22 เม.ย. เวลา 23:00 • ข่าวรอบโลก

เปิดขั้นตอนการเลือกพระสันตะปาปา เบื้องหลังการประชุม ‘คอนเคลฟ’

เมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ โลกจับตาการเลือกองค์ใหม่ เปิดพิธีลับ “คอนเคลฟ” เบื้องหลังการลงคะแนนของคณะพระคาร์ดินัล
หลังการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ความสนใจในขณะนี้หันไปสู่การคัดเลือกผู้สืบตำแหน่งพระสันตะปาปาพระองค์ต่อไป ซึ่งจะดำเนินการในกระบวนการที่เรียกว่า “คอนเคลฟ” (conclave) คำในภาษาละตินที่แปลว่า “ห้องที่สามารถล็อกได้” หรือพูดง่าย ๆ ว่า “ห้องปิด”
สมาชิกของคณะพระคาร์ดินัลจะลงคะแนนเสียงหลังประตูที่ปิดล็อกของโบสถ์น้อยซิสทีน ในนครวาติกัน ซึ่งมีชื่อเสียงจากภาพจิตรกรรมฝาผนังเพดานที่วาดโดยมีเกลันเจโล พระคาร์ดินัลซึ่งโดดเด่นด้วยชุดครุยสีแดงนั้นได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาแต่ละองค์เพื่อมีสิทธิเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ถัดไป
โดยพระคาร์ดินัลที่มีอายุไม่เกิน 80 ปีเท่านั้นจึงจะมีสิทธิออกเสียงในคอนเคลฟ จากสมาชิกคณะพระคาร์ดินัลทั้งหมด 252 คน ขณะนี้มี 138 คนที่มีคุณสมบัติในการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่
เป็นเวลาหลายศตวรรษที่คณะพระคาร์ดินัลถูกครอบงำโดยชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวอิตาเลียน ความจริงแล้ว ครั้งแรกที่พระคาร์ดินัลที่ไม่ใช่ชาวยุโรปมีสิทธิออกเสียงในคอนเคลฟ เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 เท่านั้น โดยอาร์ชบิชอปแห่งบัลติมอร์ เจมส์ กิบบอนส์ ได้ลงคะแนนในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาในปี 1903 ปัจจุบัน คณะพระคาร์ดินัลมีสมาชิกจากกว่า 90 ประเทศ โดยพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแต่งตั้งสมาชิกเกือบ 80% ของทั้งหมด
การจัดคอนเคลฟเพื่อเลือกพระสันตะปาปานั้นเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมายาวนาน โดยเริ่มต้นในปี 1274 ภายใต้พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 10 เพื่อรับมือกับความวุ่นวายในการเลือกตั้งของพระองค์เอง ซึ่งกินเวลานานเกือบสามปี
แม้พิธีกรรมจะเก่าแก่ แต่ผลลัพธ์สามารถสร้างความประหลาดใจได้ เช่นในกรณีที่พระสันตะปาปาฟรานซิสได้รับเลือกในปี 2013 ในฐานะพระสันตะปาปาที่ไม่ใช่ชาวยุโรปองค์แรกในรอบเกือบ 1,300 ปี และยังเป็นพระสันตะปาปาจากคณะเยสุอิตพระองค์แรกอีกด้วย
พิธีคอนเคลฟเริ่มต้น
ก่อนการเริ่มคอนเคลฟ คณะพระคาร์ดินัลจะประชุมกันในสิ่งที่เรียกว่า “การประชุมใหญ่สามัญ” (general congregations) เพื่อหารือถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ศาสนจักรกำลังเผชิญอยู่ การประชุมนี้ยังเปิดโอกาสให้พระคาร์ดินัลหน้าใหม่และผู้ที่มาจากพื้นที่ห่างไกลได้ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมคณะ
1
สองถึงสามสัปดาห์หลังพิธีศพของพระสันตะปาปา คอนเคลฟจะเริ่มต้นขึ้น พระคาร์ดินัลจะเดินเป็นขบวนเข้าสู่โบสถ์น้อยซิสทีน ซึ่งจะมีการติดตั้งเครื่องรบกวนสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันการดักฟัง
รวมถึงตัดสัญญาณ Wi-Fi และโทรศัพท์มือถือ ขณะเดินเข้าสู่โบสถ์ พระคาร์ดินัลจะร้องเพลงสวดภาษาละติน “Come Holy Spirit” จากนั้นจะสาบานต่อพระคัมภีร์ว่า จะเก็บงำการประชุมคอนเคลฟเป็นความลับ
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการเหล่านี้ ผู้อำนวยการพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของพระสันตะปาปาจะกล่าวเสียงดังเป็นภาษาละตินว่า “Extra Omnes” ซึ่งแปลว่า “ทุกคนออกไป” จากนั้นประตูของโบสถ์น้อยซิสทีนจะถูกปิดล็อก และพิธีคอนเคลฟจะเริ่มขึ้น
กระบวนการลงคะแนน
พระคาร์ดินัลที่มีสิทธิเลือกตั้งพระสันตะปาปาจะนั่งตามลำดับตำแหน่ง โดยทั่วไปคณบดีแห่งคณะพระคาร์ดินัลจะนั่งเป็นลำดับแรก แต่คณบดีคนปัจจุบัน คาร์ดินัลโจวานนี บัตติสตา เร มีอายุเกินเกณฑ์และจะไม่เข้าร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จะนำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศแห่งวาติกัน คาร์ดินัลเปียโตร ปาโรลิน
เมื่อพระคาร์ดินัลรวมตัวกันครบ จะมีการสุ่มเลือก 9 คนเพื่อดำเนินกระบวนการเลือกตั้ง โดย 3 คนจะทำหน้าที่เป็น “ผู้ตรวจนับ” (scrutinizers) เพื่อรวบรวมและอ่านบัตรลงคะแนนออกเสียง
หลังจากเขียนชื่อของผู้สมัครที่ตนเลือกลงในบัตร พระคาร์ดินัลแต่ละคนจะเดินไปด้านหน้าของโบสถ์และวางบัตรลงบนจานซึ่งตั้งอยู่เหนือโกศหน้าผู้ตรวจนับ ขณะวางบัตรลงในโกศ พวกเขาจะกล่าวว่า
ข้าพเจ้าเรียกพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้จะทรงพิพากษาข้าพเจ้า เป็นพยานว่า ข้าพเจ้ามอบเสียงนี้ให้แก่ผู้ที่ข้าพเจ้าเชื่อว่า สมควรได้รับเลือกจากพระเจ้า
พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะได้รับเลือกโดยเสียงข้างมากสองในสาม หากไม่สามารถบรรลุเสียงข้างมากนี้ในการลงคะแนนครั้งแรก บัตรลงคะแนนทั้งหมดจะถูกเผาในเตาไฟ ควันที่ลอยขึ้นจากปล่องไฟของโบสถ์น้อยซิสทีนจะเป็นสีดำ เพื่อแจ้งต่อชาวโลกว่ายังไม่มีการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่
ประเพณีนี้เริ่มต้นในสมัยการเลือกตั้งพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ในปี 1914 ปัจจุบันมีการเติมสารเคมีเพื่อให้แน่ใจว่าควันจะเป็นสีดำ เนื่องจากในการเลือกตั้ง พระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เคยเกิดความสับสนในเรื่องสีของควัน
ในวันถัดไป และในทุกวันหลังจากนั้น จะมีการลงคะแนนไม่เกินวันละ 4 ครั้ง หากยังไม่ได้เสียงข้างมาก ทั้งพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 และฟรานซิส ต่างก็ได้รับเลือกหลังการลงคะแนนไม่กี่ครั้ง 4 ครั้งในกรณีของเบเนดิกต์ และ 5 ครั้งในกรณีของฟรานซิส ตามกฎที่กำหนดโดยเบเนดิกต์ หากยังไม่มีการเลือกพระสันตะปาปาหลังผ่านไป 13 วัน จะมีการจัดวันอธิษฐานและไตร่ตรอง แล้วจึงจำกัดการเลือกให้เหลือเพียงผู้สมัครสองคนที่ได้คะแนนสูงสุด โดยคนใดคนหนึ่งจะต้องได้รับเสียงข้างมากสองในสาม
กฎใหม่นี้ นักวิจารณ์บางคนมองว่า อาจนำไปสู่การเลือกตั้งที่ยืดเยื้อหรือถึงขั้นชะงักงัน เพราะผู้สมัครที่เป็นทางออกประนีประนอมอาจมีโอกาสน้อยลง
คอนเคลฟโดยทั่วไปมักจะจบลงอย่างรวดเร็ว เช่น การเลือกตั้งพระสันตะปาปาไพอัสที่ 12 ในปี 1939 ซึ่งใช้เวลาเพียงสามรอบ เเต่บางครั้งการลงคะแนนก็ยืดเยื้อ เช่นในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ในปี 1740 ซึ่งกินเวลา 181 วัน
แต่ไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด ในที่สุดก็จะมีพระสันตะปาปาองค์ใหม่ เมื่อผู้สมัครคนใดคนหนึ่งได้รับคะแนนเสียงเพียงพอ จะมีการถามว่า
ท่านยอมรับการเลือกตั้งตามหลักกฎหมายในฐานะพระสันตะปาปาสูงสุดหรือไม่
เมื่อกล่าวว่า “Accepto” หรือ “ข้ายอมรับ” เขาก็จะกลายเป็นผู้นำของศาสนจักรโรมันคาทอลิกคนใหม่ จากนั้นบัตรลงคะแนนจะถูกเผาเพื่อให้เกิดควันสีขาว เพื่อแจ้งแก่ชาวโลกว่ามีการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่เรียบร้อยแล้ว
หลังได้รับเลือก พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะตัดสินใจเลือกพระนาม เช่นเดียวกับที่ ฮอร์เฮ มาริโอ แบร์โกลิโอ เลือกชื่อ “ฟรานซิส” เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่ใช้ชื่อนี้
การเลือกชื่อ โดยเฉพาะหากเลือกตามองค์ก่อนหน้า มักบ่งบอกทิศทางของสมณสมัยใหม่นั้น ในกรณีของพระสันตปาปาฟรานซิส พระองค์เลือกชื่อนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่เซนต์ฟรานซิสแห่งอัสซีซี นักบุญนักพรตในศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านความเรียบง่ายและความรักในธรรมชาติ
จากนั้น พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะถูกนำไปยัง “ห้องแห่งน้ำตา” (Room of Tears) ซึ่งอยู่ติดกับโบสถ์น้อยซิสทีน เพื่อใช้เวลาส่วนตัวครุ่นคิดถึงภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ซึ่งหลายครั้งได้นำพาน้ำตาสู่ดวงตาของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ที่นั่นพระองค์จะสวมชุดหิรัญบาตรสีขาวและเครื่องหมายแสดงตำแหน่งต่าง ๆ
การเลือกตั้งจะถูกประกาศจากระเบียงของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ จากระเบียงนั้น พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะกล่าวทักทายฝูงชนเบื้องล่าง และให้พรแรกแก่ชาวโลก สมณสมัยบทใหม่จะได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ
อ้างอิง
The Vatican's 'Room of Tears' is ready for next Pope
theconversation
americamagazine
vatican
Cardinal Electors
Mathew Schmalz
โฆษณา