24 เม.ย. เวลา 04:04 • ความคิดเห็น

โลกกำลังเปลี่ยนขั้ว...แล้วไทยอยู่ตรงไหนของแรงหมุน ?

จากความหวังที่ดังขึ้น สู่โอกาสที่ต้องนิยามใหม่ให้ชัดเจน
“บางทีเราไม่ได้ขาดทรัพยากร เราแค่ไม่รู้ว่ากำลังถืออะไรอยู่ในมือ”
เสียงจากหลายเวทีในไทยเริ่มพูดถึงโอกาสใหม่ พูดถึงการเคลื่อนย้ายของทุน การตั้งฐานผลิตใหม่ การปิดตัวของโรงงานในจีน หรือการที่โลกไม่สามารถพึ่งพาซัพพลายเชนชุดเดิมได้อีกต่อไป
มันไม่ใช่เสียงใหม่
แต่มันเริ่มดังขึ้น เพราะโลกกำลังร้อนขึ้น ทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และเชิงอารมณ์ของตลาดโลก
คำถามที่ยังไม่มีใครตอบชัดคือ
เสียงนี้เป็นสัญญาณจริงหรือเป็นแค่เสียงสะท้อนของความหวัง?
เราพูดถึง Medical Hub, EV, Logistics, Digital Infrastructure และการเป็น Gateway มานาน
ถ้ามองให้ลึก ถึงบทบาทของไทยในระบบโลก
เราอาจไม่ได้เสียเปรียบ แต่ก็ยังไม่ได้นิยามจุดยืนของตัวเองให้ชัดพอจะสร้างอนาคต
เราถูกพูดถึงว่าอยู่ กลาง ของ CLMV
เรามีหมอเก่ง โครงสร้างพื้นฐานพร้อม และไม่ได้ผูกติดกับจีนลึกแบบเวียดนาม แต่การอยู่ “กลาง” ไม่ได้แปลว่าสามารถกำหนดทิศทางได้ และการ “ไม่เสียเปรียบเท่าคนอื่น” ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “การได้เปรียบ”
ถ้าหมายถึงตลาดใหญ่  เวียดนามติดจีนมากกว่าไทย
ถ้าหมายถึงแรงงานต้นทุนต่ำ  ลาวและกัมพูชานำหน้า
ถ้าหมายถึงการเมืองมั่นคง  อินโดนีเซียเพิ่งเลือกตั้งผ่านอย่างสงบ
ถ้าหมายถึง Soft Power  เกาหลีใต้ทำรายได้จากอุตสาหกรรมบันเทิงมากกว่า GDP บางประเทศ
แล้วความได้เปรียบของไทยคืออะไร?
ไทยได้เปรียบจริง หรือแค่ได้อยู่ในสนามเดียวกับคนที่เสียเปรียบ?
เสียงจากนักธุรกิจบางคนบอกว่า เราน่าจะได้ประโยชน์จากสงครามการค้า
แต่ต้องแยกให้ออกระหว่าง ได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง กับ แค่ไม่โดนเสียหายเหมือนคนอื่น
หลายประเทศเจ็บหนักจากการ ตีกันระหว่างจีน–สหรัฐ แต่ไทยยังดูเหมือนไม่กระทบมากเท่า ?
MEDICAL HUB เราเก่งแต่ยังไม่ได้เป็นระบบ
ไทยมีโรงพยาบาลระดับโลก มีบุคลากรแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
ผู้ป่วยจากตะวันออกกลาง, CLMV, และญี่ปุ่น ยังคงเลือกไทยเป็นจุดหมายหลักในการรักษา
แต่เวียดนามเริ่มมีการลงทุนข้ามชาติใน biotech
เอกชนจับตลาดการวินิจฉัยทางการแพทย์ระดับสูง และเร่งสร้างระบบ telemedicine อย่างเป็นรูปธรรม
ในขณะที่ไทยยังมอง Medical Hub เป็นเพียง โรงพยาบาลกับหมอ
ในโลกอนาคต  “คนเก่ง” อาจไม่พอ ต้องเป็น ประเทศที่ออกแบบระบบให้คนเก่งอยู่ได้ โตได้ เชื่อมโยงได้ด้วย
ระบบกลางด้านสุขภาพที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานโลกยังไม่มี
การใช้เทคโนโลยี AI, IoT, Blockchain ยังไม่ฝังอยู่ในระบบประกันหรือการให้บริการจริง
พื้นที่ทดลองสำหรับ startup ด้านสุขภาพยังถูกจำกัดทั้งโดยข้อกฎหมายและโครงสร้างระบบราชการ
ในส่วนของ EV  เราได้เป็นฐานการประกอบ แต่ยังไม่มีอุตสาหกรรมด้านสมองของระบบ
หลังปี 2022 ที่ยอดจดทะเบียนรถ EV ยังอยู่ราว 9,700 คัน  ปี 2023 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อยอดพุ่งขึ้นถึงกว่า 76,000 คัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 600% ในเวลาเพียงปีเดียว
แม้ในปี 2024 ตัวเลขจะเริ่มทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 70,000 คัน ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า แต่ momentum ในเชิงการลงทุนยังแรงไม่หยุด BYD, Great Wall, Neta ทยอยตั้งฐานผลิต
รัฐบาลไทยให้สิทธิประโยชน์มากมาย และเราอาจกลายเป็นประเทศที่ มีรถ EV วิ่งเยอะที่สุดในอาเซียน แต่คำถามคือ เมื่อประกอบเสร็จแล้ว ประเทศไทยได้อะไรที่เป็นของเราบ้าง?
เรายังไม่มีศูนย์วิจัยของตัวเอง ยังไม่มีระบบ software control ที่ถูกพัฒนาโดยคนไทย
แบรนด์ต่างชาติเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้จากถนนไทย แต่เรายังไม่มี sandbox หรือ data lake (แหล่งข้อมูลดิบปริมาณมาก) ที่สามารถใช้ข้อมูลนั้นกลับมาต่อยอด ทั้งที่เราเต็มไปด้วยวิศวกร นักออกแบบซอฟต์แวร์ฝีมือดี กลับไม่มีพื้นที่ให้เขาออกแบบ “สมองของระบบ” ด้วยตัวเอง
เราอาจไม่ได้ขาดคนเก่ง เราแค่ไม่มีสนามให้เขาเติบโตพร้อมกับระบบ
ถ้าวันหนึ่งโลกแบนจีน  ไทยอาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมหรือเราจะกลายเป็น collateral damage หรือไม่ ?
หรือเรามี leverage บางอย่างที่ใช้ต่อรองได้?
LOGISTICS  ถ้าเราไม่กล้าเปิดข้อมูล เราอาจไม่มีที่ยืนในเกมที่ต้องใช้ ความไว้วางใจ เป็นทุน
ประเทศไทยพูดถึงการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคมานาน แต่ในโลกยุค supply chain ซับซ้อนหลายชั้น และเวลามีราคาแพงกว่าเงิน ศูนย์กลางไม่ได้หมายถึง การอยู่กลางแผนที่ แต่มันคือการอยู่ตรงจุดที่คนเชื่อถือพอจะฝากของไว้ได้
อินโดนีเซียมี Sea Toll Road เชื่อมหมู่เกาะ
มาเลเซียเร่งสร้างระบบดิจิทัลท่าเรือ Klang  สิงคโปร์ไม่ใช่แค่ท่าเรือ แต่คือระบบที่ทุกคนยอมให้มันเป็น node กลางของทั้งภูมิภาค
แล้วไทยมีอะไร?
เรายังไม่มี single-window logistics ที่เชื่อมโยงรัฐ เอกชน ผู้ให้บริการเข้าด้วยกัน
ไม่มีระบบ track & trace ที่สามารถบอกสถานะสินค้าได้จริงแบบเรียลไทม์
หลายคนอาจแย้งว่า “ก็มีแล้วไม่ใช่หรือ?”
ใช่ครับ ระบบ Track & Trace สำหรับพัสดุรายย่อยในไทยมีมานาน แต่ในระดับประเทศ เรายังไม่มีระบบที่เชื่อมต่อทั้งรัฐ เอกชน คลัง ด่านศุลกากรขนส่งระหว่างประเทศแบบครบวงจร ไม่มีแพลตฟอร์มกลางที่ให้เห็น สถานะของสินค้าทั้งหมดในห่วงโซ่ แบบเรียลไทม์ ก็เหมือน ไม่มี
ความน่าเชื่อถือระดับสากล ที่ทำให้นักลงทุนรู้ว่า ถ้าฝากของไว้กับไทย เขาจะรู้แน่ ๆ ว่าของอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร อยู่ในสถานะอะไร
ถ้าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์จริง ๆ สิ่งที่ต้องเริ่ม ไม่ใช่แค่ระบบขนส่ง แต่คือ การออกแบบข้อมูลที่เชื่อมได้ เชื่อถือได้ และตรวจสอบได้จริง
นักลงทุนไม่ใช่ไม่ชอบไทย
เขาแค่ยังไม่แน่ใจว่า ถ้าวางของไว้กับไทย จะรู้ไหมว่าของอยู่ตรงกระบวนการไหนแล้ว?
ถ้าไทยต้องการเป็น hub จริง เราต้องกล้าเปิด data ต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูล แต่ไม่ขวางการเชื่อมโยง
ต้องสร้าง trust architecture แบบที่นักลงทุนไม่ต้องถามซ้ำว่า ขอข้อมูลนี้ดูได้ไหม? แต่เขาต้องรู้ว่า ถ้าอยู่ในระบบของไทย มันแม่น มันเร็ว มันไว้ใจได้
และ ความน่าเชื่อถือแบบนี้ ไม่มี shortcut ครับ
มันต้องออกแบบจาก inside-out ไม่ใช่พรีเซนต์ให้สวย แต่ไม่มี data flow ที่เชื่อมจริง
TOURISM  ถ้าเรายังวัดแค่จำนวน  เราอาจพลาด “ความรู้สึก” ที่ทำให้เขาอยากกลับมา
หลังโควิด โลกท่องเที่ยวเปลี่ยน นักท่องเที่ยวไม่ได้หาความสะดวกที่สุด แต่เขาหา ความรู้สึกที่เชื่อมโยง กับสถานที่ ผู้คน และตัวเอง
ถ้าเราขายแค่ภาพเราอาจไม่เหลือ ความรู้สึก ที่ทำให้คนอยากกลับมา
ประเทศที่เคยเน้นภาพลักษณ์ เริ่มกลับมาออกแบบ “ความจริงใจ”
ญี่ปุ่นเปิดพื้นที่พักใจ
เกาหลีสร้างโมเดลการท่องเที่ยวที่ไม่เน้นร้านหรู หรือ สถานที่แลนด์มาร์ก แต่พาเข้าไปในชุมชน ชีวิต วัฒนธรรม และใช้คำว่า trust มากกว่า fun
ไทยยังคงมีทุกอย่าง  ธรรมชาติ, อาหาร, คน
แต่เรายังวัดการท่องเที่ยวด้วยจำนวนเที่ยวบินที่ลง หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่าน immigration ต่อวัน
เราไม่เคยวัดว่า มีนักท่องเที่ยวกี่คนที่อยากกลับมาอีก เพราะรู้สึกดี มีนักท่องเที่ยวกี่คนที่ บอกต่อกันว่าเมืองไทยเยียวยาใจได้
ถ้าเรายังเน้นแต่ปริมาณ โอกาสที่แท้จริงของประเทศไทย  ในการเป็นประเทศที่คนมาแล้วรู้สึกเหมือนได้กลับบ้านอาจจะหายไปโดยที่เราไม่รู้ตัว
เราต้องออกแบบการท่องเที่ยวใหม่ทั้งเรื่อง ให้เชื่อมสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น
เราต้องมีระบบที่ให้รายได้เข้าถึงชุมชน ไม่ใช่ไหลกลับไปหา platform ท่องเที่ยวกลาง ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเลย
เราอาจไม่ต้องแข่งขันด้วยงบโฆษณา แต่แข่งขันด้วยความหมายของการเดินทาง เพราะสุดท้าย ประเทศที่คนอยากกลับมา ไม่ใช่ประเทศที่ถูกที่สุด หรือสะดวกที่สุด แต่คือประเทศที่เขารู้สึกว่า “เข้าใจเขา” โดยไม่ต้องพูด
บทสรุป : โอกาสของไทยไม่ได้หายไป
มันยังอยู่ครับ  และมากกว่าที่หลายคนคิด แต่เราอาจกำลังปล่อยมันกลายเป็น โอกาสของคนอื่น
ถ้าเรายังไม่กล้านิยามว่า “ของเรา” ต้องมีอะไรอยู่ข้างใน
โอกาสคือช่องว่างที่คนอื่นยังไม่กล้าเข้า โอกาสคือเรื่องที่ยังไม่มีใครครองเรื่องเล่าได้เต็มที่
โอกาสคือสิ่งที่ไทยมีต้นทุน แต่ยังไม่เคยออกแบบให้กลายเป็นระบบที่สร้างอนาคตได้จริง
เราไม่ต้องเริ่มจากของใหญ่
แต่ควรเริ่มจากสิ่งที่เชื่อมได้จริง เช่น
พื้นที่ทดลองด้านสุขภาพที่ไม่ติดกับดักกฎหมายเก่าหรือระบบ logistics ที่เปิดให้เห็นข้อมูลร่วมระหว่างรัฐ–เอกชน
และถ้าเรายังไม่เริ่มตอนนี้ อีก 3 ปีข้างหน้า เราอาจยังมีทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุด
“อำนาจในการออกแบบอนาคตของตัวเอง”
#ทางแยกประเทศไทย #โอกาสประเทศไทย
โฆษณา