22 เม.ย. เวลา 15:32 • สุขภาพ

เป็นไมเกรน ทำไมถึงแพ้แสง

หนึ่งในข้อควรปฏิบัติสำคัญของผู้ป่วยไมเกรน คือการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดการกำเริบของอาการปวด เช่น เสียงดัง อากาศร้อน การกระทบกระเทือนทางอารมณ์ และปัจจัยต่างๆแต่ละบุคคล
แต่ปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญที่มักพบบ่อยคือ แสงจ้า หรือ ภาวะแพ้แสง (Photophobia)
ภาวะแพ้แสง หรือ Photophobia เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยไมเกรน โดยผู้ป่วยจะรู้สึกไวต่อแสงมากกว่าปกติ แม้แต่แสงสว่างระดับปานกลางก็สามารถก่อให้เกิดความไม่สบาย หรือทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น
ภาวะแพ้แสงในผู้ป่วยไมเกรนเกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทรับแสง (photoreceptor) ในจอตากับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminal nerve) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้สึกบริเวณใบหน้าและศีรษะ เมื่อแสงกระตุ้นเซลล์ประสาทรับแสง
ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทและเกิดการอักเสบ ส่งผลให้อาการปวดศีรษะรุนแรง นอกจากนี้ การแปรปรวนของสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน (serotonin) และ calcitonin gene-related peptide (CGRP) อาจมีบทบาทในการกระตุ้นหรือเสริมความไวต่อแสง
ภาวะแพ้แสงในผู้ป่วยไมเกรนอาจแสดงออกได้ตั้งแต่ระดับไม่สบายตาเล็กน้อย ไปจนถึงระดับที่ทำให้ต้องหลีกเลี่ยงแสงทุกประเภท โดยทั่วไปอาการจะเด่นชัดในช่วงที่มีอาการปวดศีรษะ (migraine attack) แต่ในบางรายอาจพบว่าไวต่อแสงแม้ในช่วงไม่มีอาการ (interictal phase) โดยมักมีอาการเจ็บหรือแสบตาเมื่อเผชิญกับแสงแดดหรือแสงไฟจ้า ไม่สามารถทนต่อหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือได้นาน และปวดศีรษะเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในที่สว่าง
การป้องกันการกระตุ้นโดยแสงในผู้ป่วยไมเกรน ทำได้โดยลดการจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน และใช้โหมดถนอมสายตา ลดการสัมผัสแสงจ้า เช่น การใช้แว่นกันแสงที่มีฟิลเตอร์เฉพาะ หลีกเลี่ยงไฟฟลูออเรสเซนต์ ปรับพฤติกรรมด้วยการนอนให้เป็นเวลา การลดความเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ การใช้ยาบางกลุ่ม เช่น beta blockers, antiepileptics หรือ monoclonal antibodies ต่อ CGRP ก็อาจป้องกันหรือลดการกำเริบของไมเกรนได้ แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
2
ภาวะแพ้แสงในผู้ป่วยไมเกรนเป็นหนึ่งในอาการที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต แม้ไม่ใช่อาการอันตรายถึงชีวิต แต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบประมวลผลทางประสาทที่ซับซ้อน การดูแลรักษาควรมุ่งเน้นที่การควบคุมโรคไมเกรนเป็นหลัก ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติที่สุด นอกจากนี้ การหมั่นสังเกตตนเอง ก็มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงและออกแบบการรักษาให้ตรงกับตนเองได้มากยิ่งขึ้น
1
อ้างอิง
Noseda R, Burstein R. (2011). Migraine pathophysiology: anatomy of the trigeminovascular pathway and associated neurological symptoms, CSD, sensitization and modulation of pain. Pain. 152(S1): S44–S53. doi:10.1016/j.pain.2010.11.021
Digre KB, Brennan KC. (2012). Shedding light on photophobia. Journal of Neuro-Ophthalmology. 32(1):68–81. doi:10.1097/WNO.0b013e3182474548
1
โฆษณา