22 เม.ย. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดจุดแข็ง ‘สกุลยูโร’ จ่อผงาด ‘แทนที่’ ดอลลาร์?

ในวันที่ความเชื่อถือ ‘ดอลลาร์’ สั่นคลอน เสียงเรียกร้องให้หาสกุลเงินสำรองใหม่ของโลกเริ่มดังขึ้น ‘ยูโร’ อาจเป็นผู้ท้าชิงที่มีศักยภาพมากที่สุด ด้วยโครงสร้างการเงินที่มีเสถียรภาพ ความเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ และการหันมาทุ่มลงทุนครั้งใหญ่ของอียู ซึ่งจะปลุกพลังเศรษฐกิจยุโรปให้กลับมาอีกครั้ง
ท่ามกลางความน่าเชื่อถือใน “ดอลลาร์” ที่เสื่อมถอยลง ดังเห็นได้จาก “ดัชนี DXY” ที่ชี้วัดความแข็งแกร่งของดอลลาร์ หลุดแนวรับหลักที่ 100 แล้ว อีกทั้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็ถูกเทขาย แต่ขณะเดียวกัน มูลค่า “ทองคำ” รวมถึงสกุลเงิน “ฟรังก์สวิส” และ “ยูโร” กลับแข็งค่าสวน เมื่อเทียบกับดอลลาร์
ในสภาวะเศรษฐกิจผันผวนหนักเช่นนี้ แม้ทองคำเหมาะกับเป็นหลุมหลบภัย แต่ซื้อขายไปมาไม่ง่าย ขณะเดียวกัน ฟรังก์สวิสก็รองรับกระแสทุนได้อย่างจำกัด ตลาดเงินเยนญี่ปุ่นเล็กเกินไป ส่วนสกุลหยวนก็กลายเป็นคู่กรณีโดยตรงกับสหรัฐ
ดังนั้น “สกุลยูโร” ซึ่งเป็นสกุลเงินทางการของ 20 ประเทศ จาก 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จึงกลายเป็นสกุลเงินโดดเด่นที่สุดในขณะนี้ แต่จะมีศักยภาพผงาดขึ้นมา “แทนที่” ดอลลาร์ได้หรือไม่ ในขณะที่สหรัฐกำลังโดดเดี่ยวตัวเอง
📌 ช่องโหว่เดิมของสกุลยูโร ก่อนถูกแก้ไข
ก่อนที่จะไปถึงจุดตอบคำถามว่า “ยูโร” จะเข้ามาแทนที่ “ดอลลาร์” ได้หรือไม่ ย้อนกลับไปถึงพื้นหลังของสกุลเงินนี้ โดยยูโรถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1999 และตั้งแต่เริ่มต้น ผู้คนมองว่าน่าจะเป็นคู่แข่งหลักกับดอลลาร์ ซึ่งบรรดาผู้นำยุโรปต่างมองในแง่ดีว่า เงินยูโรจะสามารถก้าวขึ้นมามีอำนาจเหนือกว่าในระดับโลกได้
อย่างไรก็ตาม ความหวังนั้นก็เริ่มจางหายไป หลังจากเกิด “วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ปี 2010” ซึ่งกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสจุดชนวนวิกฤตินี้ จนเผยให้เห็นถึงจุดอ่อนในโครงสร้างยูโรโซน และทำให้โอกาสที่เงินยูโรจะขึ้นมาทัดเทียมดอลลาร์ลดน้อยลงไป
ปัญหาสำคัญในช่วงนั้น คือ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แทรกแซงช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบภาวะวิกฤติได้รวดเร็วพอ อันเนื่องจากติดขัดด้วยกรอบระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งต่างจากธนาคารกลางสหรัฐที่จะเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล และอัดฉีดเงินทุนได้อย่างรวดเร็ว เพื่อหยุดความตื่นตระหนกและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น ในช่วงวิกฤตการณ์ยูโร เมื่อนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาลบางประเทศ เช่น กรีซ หรืออิตาลี และเทขายพันธบัตรของประเทศเหล่านั้น ประกอบกับธนาคารกลางยุโรปไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ผลลัพธ์คือ ความน่าเชื่อถือของยูโรได้รับผลกระทบ
อีกปัญหาหนึ่งในสมัยนั้น คือ ระบบธนาคารของยุโรปแยกกันตามประเทศ ไม่ได้รวมศูนย์เหมือนในสหรัฐ
เมื่อรัฐบาลมีปัญหาการเงิน ธนาคารในประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลของชาติไว้ไม่น้อย ก็พลอยได้รับผลกระทบด้วย
ในขณะเดียวกัน หลังธนาคารมีปัญหาทางการเงิน รัฐบาลก็ต้องเข้ามาอุ้มด้วยงบประมาณของรัฐ จนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปอีก กลายเป็น “วงจรร้าย” ที่รัฐบาลอ่อนแอ ทำให้ธนาคารอ่อนแอ แล้วก็ย้อนกลับมาทำให้รัฐบาลแย่ลงอีก
เมื่อปัญหาประเทศหนึ่งไม่ได้รับการแก้ไขเร็วพอ ก็สามารถลากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงด้วย
📌 อียูหลังวิกฤติ 2010 จาก “ตั้งรับ” สู่ “รุก” เสริมแกร่งยูโรโซน
หลังจากวิกฤติหนี้ยุโรปในครั้งนั้น นิตยสาร The Economist รายงานว่า กลุ่มประเทศยูโรโซนจึงได้ปรับปรุงระบบการเงินของตนเองให้ดีขึ้น เน้นบทบาทจาก “รับ” เป็น “รุก” คล้ายเฟด เพื่อลดความเสี่ยงประวัติศาสตร์ซ้ำรอย โดยมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ในครั้งนั้นได้กล่าวไว้อย่างโด่งดังในปี 2012 ว่า “ECB จะทำทุกวิถีทาง เพื่อรักษาเงินยูโรไว้”
เห็นได้จากในช่วงโควิด-19 ธนาคารกลางยุโรปได้จัดตั้งโครงการซื้อพันธบัตรครั้งใหญ่ ด้วยงบประมาณกว่า 1.8 ล้านล้านยูโร เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
ในปี 2022 เมื่อ “ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง” จนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในประเทศยูโรโซนที่อ่อนแอกว่า ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ECB จึงตั้งโครงการซื้อพันธบัตรแบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อหยุดยั้ง “ส่วนต่าง” ระหว่างต้นทุนกู้ยืมของประเทศที่แข็งแกร่งกับประเทศที่อ่อนแอไม่ให้กว้างจนเกินไป
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 สหภาพยุโรปได้เปิดตัวแผนขนาดใหญ่ คือ “กองทุนฟื้นฟูมูลค่า 807,000 ล้านยูโร” เพื่อช่วยให้ประเทศที่อ่อนแอกว่าฟื้นตัว
1
เงินทุนนี้มาจากหนี้สินร่วมของสหภาพยุโรป ซึ่งหมายความว่าทุกประเทศในอียู จะร่วมกันรับผิดชอบในการกู้ยืม
สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ที่เข้มแข็งขึ้น สหภาพยุโรปจะไม่ปล่อยให้ประเทศสมาชิกใดต้องเผชิญวิกฤติเพียงลำพัง จนส่งผลให้ยูโรโซนได้รับความเชื่อมั่น และสกุลเงินยูโรเป็นที่น่าดึงดูดใจยิ่งขึ้นสำหรับนักลงทุนทั่วโลก
1
นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป ได้กลายเป็นผู้กำกับดูแลหลักของธนาคารขนาดใหญ่ที่สุด 114 แห่งในยุโรป ซึ่งธนาคารเหล่านี้รวมกันแล้วถือครอง “สินทรัพย์ทางการเงินถึง 82%” ของระบบธนาคารในทวีป
📌 การลงทุนในยุโรปกำลังกลับมา
ด้วยกองทุนฟื้นฟูจากการระบาดใหญ่ของอียูได้สร้างหนี้สินร่วมจำนวนมาก ซึ่งปรากฏในรูปของพันธบัตรที่ถูกค้ำประกันโดยประเทศสมาชิกอียูทั้งหมดร่วมกัน ไม่ใช่เพียงพันธบัตรของแต่ละประเทศ เช่น อิตาลี หรือสเปน
พันธบัตรเหล่านี้ถูกมองว่ามีความปลอดภัยและมีเสถียรภาพมากขึ้น และนักลงทุนก็ชื่นชอบสิ่งนี้ ดังนั้น ตอนนี้จึงมี “สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำของยุโรป” ให้เลือกซื้อมากขึ้น
ขณะเดียวกัน “เยอรมนี” พี่ใหญ่อียู ซึ่งปกติแล้วจะระมัดระวัง ก็เริ่มใช้จ่ายเงินครั้งใหญ่ในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกลาโหม ซึ่งระดับการใช้จ่ายนี้มีแนวโน้มเพิ่มจาก 2% เป็น 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จนทำให้ยุโรปเป็นที่น่าดึงดูดใจในการลงทุนมากขึ้น
📌 โครงสร้างการเงินที่น่าเชื่อถือ
ในขณะทิศทางผู้นำสหรัฐที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ สถาบันต่าง ๆ ในอียูกลับได้รับการมองว่า มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือกว่าสถาบันของอเมริกา ด้วยกรอบระเบียบที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากการโหวตของ 27 ประเทศ มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ไม่ให้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ต่างจากในระบบอเมริกาที่อาจเสี่ยงต่อการลุแก่อำนาจได้มากกว่า อย่างกรณีประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการปลดประธานเฟด
สิ่งนี้จึงทำให้เงินยูโรดูมีเสถียรภาพมากกว่าดอลลาร์ และมีความเสี่ยงน้อยกว่าต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกะทันหัน ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
นอกจากนี้ ยูโรโซนมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่ซับซ้อน โดยมีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนวิธีบริหารเงินยูโรแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน
📌 ยูโรจะผงาดแทนที่ดอลลาร์ได้หรือไม่
เมื่อสหรัฐกำลังลดบทบาทตัวเองในการค้าโลก จากการตั้งกำแพงภาษี รวมถึงทรัมป์ก็ต้องการลาออกจากองค์การค้าโลก (WTO) ถือเป็นผลบวกให้ยุโรปเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้ และอาจนำไปสู่การที่ “ยูโร” กลายเป็นสกุลเงินที่โดดเด่นยิ่งขึ้นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
เมื่อมีประเทศจำนวนมากขึ้นหันมาทำการค้ากับยุโรป จำนวนบัญชีเครดิตและบัญชีเงินฝากที่ถือครองเป็นเงินยูโรก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า สถาบันการเงินระดับโลกจะถือครองเงินยูโรในบัญชีของตนเองมากขึ้น และสิ่งนี้จะเพิ่มอุปสงค์ต่อสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปสกุลเงินยูโร
ทั้งนี้ ยุโรปอาจสามารถขึ้นเป็น “ผู้นำระเบียบการค้าโลกใหม่” ที่ยึดโยงกับหลักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม เช่น การค้าเสรีและตลาดเปิด โดยการทำเช่นนั้น ยุโรปจะสามารถมีอิทธิพลต่อการทำงานของระบบการเงินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านต่าง ๆ เช่น กฎเกณฑ์การค้า การเงิน และการใช้สกุลเงิน
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปมองในแง่ดี โดยกล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่า ยุโรปกำลังได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ
ในงานวิจัยของเอลิซาเบธ เคมป์ฟ รองศาสตราจารย์ภาคการเงินแห่งคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า ธนาคารและผู้จัดการสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะลงทุนน้อยลงในประเทศที่รัฐบาลมีมุมมองเศรษฐกิจที่แตกต่างจากของตนเอง ซึ่งสหรัฐในขณะนี้กำลังต่อต้านระบบการค้าเสรี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สถาบันการเงินสนใจที่จะลงทุนในประเทศที่มีความเชื่อทางการเมือง และอุดมการณ์ที่สอดคล้องกัน
อย่างไรก็ตาม การขึ้นมาของยูโรก็มีความท้าทายหลายประการ เช่น ฝรั่งเศสและอิตาลีมีระดับหนี้สินที่สูง และจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถจัดการหนี้สินนี้ได้อย่างยั่งยืน แทนที่จะเพิ่มการออกพันธบัตรรัฐบาล
ส่วนเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มีภาระหนี้สินที่ไม่มากเท่าประเทศอื่น ๆ ในอียู ดังนั้นจึงควรเพิ่มการลงทุน โดยการลงทุนในภาคส่วนสำคัญต่างๆ จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้สร้างสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เช่น พันธบัตร หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งสามารถดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกได้
หากเศรษฐกิจทั่วทั้งสหภาพยุโรปเกิดการเติบโต จะนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นสำหรับสินทรัพย์ที่กำหนดราคาเป็นเงินยูโร เช่น พันธบัตรรัฐบาล ผลตอบแทนที่สูงขึ้นนี้จะทำให้สินทรัพย์เหล่านี้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการเงินยูโรทั่วโลกเพิ่มขึ้น และเสริมสร้างสถานะของ “เงินยูโร” ในเศรษฐกิจโลกให้ผงาดขึ้นมา
โฆษณา