21 เม.ย. เวลา 15:19 • การเมือง

ในวันที่ “ยุโรปไม่มีอเมริกา” แต่พวกเขาบอกว่ายังพร้อม “สู้กับรัสเซีย”

พวกเขามีแผนอย่างไร?
ขณะที่สหรัฐกำลังเจรจากับยูเครนและรัสเซียเรื่องการหยุดยิงและการยุติสงครามในอนาคต ยุโรปกำลังพยายามตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกระบวนการใดซึ่งจะกำหนดโครงสร้างความมั่นคงในอนาคตของภูมิภาคแห่งนี้และอย่างไร
1
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ การส่งกองกำลังยุโรปเข้าไปในยูเครนและ (ในอนาคตอันไกลโพ้น…) ความเป็นไปได้ของการก่อตั้ง “กองทัพยุโรป” ขึ้นโดยมีศักยภาพในการทดแทนกองกำลังอเมริกันในกรณีที่รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ใช้นโยบายต่างประเทศแบบแยกตัวออกในที่สุด ซึ่งรวมถึงการที่สหรัฐจะปฏิเสธการรับประกันความมั่นคงของยุโรปภายในนาโตโดยไม่มีเงื่อนไข [1]
1
ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2025 เป็นต้นมา มีการประชุมในระดับต่างๆ และรูปแบบต่างๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวคิดในการส่งกองกำลังร่วมยุโรปเข้าไปยังยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2025 เสนาธิการกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส พลเรือเอกโทนี ราดาคิน และพลเอกเธียร์รี เบิร์กฮาร์ดท์ ได้พบกับเซเลนสกีที่กรุงเคียฟ การประชุมดังกล่าวได้หารือเกี่ยวกับขนาดและโครงสร้าง รวมถึงองค์ประกอบของกองกำลังนานาชาติในอนาคตที่จะเข้าประจำการในยูเครน [2]
ภาพถ่ายเมื่อ 5 เมษายน 2025 เครดิตภาพ: X @reseau_internat
10 เมษายน 2025 ได้มีการจัดการประชุมกลุ่มพันธมิตรที่เรียกตัวเองว่า Coalition of the Willing (กลุ่มช่วยสนับสนุนยูเครน) ขึ้นอีกครั้งในกรุงบรัสเซลส์ โดยประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศได้ประกาศความพร้อมที่จะเข้าร่วมในข้อตกลงหลังสงคราม เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวไม่สามารถยกเว้นประเด็นเรื่องความมั่นคงทั่วทั้งยุโรปได้ กลุ่มพันธมิตรนี้จึงถือเป็นต้นแบบของพันธมิตรทางการทหารชุดใหม่ที่ได้หลุดพ้นพันธนาการทางยุทธศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อกุมภาพันธ์ปีนี้ เซเลนสกีเรียกร้องให้จัดตั้งกองทัพยุโรปที่เป็นหนึ่งเดียวในการประชุมความมั่นคงมิวนิก ในความเห็นของเขา หนึ่งในภารกิจของกองทัพดังกล่าวคือการยับยั้งรัสเซียภายใต้ปูตินและค่อยๆ แทนที่กองทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ในยุโรป ซึ่งทำหน้าที่รับประกันความมั่นคงของยุโรปมาอย่างยาวนาน ต่อมาในการให้สัมภาษณ์ เซเลนสกีกล่าวว่ายุโรปและอเมริกาควรจัดหาเงินทุนให้กองทัพยูเครน ซึ่งจะทำหน้าที่ปกป้องยุโรปจากภัยคุกคามของรัสเซีย [3]
1
  • ทรัพยากรทางด้านความมั่นคงของยุโรปเป็นอย่างไร?
โครงการความมั่นคงร่วมกันได้รับการหารือในยุโรปตั้งแต่ต้นทศวรรษปี 2000 ซึ่งรวมถึงนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วม (CFSP และ CSDP) สมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของนาโต แต่เมื่อพิจารณาถึงความไม่สงบที่ชายแดนของยุโรป ประเทศต่างๆ จึงเริ่มพิจารณาถึงการริเริ่มทางทหารภายในสหภาพยุโรปเองมากขึ้น [4]
ปัจจุบันมีปฏิบัติการทางการทหารและพลเรือน 23 แห่งที่ปฏิบัติงานภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป ไม่เพียงแต่ในยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในแอฟริกา คอเคซัส และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของการสังเกตการณ์ การช่วยเหลือในการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง การฝึกอบรม และการให้ความรู้ [5]
ภารกิจที่ใหญ่ที่สุดคือ European Military Assistance Mission in Support of Ukraine (รหัส EUMAM UA) ซึ่งเปิดตัวเมื่อพฤศจิกายน 2022 โดยภารกิจนี้ให้การฝึกอบรมและให้การศึกษาแก่ทหารยูเครนในยุโรปจำนวน 73,000 นาย ภารกิจนี้มีศูนย์สั่งการใหญ่ในกรุงบรัสเซลส์ และต่อมายุโรปได้ริเริ่มรูปแบบของการสนับสนุนการผลิตกระสุนโดยอุตสาหกรรมยุโรปเองและการประสานงานเรื่องสายการผลิตอาวุธ (จัดซื้อร่วมกันกับยุโรปเพื่อสั่งของกับอเมริกา) [4]
3
  • กองกำลังรักษาสันติภาพของยุโรปจะแก้ปัญหาในยูเครนได้จริง?
แนวคิดในการส่งทหารยุโรปในรูปแบบที่ใช้คำว่า “กองกำลังรักษาสันติภาพ” เข้าไปยังยูเครนได้รับการประกาศครั้งแรกในปี 2024 โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาครง และในช่วงฤดูหนาวของปี 2025 เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกอังกฤษได้เผยแพร่บทความในเดอะเทเลกราฟ โดยประกาศความพร้อมพื้นฐานในการส่งทหารอังกฤษเข้าไปในยูเครนเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในช่วงหลังจากสันติภาพเกิดขึ้น [6]
แต่ในภารกิจดังกล่าวตามที่นายกอังกฤษประกาศจะไม่มีอะไรเหมือนกันกับภารกิจภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป หรือภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ หรือกองกำลังข้ามชาติภายใต้สหรัฐฯ
เนื่องจากภารกิจของ Coalition of the Willing ที่มีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นแกนนำตามที่ประกาศคือ “เป็นการเลือกข้างชัดเจน” คือสนับสนุนฝ่ายยูเครนเท่านั้น เป็นการรับประกันกำลังพลที่ใช้ยับยั้งกองทัพรัสเซียทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยจะไม่มีส่วนร่วมหรือแม้แต่การสนับสนุนทางอ้อมจากสหรัฐฯ [7]
3
  • ยุโรปสามารถส่งทหารเข้ามาช่วยในยูเครนได้กี่นาย ใช้งบเท่าไร?
มีการประมาณการณ์ว่าจำนวนกองกำลังป้องกันยูเครนที่ต้องใช้ทั้งหมดประมาณ 1 ล้านนาย (รวมทหารยูเครนด้วย) โดยมีกองกำลังรัสเซียอยู่ในยูเครนตอนนี้ 600,000 นาย การมีทหารยุโรป 20,000-30,000 นายที่ไม่ได้อยู่แนวหน้าแต่เป็นแนวหลังของพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารความยาวหลักพันกิโลเมตร ถือว่าไม่ได้ช่วยด้านการจู่โจมมากนัก แต่กองกำลังยุโรปพวกนี้จะทำหน้าที่ในส่วนที่กองกำลังยูเครนไม่สามารถทำได้ เช่น การลาดตระเวนทางอากาศและทางทะเล
2
หากพวกยุโรปต้องการรักษากำลังพลจำนวน 40,000 นายไว้เป็นเวลา 10 ปี ในยูเครน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ และนี่ไม่รวมการสนับสนุนกองทัพยูเครน การลงทุนในการฟื้นฟูหลังสงคราม และความช่วยเหลือด้านงบประมาณโดยตรงแก่ยูเครนอีก [8]
ภายใต้การนำของอังกฤษ โครงสร้างที่เรียกว่า กองกำลังสำรวจร่วม (JEF) ได้เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนอกจากอังกฤษแล้ว ยังรวมถึงเดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน โดยหากรวมกับฝรั่งเศส ประเทศเหล่านี้น่าจะสามารถจัดหาทหารได้ 40,000-50,000 นาย แต่ประเด็นเรื่องการจัดหาเงินทุนสำหรับภารกิจดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียง [9]
หลังจากการประชุมครั้งล่าสุดของสมาชิกกลุ่ม Coalition of the Willing ที่กรุงบรัสเซลส์ มีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่ตกลงที่จะส่งกองกำลังทหารไปยูเครนตอนนี้ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส กลุ่มรัฐบอลติก และอีกประเทศหนึ่งที่ไม่ได้ระบุชื่อ [10]
2
การประชุมกลุ่มผู้นำประเทศของกองกำลังร่วม JEF ที่มีอังกฤษเป็นแกนนำ เครดิตภาพ: Baltic News Network
  • ยุโรปสามารถทำอะไรได้บ้างหากไม่มี “สหรัฐ” และ “นาโต”
บทบาทที่เปลี่ยนไปของสหรัฐในการรับประกันความมั่นคงของยุโรปจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของนาโตและองค์ประกอบอำนาจของสหภาพยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับการลดจำนวนและการโยกย้ายฐานประจำการของทหารสหรัฐฯ ในยุโรป รวมถึงการถอนทหารครึ่งหนึ่งจากจำนวน 20,000 นายที่ประจำการอยู่ในประเทศใกล้เขตขัดแย้งในยูเครน [11]
เฉพาะกองทัพยุโรปทั้งหมดมีจำนวนทหาร 1.5 ล้านนาย (ไม่รวมตุรกี) อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วพันธมิตรในยุโรปหลายพื้นที่ยังต้องพึ่งพากำลังทหารของอเมริกาอย่างมาก [12]
มีเพียง “ฝรั่งเศส” และ “อังกฤษ” เท่านั้นที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินรบสำหรับโจมตี แต่ยังเทียบชั้นกับสหรัฐไม่ได้ หากไม่มีเรือบรรทุกขีปนาวุธโทมาฮอว์คที่บรรทุกจากทะเลของสหรัฐ ยุโรปจะมีแท่นยิงขีปนาวุธร่อน (ทั้งใต้น้ำและบนผิวน้ำ) เพียงไม่กี่แท่นเท่านั้น ความสามารถในการต่อต้านเรือดำน้ำและการป้องกันชายฝั่งก็มีจำกัดมากเช่นกัน จะไม่มีระบบเตือนภัยและควบคุมบนอากาศเพียงพอ และจะมีปัญหาด้านข่าวกรองเกี่ยวกับการติดตั้งและการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลของรัสเซีย [13]
1
นักวิเคราะห์ทางการทหารให้ความเห็นว่า ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงกับรัสเซีย ยุโรปจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทหารอเมริกันประมาณ 300,000 นาย หรือ 50 กองพลที่มีอาวุธหนักในระดับรถถังหลายพันคัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ รถโจมตีทางบก และปืนใหญ่ [14]
หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ยุโรปก็จำเป็นต้องจัดตั้งกองกำลังขึ้นอย่างอิสระและรวมอยู่ในโครงสร้างการบังคับบัญชาทั่วไปและด้านการลำเลียงภายในยุโรปทันที กองกำลังในยูเครนจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกองทัพยุโรปที่เป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกาและได้ฝึกฝนประสบการณ์ แต่ภารกิจนี้ต้องใช้เวลาหลายปี โดยต้องสร้างฐานทัพทหารและมีอุตสาหกรรมการผลิตที่เพียงพอ
เรียบเรียงโดย Right Style
21st Apr 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Wilfried Martens Centre for European Studies>
โฆษณา