21 เม.ย. เวลา 21:54 • สุขภาพ

อุ้มแรงไป ทำให้เด็กโง่ จริงไหม

วลีเด็ดจากรายการโหนกระแสล่าสุด อย่าง "ตอนเด็กๆ แม่อาจจะอุ้มแล้วเขย่าแรงเกินไป โตมาเลยโง่.."
อาจจะฟังดูตลก แต่ในทางการแพทย์ เรามีภาวะความเจ็บป่วยที่เกิดจากการอุ้มหรือเขย่าเด็กแรงเกินไป
ภาวะดังกล่าวถูกเรียกทางการแพทย์ว่า Shaken Baby Syndrome (SBS)
Shaken Baby Syndrome (SBS) เป็นภาวะรุนแรงที่เกิดจากการที่ทารกหรือเด็กเล็กถูกเขย่าอย่างรุนแรง ทำให้สมองได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง อาการนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบของการทำร้ายร่างกายเด็กที่พบได้บ่อย และสามารถก่อให้เกิดผลเสียถาวรต่อพัฒนาการของเด็ก หรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
1
เด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงอายุไม่เกิน 2 ปี มีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการเขย่า เนื่องจากกล้ามเนื้อคอที่ยังไม่แข็งแรงพอจะพยุงศีรษะได้ดีและสมองยังมีพัฒนาการไม่เต็มที่ และลอยอยู่ในโพรงกะโหลกศีรษะ
เมื่อเด็กถูกเขย่าแรง ศีรษะจะเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว ทำให้สมองกระแทกกับกะโหลกศีรษะ เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือด ทำให้มีเลือดออกในสมองหรือรอบ ๆ สมอง รวมถึงอาจมีการบาดเจ็บของเนื้อสมองโดยตรง
ในระยะเฉียบพลัน เด็กอาจซึม หมดสติ ชัก หายใจผิดปกติ การตอบสนองต่อแสงของรูม่านตาผิดปกติ อาการอ่อนแรงหรือเกร็ง การกินอาหารลดลงหรือกินได้ยาก หากรุนแรงอาจพบเลือดออกในจอประสาทตา (Retinal hemorrhage) หรือเกิดความเสียหายในสมอง
ส่วนในระยะยาว SBS อาจทำให้เกิดปัญหาการเรียนรู้และพัฒนาการล่าช้า มีปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว หรืออาจเกิดความเสียหายที่รุนแรงทางสมองในระยะยาว และทำให้เสียชีวิตได้
คนเป็นพ่อเป็นแม่ หรือผู้ปกครอง จึงควรมีความรู้และจิตสำนึก เลี้ยงดูเด็กด้วยความทะนุถนอมและระมัดระวัง แต่หากพลาดหรือเกิดอุบัติเหตุ และสงสัยว่าเด็กอาจมีภาวะ SBS ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด การวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็วสามารถช่วยลดความเสียหายต่อสมองและเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวได้
อ้างอิง
American Academy of Pediatrics, Committee on Child Abuse and Neglect. (2001). Shaken baby syndrome: Rotational cranial injuries—technical report. Pediatrics, 108(1), 206–210.
Christian, C. W., & Block, R. (2009). Abusive Head Trauma in Infants and Children. Pediatrics, 123(5), 1409–1411.
โฆษณา