24 เม.ย. เวลา 00:49 • ประวัติศาสตร์

การขุดเจาะภูเขาหรือหน้าผาหินเพื่อสร้างทางรถไฟทำอย่างไร?

ก่อนที่จะไปอธิบายการขุดเจาะภูเขา ต้องทำความเข้าใจหลักการของการสร้างทางรถไฟเบื้องต้นเสียก่อน
รถไฟต่างจากรถยนต์อย่างไร
1.รถไฟไม่สามารถเลี้ยววงแคบได้อย่างรถยนต์
2.รถไฟไม่สามารถวิ่งขึ้นเนินชันๆแบบกระทันหันได้แบบรถยนต์
ภาพหัวรถจักรไอน้ำรุ่น C56 กำลังวิ่งผ่านช่องเขาที่ถูกตัดที่เรียกว่า ช่องไก่ Cutting
เนื่องด้วยน้ำหนักที่หัวรถจักรต้องลากจูงมีมหาศาล หากขึ้นเนินแบบฉับพลัน แรงของหัวรถจักรอาจจะมีไม่พอ หรือถ้ามีเพียงพอแต่มันก็จะเกิดอันตราย รถไฟสามารถพลิกตกรางได้
เส้นทางรถไฟจึงไม่สามารถจะออกแบบให้เลี้ยวโค้งแคบๆ หรือสร้างแบบลาดชันแบบถนนสำหรับรถยนต์ได้
ทางรถไฟจำเป็นจะต้องรักษาระดับความสูงและรัศมีความโค้งของแนวรางรถไฟให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดหรือหากมีการเปลี่ยนแปลงต้องอยู่ในค่าที่ปลอดภัย
ตามภูมิประเทศจริง มันจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทางรถไฟจะต้องถูกสร้างผ่านพื้นที่สูงหรือต่ำ หรือพื้นที่บังคับให้เลี้ยวซ้ายขวา
และเพื่อรักษาระดับแนวรางรถไฟให้ค่อยๆไต่ระดับไป ในบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ต่ำก็จะมีการสร้างคันดินทางรถไฟขึ้นมารองรับ คันดินทางรถไฟหรือที่เรียกว่า Embankment
คันดินทางรถไฟ เส้นทางรถไฟสายมรณะ
ส่วนไหนที่เป็นพื้นที่สูงเกินไป ก็จะถูกขุดให้เป็นช่องทางที่จะสามารถวางรางและให้รถไฟวิ่งผ่านได้เรียก Cutting หรืออาจจะใช้เทคนิคการขุดอุโมงค์หรือเรียกว่า Tunneling
โดยบนเส้นทางรถไฟสายมรณะระยะทาง 415 กิโลเมตรใช้เทคนิคการสร้างช่องตัดหรือ Cutting
ช่องเขาขาด ช่องทางที่ถูกใช้วิธีการ cutting ในการก่อสร้าง
ภาพปัจจุบันของช่องเขาขาด
จากการให้สัมภาษณ์ Renichi Sugano ทหารผ่านศึกจากกรมทหารรถไฟที่ 9 ได้กล่าวว่า ข้อเสียของการสร้างทำอุโมงค์คือพื้นที่ในการทำงานค่อนข้างแคบ ทำให้แรงงานที่เข้าไปทำงานได้จริงมีไม่กี่คน
ส่งผลให้ความคืบหน้าของงานเป็นไปได้ช้า ซึ่งทหารญี่ปุ่นในขณะนั้นมีแรงงานอยู่ในมือจำนวนมาก จึงเลือกใช้เทคนิคการสร้างช่องตัด Cutting แทน
Cutting เป็นการวางแนวตัดเป็นช่องแนวยาว โดยจะมีการกำหนดแนวที่จะทำการตัดช่องเขา หลังจากนั้นส่งแรงงานขึ้นไปเริ่มเจาะจากด้านบนของภูเขาลงมาเรื่อยๆ ให้ได้ระดับความลึกและความยาวของแนวช่องตัดตามที่ต้องการ
ถ้าเป็นภูเขาดินหรือดินลูกรังก็สามารถใช้อุปกรณ์ขุดทั่วๆไปได้ครับ เช่น จอบ เสียม
แต่ถ้าเป็นภูเขาหินก็ต้องมีวิธีการที่จะเจาะและระเบิดภูเขาหินครับ
แรงงานจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มโดยกลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่ทำหน้าที่เจาะรูบนภูเขาหิน
แรงงานในกลุ่มนี้จะมีคนหนึ่งใช้ค้อนปอนด์ตอกเหล็กเจาะที่เรียกว่า Tap ลงไปในเนื้อหินให้เกิดรู โดยมีแรงงานอีกคนช่วยจับเหล็กเจาะ
คนที่ตอกก็จะต้องตอกลงให้โดนกับปลายท้ายของเหล็ก Tap และ เมื่อตอกเสร็จในแต่ละครั้งคนที่จับเหล็กหัวเจาะ Tap จะต้องดึงเหล็กขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อปรับมุมให้เหล็กเจาะกินเนื้อหินได้ดีและทำให้เหล็กหัวเจาะไม่ติด (หากตอกโดยไม่มีการหมุนหรือขยับ เหล็กเจาะจะติดดึงไม่ออก)
ภาพกรรมกรเอเชียคนนั่งกำลังจับเหล็กเจาะ ส่วนคนยืนกำลังจะหวดค้อนลงที่ด้ามเหล็กเจาะ
เมื่อเจาะลงไปได้สักระยะ ข้างในรูเจาะจะเต็มไปด้วยผงหินที่เกิดจากการเจาะ  แรงงานจะใช้น้ำกรอกเข้าไปในรู เพื่อให้ผงหินผสมกับน้ำ จะได้ง่ายต่อการตักขึ้นมาทิ้ง แล้วแรงงานจะใช้เหล็กเส้นยาวๆที่ปลายนั้นติดเหล็กแผ่นแบนๆ ลักษณะคล้ายๆช้อน ค่อยๆตักผงหินที่ผสมกับน้ำคล้ายๆปูนซีเมนต์ที่เปียกๆขึ้นมา เมื่อตักเสร็จก็จะเริ่มดำเนินการตอกหัวเจาะต่อไป และทำวนไปเรื่อยๆจนรูที่เจาะได้ความลึกที่ต้องการ
ถ้าผมจำไม่ผิดการตอกเหล็กนี้จะต้องทำความลึกให้ได้ประมาณ 1.2 เมตร กล่าวกันว่า การเจาะแต่ละรูนั้นกินเวลาทั้งวันเลยทีเดียว และแรงงาน 1 คู่ที่เป็นคนจับและคนตอก ต้องได้อย่างน้อย 2 รู
เมื่อความลึกของรูเจาะได้ขนาดทหารญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำระเบิดมาใส่ลงไปในรูพร้อมกับจุดไฟแช็คไปที่สายชนวน
ในจังหวะนี้กรรมกรหรือเชลยศึกจะต้องหาที่หลบให้ดี ไม่งั้นอาจจะถูกเศษหินที่ปลิวว่อนจากแรงระเบิดไปทุกทิศทางได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
ภาพทหารญี่ปุ่นกำลังเอาระเบิดยัดลงไปในรูที่เจาะเตรียมไว้
จังหวะที่ระเบิดบริเวณที่ก่อวร้างช่องตัด
ทหารญี่ปุ่นกำลังเคลียร์ก้อนหินที่ถูกระเบิดหลุดออกให้พ้นเส้นทางที่จะวางรางรถไฟ
เศษหินขนาดใหญ่จะถูกดันหรืองัดให้ตกหน้าผา บางส่วนอาจจะถูกทุบให้เป็นก้อนเล็กลงมาเพื่อใช้โรยรางรถไฟ บางส่วนถูกขนออกทิ้งให้พ้นจากทางรถไฟ
กระบวนการทั้งหมดจะถูกทำซ้ำตลอดจนบริเวณที่จะวางรางรถไฟได้ระดับและความกว้างตามต้องการ
นอกจากเหล็กเจาะและค้อนปอนด์แล้ว กองทัพญี่ปุ่นยังใช้เครื่องมือทุ่นแรงในการเจาะหินครับ
โดยในบางพื้นที่มีภาพถ่ายและข้อมูลว่ากองทัพญี่ปุ่นใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Jackhammer หรือที่คนไทยเรียกว่าเครื่องแย๊ก โดยพลังงานจากเครื่องอัดอากาศ Air Compressor
แต่เครื่อง Jackhammer ไม่ได้มีการใช้แพร่หลายมากนักจะมีบางจุดที่มีเครื่อง Jackhammer เช่นช่องตัดแถวสถานีหินตก ที่เรียกติดปากกันในหมู่คนที่ศึกษาเรื่องทางรถไฟสายมรณะว่า Compressor cutting หรือแม้กระทั่งที่บริเวณช่องเขาขาดก็ยังคงมีชิ้นส่วนของหัวเจาะของ Jackhammer ติดอยู่
ทหารญี่ปุ่นใช้ Jackhammer ในการเจาะรู
เมื่อช่องตัดมีการเตรียมพื้นที่แล้ว ในขั้นถัดไปก็เป็นหน้าที่ของทีมแรงงานเชลยศึกอีกชุดที่มีหน้าที่วางไม้หมอนและรางรถไฟ
เชลยศึกกลุ่มนี่ก็จะนำเอาไม้หมอนมาวางเรียงกันไป ห่างกันประมาณ 60 ซม. และหลังจากนั้นก็นำรางรถไฟมาวาง ตอกหมุดยึดรางรถไฟ แล้วขั้นตอนสุดท้ายคือนำเอาหินโรยรางรถไฟมาโรยระหว่างไม้หมอน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของทางรถไฟ
ถือว่าทางรถไฟในช่วงนั้นเสร็จสมบูรณ์ และหลังจากนั้นก็ต้องใช้หัวรถจักรไอน้ำวิ่งทดสอบความแข็งแรงต่อไป
กลับมาที่สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของช่องตัดเหล่านี้คือ หากเราเดินสังเกตดีๆ ทุกช่องตัดที่เป็นหิน เราจะมองเห็นร่องรอยของเหล็กเจาะบางครั้งเห็นร่อยรอยที่แรงระเบิดทำกับหอนเหล่านั้น
ร่องรอยเหล็กเจาะจะเป็นแนวยาวๆตรงๆผิวเรียบๆครับ บางจุดชัดบ้างไม่ชัดบ้าง เกิดจากเวลาที่เจาะรูแล้วมีการนำระเบิดเข้าไปยัดไว้ แล้วทำการระเบิด แรงระเบิดดันหินที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งให้กระเด็นออก เหลือหินอีกด้านที่มีรอยเหล็กเจาะไว้
บางครั้งจะเห็นเป็นรูกลมๆก็คล้ายๆกันครับเวลาระเบิดแรงระเบิดทำลายหินที่อยู่ส่วนบนของรู เหลือส่วนล่างของรูเจาะไว้ให้เห็นเป็นรูปๆ
และอีกรูปแบบหนึ่งคือร่องรอยจากแรงระเบิดที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นบนหินเหล่านี้ โดยจะเห็นหินมีรูปเป็นเหมือนดาวแฉก นั่นเกิดจากแรงระเบิดที่กระทำต่อหิน ส่วนหินที่ถูกระเบิดออกก็ร่วงหล่นออกมา เหลือเพียงบริเวณผิวบนผาหินที่มีร่องรอยแฉกจากแรงระเบิด
ในลักษณะการเจาะและระเบิดหินนอกจากที่จะทำในการสร้างช่องตัดแล้ว หน้าผาหินที่ต้องทำการระเบิดเพื่อทำให้เกิดทางราบเลาะหน้าผาที่พอจะวางทางรถไฟได้ก็ถูกใช้เทคนิคการเจาะและระเบิดแบบนี้ครับ
ทั้งหมดเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากท่านใดมีโอกาสได้เดินบนเส้นทางรถไฟสายมรณะในพื้นที่ที่เป็นช่องตัดหิน ก็ลองสังเกตดูนะครับ แล้วท่านอาจจะเจอร่องรอย
โฆษณา