นายวัฒนพงษ์ฯ ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์ RE Big Lot เป็นการดำเนินการจากมติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วนไปก่อนแล้ว ปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)
แล้วเป็นส่วนใหญ่และบางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว การยกเลิกสัญญาของ RE Big Lot ที่ลงนามไปแล้วจึงไม่อาจจะทำได้ และหากจะมีการยกเลิกโครงการที่ไม่ลงนามในสัญญาส่วนที่เหลือกว่าสิบสัญญา จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสัญญาที่ลงนามไปแล้ว และเป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มโครงการที่ได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว และโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา
นายวัฒนพงษ์ฯ กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาทต่อหน่วย (พลังงานแสงอาทิตย์มีอัตรา 2.16 บาทต่อหน่วย พลังงานลมมีอัตรา 3.10 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) มีอัตรา 2.83 บาทต่อหน่วย)
ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย(Grid Parity) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดย ณ เดือน มีนาคม 2568 มีค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยประมาณ 3.18 บาทต่อหน่วย ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะทำให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย
โดยการรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสในการลงทุนในพัฒนาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่มีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าของประเทศได้ในระยะยาว
นายวัฒนพงษ์ฯ เน้นว่าการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC)