดินทางจากไทยไปท่าเรือชายฝั่งตะวันออกสหรัฐฯใช้เวลาเดินทาง 35-40 วัน ฉะนั้นผู้ประกอบการส่งออกไทยที่ไม่ต้องการถูกเก็บภาษี 10% ต้องเอาสินค้าขึ้นเรือโดยเร็วและสินค้าต้องถึงสหรัฐฯก่อน 27 พฤษภาคม 2568 และ แม้สินค้าจะยังไม่โดนกำแพงภาษีแต่จะเผชิญกับการถูกกดราคาจากผู้นำเข้าในสหรัฐฯอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี อีกทั้งข้อมูลสำคัญ ที่รัฐบาลไทยต้องรู้ก่อนไปเจรจาต่อรองทางการค้ากับสหรัฐฯ คือ ยอดตัวเลขส่งออกของไทยที่จีนสวมสิทธิส่งออกไปสหรัฐฯเป็นเท่าไหร่กันแน่
การไม่มีข้อมูลแน่ชัด ย่อมเสียเปรียบในการเจรจากับสหรัฐฯ และ การสวมสิทธิเหล่านี้ไม่น่าจะน้อย ดูจากมูลค่าส่งออกที่เพิ่มสูงมากในช่วงที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับตัวเลขการผลิตเพื่อการส่งออก เท่ากับว่า การส่งออกจากไทยบางส่วนเป็นเพียงทางผ่านของสินค้าจีนเท่านั้น
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ รัฐบาลทรัมป์ประกาศจะเก็บค่าธรรมเนียมเรือสินค้าของจีน การเก็บค่าธรรมเนียมอาจกระทบกับสินค้าไทยที่ใช้บริการเรือของจีนในการขนส่งสินค้า ขณะที่เพิ่มโอกาสอุตสาหกรรมต่อเรือในสหรัฐฯและธุรกิจเดินเรือของชาติอื่นในเอเชีย ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐ-จีน การย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกจะเกิดขึ้น
ไทยต้องช่วงชิงโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่นี้เช่นเดียวที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่หลังข้อตกลง Plaza Accord ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น การตอบโต้กำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ระดับ 125% ต่อ 145% ย่อมทำให้การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯอาจหยุดชะงักลงได้ สร้างผลเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและทั่วโลก เงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น จึงเริ่มมีการส่งสัญญาณจากสหรัฐฯในการหยุดเพิ่มกำแพงภาษีเพิ่มเติม
มีความเป็นไปได้มากขึ้นในการทบทวนการปรับขึ้นกำแพงภาษีต่อจีน หากไทยวางตัวเหมาะในสมรภูมินี้และสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่แข็งแกร่ง จะสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ดึงดูดทั้งเงินทุน เทคโนโลยี และบุคลากรเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนวัตกรรมให้ก้าวหน้าได้
  • ส่งจดหมายเปิดผนึก ทางออกประเทศไทย 10 ข้อ ถึง "นายกฯ"
ขณะ “รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุด มีการทำจดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมแนบ ทางออก 10 ข้อ ต่อรัฐบาลไทย ภายใต้วิกฤติครั้งนี้
โดยระบุ ว่า เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนเป็นประเด็นสำคัญที่จะมีผลกระทบไปทั่วทั้งโลก ตัวผมเองในฐานะที่เป็นผู้สังเกตุการณ์ ศึกษาวิจัย สอนหนังสือ และเขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในประชาคมอาเซียนท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และมีความเชื่อว่าการกำหนดนโยบายของประเทศควรต้องบูรณการความรู้และประสบการณ์จากทุกภาคส่วน
1. ต้องเปิดทัศนคติใหม่ (New Mindset) แล้วว่า ระเบียบโลกได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และใช้เครื่องมือทางภูมิเศรษฐศาสตร์ในการห้ำหั่นหัน โลกกำลังแตกออกเป็น 3 ห่วงโซ่มูลค่า (GVCs) นั่นคือ 1) US-led GVCs, 2) China-led GVCs และ 3) ห่วงโซ่มูลค่าของประเทศอื่นๆ ซึ่งสิ่งแวดล้อมใหม่นี้จะอยู่กับเราในระยะยาว
2. ต้องบูรณการองค์ความรู้ในทุกศาสตร์แบบสหสาขาวิชาเพื่อรับมือกับสิ่งแวดล้อมใหม่นี้ โดยมีผลประโยชน์ของชาติเป็นเป้าหมาย และอย่าสับสนระหว่างผลประโยชน์ชาติกับผลประโยชน์ส่วนตัวและ/หรือครอบครัว
3. ไทยต้องวางยุทธศาสตร์อย่างน้อย 3 ด้าน 1) ยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐ 2) ยุทธศาสตร์ต่อจีน และ 3) ต้องเล่นบทบาทนำในประชาคมอาเซียน
4. ต่อสหรัฐ เราต้องยืนยันว่าไทยไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของมหาอำนาจใด เร่งสำรวจช่องทางในการเข้าถึง Trump และ/หรือ ทีมงานใกล้ชิด และสำคัญที่สุดคือ อำนาจต่อรองของไทยต่อสหรัฐไม่ได้อยู่ในมิติเศรษฐกิจ หากแต่อยู่ในมิติความมั่นคง, การทหาร และการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นเราต้องสามารถออกอาวุธได้ในทุกมิติมิใช่เพียงแต่ การค้า การเงิน การลงทุน
5. ต่อจีน เราต้องขยายตลาดสินค้าไทยเข้าจีน เพื่อทดแทนสินค้าที่จีนเคยนำเข้าจากสหรัฐ และด้วยความเป็นพันธมิตรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมกัน เราต้องขอให้จีนควบคุมมิให้สินค้าจีนเข้ามาบุกและทำลายตลาดของผู้ประกอบการไทยในประเทศไทย พร้อมๆ กับต้องแสดงจุดยืนสนับสนุนจีนในเวทีนานาชาติในมิติที่เป็นผลประโยชน์ที่ไทยและจีนมีร่วมกัน และขอให้จีนสนับสนุนให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกเต็มของ BRICS เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ
6. ต่ออาเซียน ต้องประสานผลประโยชน์ และดำเนินยุทธศาสตร์ ราชสีห์กับหนู รวมอุปสงค์ของอาเซียนต่อสินค้าและบริการของสหรัฐเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และใช้อาเซียนเป็นอีก 1 ช่องทางในการเจรจากับสหรัฐควบคู่กับที่เราต้องดำเนินการแบบทวิภาคีด้วย และต้องให้ทั้ง 2 แทรคส่งเสริมซึ่งกันและกัน
7. ไทยต้องมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ ขั้วที่ 3 ของเกมส์ภูมิรัฐศาสตร์โลก นั่นคือ โลกมุสลิม (โลกมลายู+เอเชียใต้+แอฟริกา+ตะวันออกกลาง) พร้อมๆ กับต้องศึกษาลงลึกว่าภาษี Reciprocal tariff ที่มีอัตราแตกต่างกัน เราจะมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศใด และเราจะเสียเปรียบประเทศใด
8. ในระยะยาว ไทยต้องกระตุ้นให้ การบริโภคภายในประเทศ กลายเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัจจัยผลักดันให้การบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืนไม่ใช่การใช้นโยบายประชานิยม หากแต่ต้องเป็นการใช้นโยบายส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากรและโอกาส และการมีธรรมภิบาล
9. ในมิติการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลคงต้องทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดในการให้อิสระธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและปรับสัดส่วนกระจายการถือครองทรัพย์สินต่างๆ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
10. ใช้มิติสังคม วัฒนธรรม และ มนุษยธรรมในการเสริมสร้าง Soft Power เพื่อรับมือกับมาตรการสงครามภูมิรัฐศาสตร์ที่มากไปกว่าแค่สงครามภาษี การระงับวีซ่า การระงับทุนให้ความช่วยเหลือในหลากมิติ การหยุดการสนับสนุนทุนการศึกษา และงานวิจัย ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ การแพร่ระบาดของโรค จุดยืนในประชาคมนานาชาติ เหล่านี้ไทยต้องทำงานหนัก และสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างเพื่อนประเทศไทย (Friends of Thailand) ให้สนับสนุนไทย ช่วยไทย ในการเรียกร้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติในเวทีโลก
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
โฆษณา