เมื่อวาน เวลา 14:00 • ข่าวรอบโลก

อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ‘อาเซียน’ กระทบหนัก หากเริ่ม ‘กำแพงภาษีสหรัฐ’

มาตรการประกาศขึ้น “กำแพงภาษีสหรัฐ” ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดนขึ้นภาษีระหว่าง 10-49% ซึ่งจะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรม “พลังงานสะอาด” ขณะเดียวกันความไม่ชัดเจนในการจัดเก็บภาษีอาจส่งผลต่อความต้องการและความเชื่อมั่นของนักลงทุน จนทำให้กระแสเงินทุนจากภาคเอกชนไม่เป็นไปตามเป้า
การสำรวจโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร New Energy Nexus (NEX) สาขาอินโดนีเซีย เปิดเผยว่าสตาร์ทอัพด้านพลังงานสะอาดกว่า 300 แห่งยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา และมากกว่าครึ่งหนึ่งเพิ่งดำเนินงานได้น้อยกว่า 6 เดือน และ 60% ยังอยู่ในช่วงต้นแบบหรือระยะนำร่อง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องพึ่งพาการระดมทุนโลจิสติกส์ และอารมณ์ตลาด
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังปิดสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) ทำให้โปรแกรมการระดมทุนจากต่างประเทศหลายโปรแกรมต้องหยุดชะงัก ส่วนบริษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (DFC) แหล่งเงินทุนสำหรับโครงการพลังงานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ก็กำลังเผชิญกับการปรับโครงสร้างใหม่ ทำให้หลายบริษัทต้องมองหาพันธมิตรจากประเทศอื่น เพื่อรักษาและขยายการเติบโต
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การขึ้นภาษีในครั้งนี้อาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตในอาเซียนจำเป็นต้องกระจายฐานลูกค้าภายในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจช่วยพัฒนาภาคส่วนพลังงานสะอาดและเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้รวดเร็วกว่าเดิม แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าการระงับการเรียกเก็บภาษีจะขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่
📌 ผลกระทบต่อภาคพลังงานสะอาดในอาเซียน
แผงโซลาร์เซลล์และเซลล์แสงอาทิตย์เป็นสินค้าอันดับต้น ๆ ที่อาเซียนส่งไปยังสหรัฐ โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่าสหรัฐนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์จากกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 75-80%
แต่หลังจากที่ผู้ผลิตในสหรัฐร้องเรียนว่าผู้ส่งออกพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียนกำลังทุ่มตลาดด้วยสินค้าราคาถูก ทำให้เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2025 สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ระบุว่า อัตราภาษีถูกกำหนดให้สูงถึง 3,521% สำหรับกัมพูชา ขณะบริษัทที่ไม่ได้ระบุชื่อในเวียดนามต้องเสียภาษีศุลกากรสูงถึง 395.9% ส่วนไทยกำหนดไว้ที่ 375.2% ภาษีสำหรับมาเลเซียกำหนดไว้ที่ 34.4%
โจเซฟ โปห์ หัวหน้าฝ่ายพลังงานและเคมีภัณฑ์ ของยูโอบี กล่าวว่า ภาษีรอบล่าสุดนี้จะยิ่งทำให้ราคาของโมดูลพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำเข้าจากอาเซียนสูงขึ้น ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างราคากับสินค้าเทียบเท่าที่ผลิตในสหรัฐกว้างขึ้น
1
ส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ก็ถือเป็นสินค้าส่งออกที่สหรัฐซื้อจากไทยและมาเลเซียเช่นกัน ถึงแม้ว่าการส่งออกเหล่านี้จะมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ศ.โยฮัน สุเลมาน จากคณะธุรกิจของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่าภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของทั้งสองตลาดในการเป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชนรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ศ.สุลามัน กล่าวว่าสหรัฐนำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจากมาเลเซียและไทยมากกว่าจากจีน แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลกก็ตาม ดังนั้นไทยและมาเลเซียยังคงได้เปรียบนการแข่งขันอยู่
📌 ลดการพึ่งพาสหรัฐ
โปห์แนะนำว่า ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนจะต้องลดขนาดการผลิตลง เพื่อรองรับความต้องการที่ลดลงและอาจต้องย้ายโรงงานผลิตของตนไปยังสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจไปบ้าง
ส่วน ฟาง อูหลิน หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ PwC สิงคโปร์ กล่าวว่า สหรัฐเป็นผู้ซื้อสินค้าส่งออกเหล่านี้จำนวนมาก ดังนั้นตลาดอาเซียนอาจต้องใช้เวลาสักระยะในการป้องกันตนเองจากผลกระทบระยะสั้นของภาษีศุลกากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ผลิตอาจมีกำไรลดลง แม้ว่าจะสามารถส่งสินค้าไปยังตลาดอื่น ๆ ได้ก็ตาม เนื่องจากบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่คุ้มทุนเท่ากับในจีน และในภูมิภาคอื่น ๆ มีการแข่งขันสูงมาก
ศ.สุลามัน ให้ความเห็นว่า บริษัทต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องการระบายสินค้าส่วนเกินภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากระยะทางสั้นกว่าและมีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งมีข้อดีคือจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของภูมิภาคได้
“ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมีการประสานงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้แน่ใจว่ากำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่จะส่งผลดีต่อภูมิภาคอื่น ๆ ผมไม่คิดว่าเรามีเวลาเหลือมากนัก ผมคิดว่าประชาคมอาเซียนจะต้องพูดคุยกันและสร้างฉันทามติโดยเร็ว” ศ.สุลามันกล่าว
ซันจีฟ กุปตะ หัวหน้าฝ่ายน้ำมันและก๊าซของ EY-Parthenon บริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ กล่าวว่าขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของอาเซียน จำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน ทั้งที่มีการเจรจากันในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้ายังค่อนข้างช้าและจำกัดอยู่แค่ในระดับองค์กรหรือทวิภาคีเท่านั้น
“โครงข่ายไฟฟ้าอาเซียนอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดสำหรับภูมิภาคนี้ โดยมอบเสถียรภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพด้านต้นทุนด้านพลังงานที่มากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในระดับขนาดใหญ่” กุปตะกล่าวเสริม
หากจีนไม่สามารถส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไปยังตลาดอื่น ๆ ได้ ก็อาจทำให้จีนหันไปส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังตลาดที่มีการเติบโตสูง เช่น มาเลเซียและไทยแทน ซึ่งจะช่วยให้จีนสามารถรักษาระดับส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังเติบโตได้ดี
“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีในราคาถูกลง เร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำของภูมิภาคได้” อง ซู่ ยี่ นักวิเคราะห์วิจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของ OCBC กล่าว
สิ่งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนของอาเซียนและช่วยให้ผู้ผลิตได้รับประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของวัตถุดิบจากจีน
โฆษณา