เมื่อวาน เวลา 10:35 • ประวัติศาสตร์

"โป๊ปฟรานซิส" ผู้นำศาสนาหัวก้าวหน้าในยุคเปลี่ยนผ่าน

“วาติกัน” นครรัฐเล็กๆ บนเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ใจกลางกรุงโรม ประเทศอิตาลี คือศูนย์กลางอำนาจของศาสนจักรนิกายโรมันคาทอลิก หลังกำแพงนครรัฐเก่าแก่ที่มีขนาดเล็กกว่าสวนลุมพินีในกรุงเทพมหานครฯ แห่งนี้ คือโลกของรัฐศาสนาที่มีสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและประมุขสูงสุดของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ผู้คนราว 800 คนที่อยู่อาศัยหลังกำแพงส่วนใหญ่เป็นพระคาร์ดินัล นักบวช เจ้าหน้าที่โบสถ์และทหารสวิสการ์ด
ราวต้นปี 2013 พระคาดินัล ฮอร์เค มาริโอ แบร์โกกลิโอ (Jorge Mario Bergoglio) จากอาร์เจนตินาได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา องค์ที่ 266 เป็นสันตะปาปาพระองค์แรกในรอบ 1,200 ปีที่มิได้มาจากยุโรป ทรงเลือกใช้ชื่อ “ฟรานซิส” เป็นพระนามของพระองค์ เพื่อสรรเสริญเกียรตินักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี ผู้อุทิศตนแก่ผู้ยากไร้และต้นแบบของความสมถะ เรียบง่าย
AFP: Osservatore Romano
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสคือนักปฏิรูปหัวก้าวหน้า ในยุคสมัยของพระองค์เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายภายในวาติกัน โดยเฉพาะกรณีล่วงละเมิดในศาสนจักร ทรงดำเนินคดีและปลดนักบวชที่เกี่ยวข้องกว่า 400 คน ในจำนวนนี้มีระดับพระคาร์ดินัลรวมอยู่ด้วย พร้อมกับปฏิรูปกฏหมายให้ศาสนจักรมีความโปร่งใสมากขึ้น แตกต่างไปจากวาติกันในยุคพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ ที่เน้นปกป้องศาสนจักรมากกว่าผู้ถูกกระทำ
ไม่ใช่แค่การปฏิรูปภายในศาสนจักรเท่านั้น แต่พระองค์ยังเปิดกว้างต่อประเด็นสังคม ปรับเปลี่ยนศาสนจักรโบราณแห่งนี้ให้เท่าทันต่อยุคสมัย บ่อยครั้งพระองค์ได้สร้างความแปลกประหลาดใจอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทรงประกาศสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ปฏิเสธการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อพวกเขา เรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในศาสนจักร
ต่อมาในปี 2013 พระองค์ทรงรับรองเอกสารวาติกัน อนุญาตให้นักบวชคาทอลิกสามารถอวยพรคู่รักเพศเดียวกันได้ แม้จะไม่ถือว่าเป็นการสมรส แต่นั่นก็สะท้อนถึงความพยายามในการยอมรับชาว LGBTQ+ ในคริสจักรคาทอลิกมากขึ้น นโยบายนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงในศาสนจักร และพระสังฆราชบางแห่งปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามแนวทางของพระองค์
"If someone is gay and he searches for the Lord and has good will, who am I to judge?" - “หากใครเป็นเกย์ และเขาแสวงหาพระเจ้าและมีความตั้งใจดี เราเป็นใครที่จะตัดสิน" (จากบทสัมภาษณ์ หลังรับตำแหน่งพระสันตะปาปา ปี 2013)
อีกเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้คนทั่วโลก เมื่อครั้งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำศาสนจักรที่ทรงอิทธิพลองค์หนึ่ง ทรุดพระวรกายลงและจูบแทบเท้าของบรรดาผู้นำซูดานใต้ วิงวอนให้พวกเขารักษาสันติภาพและหยุดสงครามกลางเมืองจากความแตกแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และการแย่งชิงอำนาจที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 ปี
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงจูบเท้าปนระธานาธิบดีซูดาน Salva Kiir Mayardit ในกระประชุมสันติภาพระหว่างคู่ขัดแย้ง ที่นครรัฐวาติกัน 11 เมษายน 2019. Vatican Media via AFP
พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศต่อการผลักดันสันติภาพ อย่างกรณียุติข้อพิพาทระหว่างคิวบา-สหรัฐฯ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติในตะวันออกกลาง ทรงเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการต่อต้านสงครามและความรุนแรงในทุกรูปแบบ บ่อยครั้งทรงกล่าวประณามสงครามและผู้ค้าอาวุธอย่างรุนแรงและตรงไปตรงมาว่า คือผู้ค้าความตายและถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
พระสันตะปาปาฟรานซิสเยือนค่ายผู้ลี้ภัยเลบอส,กรีซ, เมษายน 2016. Andrea Bonetti/Greek Prime Minister’s Office/Getty Images via CNN
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระสันตะปาปาฟรานซิสดำรงตนด้วยความสมถะ เรียบง่าย มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ยากไร้และคนชายขอบ พระองค์เลือกที่จะพำนักในห้องพักเล็กๆ ในอาคารที่ชื่อซานตามาร์ธา ซึ่งเป็นเรือนพักรวมไว้สำหรับรับรองพระสงฆ์และแขกของวาติกัน แทนการอยู่พำนักในพระราชวังเฉกเช่นพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการชีวิตที่เรียบง่ายและใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น
หนึ่งในปราถนาสูงสุดของพระสันตะปาปาฟรานซิสคือ ทำให้ศาสนจักรเป็นที่พึ่งของผู้ยากไร้ นั่นเพราะพระองค์มาจากครอบครัวผู้อพยพชาวอิตาลี ที่หลบหนีความยากลำบากไปแสวงหาชีวิตใหม่ในอาร์เจนตินา ในยุคที่อิตาลีถูกปกครองโดยผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ “เบนิโต มุสโสลินี” พระองค์ต้องทำงานหนักตั้งแต่วัยหนุ่ม เคยเป็นทั้งภารโรงและพนักงานทำความสะอาดมาก่อน นั่นทำให้พระองค์เข้าใจชีวิตของคนธรรมดาทั่วไป
1
อาคารเก่าแก่ภายในวาติกันถูกดัดแปลงเป็นที่พักพิงสำหรับคนไร้บ้าน นอกจากอาหารและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ที่พักพิงแห่งนี้ยังให้ความสนับสนุนด้านสังคมเพื่อให้พวกเขาได้รับโอกาสเริ่มต้นชีวิตที่ดี และทรงขอให้โบสถ์คาทอลิกทั่วโลกเปิดประตูต้อนรับคนไร้บ้าน พระองค์ทรงตรัสว่า “ โบสถ์ไม่ใช่เพียงสถานที่สวดภาวนา แต่ต้องเป็นบ้านของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย "
ภายในบ้านพัก Casa Santa Marta, ที่พำนักพระสันตะปาปาฟรานซิส มีการเปิดพื้นที่บางส่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้, Photographs courtesy of the Community of Sant’Egidio 2019.
แม้พระสันตะปาปาฟรานซิสจะได้รับการยกย่องอย่างกว้าขวาง แต่กระนั้นพระองค์ก็ถูกวิจารณ์ว่าคือนักอนุรักษ์นิยมล้าหลัง เมื่อทรงปฏิเสธการแต่งตั้งสตรีเป็นนักบวชในศาสนจักร อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงรับข้อข้อเรียกร้องบางส่วน โดยเปิดโอกาสให้สตรีมีบทบาทมากขึ้นในบางตำแหน่งทางศาสนา โดยเฉพาะในบทบาทสังฆานุกร ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือพระสงฆ์ในการทำพิธีศาสนาและให้สตรีมีตำแหน่งบริหารในวาติกันมากขึ้น
จุดยืนต่อประเด็นทางสังคมและการปฏิรูปศาสนจักรเหล่านี้ ทำให้พระองค์เผชิญกับความขัดแย้งและแรงกดดันภายในศาสนจักรตลอดวาระแห่งการดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา
โฆษณา