Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
22 เม.ย. เวลา 15:27 • ไลฟ์สไตล์
ไม่ใช่เพราะ “จัดการเงินไม่ดี” แต่เราอาจ “ผูกพันกับเงินผิดวิธี”
เข้าใจตัวเองให้ลึก ผ่าน 3 รูปแบบความผูกพันทางการเงินจากทฤษฎีจิตวิทยาความสัมพันธ์
เคยสงสัยมั้ย?
ทำไมบางคนเครียดทุกครั้งที่เช็กบัญชี
ทำไมบางคนปล่อยบิลกองท่วมหัวแต่ไม่กล้าเปิด
ขณะที่บางคนคุยเรื่องเงินได้แบบชิล ๆ
ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับ “จำนวนเงินในบัญชี” เลย แต่มันคือเรื่องของ “อารมณ์” ต่างหาก
ดังนั้น ถ้าคุณเคยโทษตัวเองว่า “เราจัดการเงินไม่เก่งเลย” บางทีนักบำบัดด้านการเงิน (financial therapist) อาจจะไม่เห็นด้วยกับคุณก็ได้ เพราะปัญหา อาจไม่ใช่เรื่องวินัย ตัวเลข หรือบัญชีรายรับรายจ่ายที่ทำ แต่มันคือเรื่องของ “อารมณ์” ต่างหาก
[ Attachment Theory จากความสัมพันธ์สู่การเงิน 🗃️]
คาร่า ครอสเวต บรินเดิล (Khara Croswaite Brindle) นักบำบัดการเงินที่ได้รับการรับรอง เจ้าของ Croswaite Consulting เมืองลาฟาแยตต์ รัฐโคโลราโด กล่าวไว้ว่า
“เงิน 90% คือเรื่องของอารมณ์ และมีแค่ 10% เท่านั้นที่เป็นตรรกะ”
ไม่ว่าคุณจะอ่านหนังสือมากแค่ไหน ฟังพอดแคสต์บ่อยเพียงใด เราทุกคนก็ยังคงขับเคลื่อนชีวิตด้วยความเชื่อ ความคิด และความรู้สึกที่มีต่อเงินอยู่ดี และบางครั้งกลยุทธ์จัดการเงินที่อิงกับกฎเกณฑ์และตารางคำนวณมักใช้ไม่ได้ผล เพราะมันไม่ได้แตะถึง ความสัมพันธ์ของคุณกับเงิน ทั้งที่จริงแล้ว เงินกับคุณก็เหมือนกับความสัมพันธ์อื่น ๆ ที่มักจะถูกหล่อหลอมจากรูปแบบการยึดเหนี่ยวทางอารมณ์ (attachment style)
Attachment style เป็นแนวคิดทางจิตวิทยาที่ใช้เพื่ออธิบายโครงสร้างบุคลิกภาพของคนเรา โดยเฉพาะ “วิธีตอบสนองต่อสถานการณ์” ที่เกี่ยวข้องกับความใกล้ชิดทางอารมณ์ ซึ่งรากฐานของรูปแบบเหล่านี้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ในวัยทารก ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดูหลัก
ทฤษฎีความผูกพันทั้งทางความรัก และผูกพันทางด้านอารมณ์ ที่คิดค้นโดย John Bowlby จิตแพทย์เด็ก ช่วงปี 1930 จะแบ่งความสัมพันธ์ออกเป็น 3 ประเภท คือ Secure, Anxious และ Avoidant ซึ่งจริงๆ เจ้า attachment style ก็มีการศึกษาวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และมีการต่อยอดแนวคิดพัฒนาการบุคลิกภาพนี้ทำให้มีหลายคำอธิบาย ในบางตำราก็จะมีอยู่ด้วยกัน 4 - 6 สไตล์ เลยก็มี
อย่างไรก็ตาม คาร่า อธิบายว่า attachment style 3 แบบหลักๆ คือ แบบวิตกกังวล (anxious) แบบหลีกเลี่ยง (avoidant) และแบบมั่นคง (secure) ไม่ได้แสดงออกเฉพาะกับความสัมพันธ์กับคนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมการเงินในชีวิตประจำวันของคุณด้วย
หากคุณรู้สึกว่าควบคุมการใช้เงินไม่ได้ หรือแพนิกเมื่อหุ้นตก เธอแนะนำให้เราลองทำความเข้าใจ “พิมพ์เขียวทางอารมณ์ของตัวเอง” เพราะมันอาจจะช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการการเงินในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
💰 1. Anxious Money Attachment
ลักษณะการพูดของคนกลุ่มนี้
“ฉันต้องเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์”
“ฉันต้องรู้ว่าเงินแต่ละบาทหายไปไหน”
คาร่าบอกว่า หากคุณเช็กยอดเงินในบัญชีวันละหลายครั้ง แพนิกเมื่อหาเงินไม่เจอ หรือกระวนกระวายแม้จะมีเงินเก็บอยู่แล้ว คุณอาจมีความผูกพันกับเงินแบบวิตกกังวล (anxious)
คนที่มีรูปแบบนี้มักมองเงินเหมือนคนที่กลัวว่าจะเสียไป เช่น กลัวว่าเงินจะหายไปแบบไม่มีวันกลับมา ซึ่งมักจะมีต้นตอมาจากประสบการณ์ขาดแคลนในอดีตที่ทำให้คุณรู้สึกกระวนกระวายใจเกี่ยวกับเงิน
ผลกระทบไม่ใช่แค่ความเครียด แต่มันอาจนำไปสู่พฤติกรรมการเงินที่ทำให้เสียโอกาส เช่น
- รีบขายหุ้นทันทีที่ตลาดตก
- ไม่กล้าใช้เงินกับสิ่งที่อาจช่วยพัฒนาชีวิต เช่น การบำบัด ท่องเที่ยว หรืออบรมทักษะ
เพราะคนที่มี attachment แบบวิตกกังวล มักจะมีความรู้สึกตลอดเวลาว่า ‘ยังมีเงินไม่มากพอ’, ‘ตัวเองยังไม่ดีพอ’หรือ ‘ชีวิตจะไม่โอเค’
🔍 คาร่า แนะนำแนวทางแก้ไขไว้ว่า ให้ลองตั้งขอบเขตกับความถี่ที่เราตรวจสอบหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องเงินของตัวเอง เพราะคนที่มีความผูกพันแบบวิตกกังวล มักจะเฝ้าดูบัญชีอยู่ตลอดเวลาและระแวดระวังเกินเหตุ
เธอบอกว่า “ลองท้าทายตัวเองดู เช่น จากที่เคยเช็กบัญชีวันละ 3 ครั้ง เปลี่ยนเป็นแค่สัปดาห์ละ 2 ครั้งก็ได้”
เพื่อค่อยๆ ผ่อนคลายความเครียด หรือ พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำให้ระบบประสาทของเรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เมื่ออยู่กับเรื่องเงิน
3
หรือ อีกหนึ่งในวิธีที่ช่วยได้คือ สร้าง “พิธีกรรมเล็ก ๆ” ตอนเช็กบัญชี เช่น เปิดเพลงเบา ๆ ที่ทำให้ใจเย็น หรือใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ เพื่อให้สมองค่อย ๆ เรียนรู้ว่า “เงิน” ไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่คือสิ่งที่เราจัดการได้โดยไม่ต้องเครียด
1
💸 2. Avoidant Money Attachment
คนกลุ่มนี้จะมีลักษณะการพูดที่ตรงข้ามกับกลุ่ม เช่น
“ไม่อยากเช็กบัญชีเลย”
“เกลียดเวลาต้องเปิดจดหมายจากธนาคาร”
ถ้าคุณปล่อยบิลกองไว้โดยไม่เปิด ไม่กล้าวางแผนงบเพราะเครียด หรือแม้แต่เลี่ยงการหยิบเช็คบนโต๊ะหลังทานข้าวเสร็จ นี่อาจเป็นสัญญาณของการ หลีกเลี่ยงการเงิน (avoidant attachment)
คาร่าบอกว่า “สำหรับคนที่หลีกเลี่ยงเรื่องเงิน เขาจะคิดว่า ‘ไม่เห็น ก็ไม่เป็นไร’ เหมือนนกกระจอกเทศที่ซุกหัวในทราย”
แต่นิสัยนี้อาจพาคุณไปเจอกับดอกเบี้ยค่าปรับ หนี้สะสม หรือพลาดโอกาสสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
1
🔍 คาร่า แนะนำแนวทางแก้ไขไว้ว่า ให้คนนั้น ค่อยๆ ให้ตัวเองได้สัมผัสกับเรื่องเงินอย่างสม่ำเสมอในแบบที่ “ดีต่อใจ”
เธอแนะนำว่า ให้ลองตั้งเวลาสัก 5 นาที แล้วนั่งลงล็อกอินเข้าแอปธนาคาร เพื่อดูสัดส่วนจากตรงนั้นตรงนี้ แม้ว่าคุณจะทำแค่ “ดูยอดเงินในบัญชีเฉย ๆ” ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
อีกหนึ่งเครื่องมือที่น่าสนใจคือ “Body Doubling” หรือการจัดการเรื่องเงินข้างๆ คนที่คุณไว้ใจ เช่น นั่งทบทวนรายรับรายจ่ายหรือเปิดแอปบัญชีพร้อมกันกับเพื่อนหรือแฟน
เพราะสำหรับคนที่ความสัมพันธ์ทางการเงินแบบหลีกเลี่ยงแบบนี้ การมีคนอยู่ด้วย จะช่วยลดแรงต้านทางอารมณ์ และเพิ่มความรับผิดชอบให้ตนเองได้กลับมาโฟกัสได้มากขึ้น
เธอย้ำอีกครั้งว่า เป้าหมายเหล่านี้ไม่ใช่การเป็นคนเพอร์เฟกต์ในชั่วข้ามคืน
แต่มันคือการ “ค่อย ๆ ฝึกระบบประสาท” ให้ทนต่อกิจกรรมทางการเงินอย่างใจเย็น
เพื่อที่ว่า หนี้ ความล่าช้าในการจ่ายบิล หรือความอยากหนีงบการเงินของตัวเอง จะไม่พาเราหลุดวงโคจรไปไกล
🧘♀️ 3. Secure Money Attachment
ลักษณะการพูด
“เงินเข้ามา เดี๋ยวเงินก็ออกไป เดี๋ยวก็โอเค”
“ฉันเชื่อว่าตัวเองจะรับมือได้”
ถ้าคุณสามารถเช็กบัญชีโดยไม่เครียด ออมเงินแบบไม่ยึดติด และคุยเรื่องเงินได้อย่างเปิดเผย — คุณอาจมีความผูกพันแบบมั่นคง (secure attachment)
นี่คือมุมมองทางการเงินที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น ทั้งในตัวเองและระบบที่ใช้ รวมถึงมั่นใจในความสามารถในการปรับตัวเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป
เวลาที่เจอปัญหา เช่น ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือหุ้นตก คนที่มี secure attachment จะ ตั้งสติ มองภาพรวม ไม่ให้เรื่องเงินมาบั่นทอนทั้งชีวิต
🔍 สำหรับคนที่มีความมั่นคงทางการเงิน คาร่าบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว เพราะ “การมีความผูกพันกับเงินแบบมั่นคง” ไม่ได้แปลว่าคุณต้องมีการเงินที่สมบูรณ์แบบ แต่มันหมายถึง “คุณเข้าใจอารมณ์ของตัวเองที่มีต่อเงินได้อย่างชัดเจน”
และควรที่จะต้องรักษา attachment แบบมั่นคงนี้ไว้ด้วยการแยก “คุณค่าในตัวเอง” ออกจาก “มูลค่าของเงินในบัญชี” และมองว่า เงินคือเครื่องมือ ไม่ใช่ตัวตนของเรา
อ้างอิง:
https://www.cnbc.com/.../financial-therapist-how
...
https://www.psy.chula.ac.th/.../feature.../attachment-style/
https://www.mindbodygreen.com/.../attachment-theory-and
...
https://www.simplypsychology.org/attachment.html
https://www.wongnai.com/articles/attachment-style
#aomMONEY #การเงิน #การเงินส่วนบุคคล
10 บันทึก
9
9
10
9
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย