23 เม.ย. เวลา 02:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จีนดิ้นหนีภาษีทรัมป์ แห่ซื้อที่เดินหน้าเข้าลงทุนไทย

WHA เผยผลสำรวจลูกค้า 200 รายพบว่ายังไม่มีแผนย้ายฐานการผลิต ขณะที่นักลงทุนจีนรายใหญ่ยังคงเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง หลังถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 145% เทียบกับไทยที่ 36% ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ไทยต้องอยู่กลางระหว่างสหรัฐ-จีน ไม่ควรเลือกข้าง
นักลงทุนจีนยังเชื่อมั่นประเทศไทยหลังจากสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการที่ดินมากกว่า 500 ไร่ ในขณะที่ผลสำรวจผู้ประกอบการ 200 ราย พบ 55% ระบุว่าไม่มีแผนย้ายฐานการผลิตออกจากไทย เนื่องจากมองว่าผลกระทบยังไม่รุนแรงเพียงพอ
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า กรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จัดเก็บภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ ยอมรับว่าสถานการณ์คาดเดาได้ยากว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
แม้ว่าสหรัฐฯ จะระงับการขึ้นภาษีตอบโต้ชั่วคราว 90 วันกับ 75 ประเทศไปแล้ว แต่ก็ต้องรอดูว่าการเจรจาของรัฐบาลไทยจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเด็นดังกล่าวที่ยังไม่คลี่คลายนี้แน่นอนว่ามีผลต่อความกังวลต่อการลงทุน ทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ
นางสาวจรีพร กล่าว
  • นักลงทุนจีนยังมั่นใจไทย
ที่น่าสนใจคือ ลูกค้าจีนรายใหญ่ที่ต้องการที่ดินมากกว่า 500 ไร่ ยังคงมีความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนลูกค้าเดิมที่มีการลงทุนในนิคมฯ อยู่แล้วก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะออกหรือย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น เนื่องจากมูลค่าการลงทุนสูง หากต้องย้ายไปยังประเทศที่มีภาษีที่ถูกกว่าก็ต้องใช้เงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น
จากการอัพเดตล่าสุด ลูกค้าต่างชาติยังยืนยันเดินหน้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะหากเทียบอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ประเทศจีนถูกกดดัน 145% และกระแสข่าวล่าสุดอาจสูงถึง 245% ในขณะที่เวียดนามถูกปรับขึ้นภาษีนำเข้าที่ราว 46% และไทย 36% จะเห็นได้ว่ายังคงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ 2 ทางเลือกแรก
นางสาวจรีพร กล่าว
ทั้งนี้ WHA ได้ทำแบบสำรวจสอบถามจากลูกค้าทั้งหมด 200 ราย มูลค่าการลงทุนตั้งแต่ 1,000-50,000 ล้านบาท เกี่ยวกับผลกระทบจากการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ผลปรากฏว่าสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
  • กลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบน้อย (Low) คิดเป็นสัดส่วน 55% ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย 0-35%
  • กลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบปานกลาง (Medium) คิดเป็นสัดส่วน 15% ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ 40-75%
  • กลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสูง (High) คิดเป็นสัดส่วน 30% ซึ่งมีปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 75-100%
  • ผู้ประกอบการ 45% รอดูสถานการณ์
ผลการสำรวจยังพบข้อมูลที่สำคัญอื่นๆ ว่า 45% ของบริษัทเลือกใช้กลยุทธ์ “รอดูสถานการณ์” เพื่อรอความชัดเจนจากการเจรจาการค้า ขณะที่อีก 40% ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ เนื่องจากไม่ได้ส่งออกไปสหรัฐฯ ในสัดส่วนมากนัก มีเพียง 10% เท่านั้นที่หันมาใช้มาตรการลดต้นทุนหรือหาตลาดใหม่ และมี 5% ที่ตัดสินใจเปลี่ยนแผนการลงทุน
ด้านระดับภาษีที่ยอมรับได้ พบว่า 70% ของบริษัทระบุว่าสามารถรับได้ในกรณีที่ภาษีไม่เกิน 10% และ 30% ยอมรับได้หากอยู่ในช่วง 10-20% โดยไม่มีใครเห็นว่าภาษีควรเกินจากนี้
สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุดคือการเจรจาโดยเร็ว โดย 95% ของผู้ตอบแบบสอบถามเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการเจรจาอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อป้องกันผลกระทบจากภาษี ขณะที่ 30% ต้องการให้มีมาตรการเยียวยาภาคเอกชน
นางสาวจรีพร กล่าว
สำหรับการย้ายฐานการผลิต ผลสำรวจพบว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า “ไม่มีแผนย้าย” เนื่องจากมองว่าผลกระทบยังไม่รุนแรงพอ ในขณะที่อีก 45% บอกว่า“มีโอกาส”หากอัตราภาษียังไม่เปลี่ยนแปลงในระยะยาว
  • การย้ายฐานการผลิตต้องใช้เวลา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA ระบุว่า การย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่ถูกคิดภาษีที่ถูกกว่า เช่น แถบอเมริกาตอนใต้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก กว่าจะสร้างโรงงานต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-4 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นทรัมป์ก็อาจหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ไปแล้ว
ลูกค้าที่ชะลอการตัดสินใจส่วนใหญ่จะเป็นรายกลางและรายเล็ก ซึ่งการชะลอการตัดสินใจเพื่อดูท่าทีก็เป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ ในแง่ของผลกระทบ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีสะเทือนบ้าง แต่เชื่อว่าลูกค้ามีแผนงานรองรับความเสี่ยงไว้บ้างแล้ว ส่วนยานยนต์นั้น ไทยส่งออกพวงมาลัยขวา จึงไม่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อยู่แล้ว
นางสาวจรีพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม WHA มองว่าผลกระทบจาก Reciprocal Tariffs ในครั้งนี้จะไม่กดดันต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัท เนื่องจากยอดโอนกรรมสิทธิ์ส่วนมากถูกทยอยรับรู้เข้ามาในไตรมาส 1/2568 พอสมควรแล้ว ซึ่งธุรกิจนิคมฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของรายได้รวม นอกจากนี้ บริษัทยังมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจอื่นๆ ทั้งโลจิสติกส์ สาธารณูปโภคทั้งน้ำและไฟฟ้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สถิติปี 2561-2567 ทุนจีนขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยรวม 1,941 โครงการ เงินลงทุนรวม 779,623 ล้านบาท เฉพาะปี 2567 ทุนจีนขอรับการส่งเสริม 810 โครงการ เงินลงทุนรวม 174,638 ล้านบาท
โดย 3 สาขาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุน 146,984 ล้านบาท เคมีภัณฑ์ 120,006 ล้านบาท และยานยนต์และชิ้นส่วน เงินลงทุน 45,676 ล้านบาท โดยบริษัทสัญชาติจีนขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 ในปี 2567
  • หอการค้าไทยชี้ 5 แนวทางรับมือ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานอาวุโส หอการค้าไทย และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า นโยบายการค้าที่แข็งกร้าวของ “ทรัมป์ 2.0” ในช่วง 4 ปีนับจากนี้ประเทศไทยต้องไม่เพียงแค่รอดจากวิกฤติ แต่ต้องสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย คาดการณ์ว่า มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรวมของไทยถึง 359,104 ล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหรัฐฯ
นายสนั่นเสนอ 5 แนวทางรับมือ ได้แก่ 1.การปรับกลยุทธ์ตลาด กระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาสหรัฐฯ 2.ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม 3.เร่งขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและบทบาทของไทยบนเวทีโลก 4.ติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด และ 5.การมองภาพใหญ่ให้ชัด เจรจาให้แม่น และปรับตัวให้เร็ว
  • ไทยไม่ควรเลือกข้างสหรัฐ-จีน
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB เผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยสัดส่วนเกือบ 60% มาจากภาคการส่งออก ซึ่งไทยส่งออกไปทั่วโลก ไม่ได้ส่งไปสหรัฐประเทศเดียว แต่นโยบายภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลก
มาตรการของสหรัฐในเรื่องนี้ที่ดึงคู่ค้าให้แอนตี้จีนเรารับไม่ได้ และเอาภาษีมาขู่เพื่อให้เราเลิกคบค้ากับจีน และให้ไปอยู่ฝั่งอเมริกา ซึ่งจะให้เราเลือกข้าง ก็ต้องยอมรับว่าตัดสินใจยาก เพราะทางการจีนก็อยากได้เราเป็นพวก และเชื่อว่าไม่บีบให้เราจนตรอก ดังนั้นเราต้องเป็นพวกทั้งสองข้าง เรื่องนี้ควรใช้นักการทูตเจรจาเพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจได้โดยให้หาเหตุผลรองรับให้ดี
นายวรเทพกล่าว
  • ภาคอสังหาฯ ปรับตัวรับปัจจัยเสี่ยง
ด้านนายองอาจ สุวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ระบุว่า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะนโยบายภาษีตอบโต้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
บริษัทมีการพิจารณาแนวทางการพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้น และบ่อยขึ้นในทุกไตรมาส โดยเฉพาะการวิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละทำเล เพื่อให้สามารถบริหารจัดการซัพพลายในตลาดได้อย่างเหมาะสม และการพิจารณานี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะทำเลใหม่ แต่รวมถึงการทบทวนแผนลงทุนในทำเลเดิมที่อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงด้วย
เช่นเดียวกับ นายวสันต์ ศรีรัตนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2568 บริษัทฯ มุ่งทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายจากโครงการแนวราบ ซึ่งเป็นสินค้าหลัก และไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างล่าสุดภาษีรัฐบาลสหรัฐมองว่าโครงการแนวราบระดับไฮเอนด์มีความเสี่ยงที่น้อยกว่า
โฆษณา