วันนี้ เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จากสงครามการค้าสู่ 'สงครามค่าเงิน'

แม้ทรัมป์จะลดภาษี Reciprocal tariff ชั่วคราว 90 วัน แต่สิ่งที่น่ากังวลคือแนวโน้มการพัฒนาเป็น "สงครามค่าเงิน" โดยมีจีนและสหรัฐเป็นผู้เล่นหลัก
[ เรื่องโดย : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ]
ล่าสุด ธนาคารกลางจีน (PBOC) ส่งสัญญาณด้วยการตั้งอัตราอ้างอิงเกิน 7.20 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ไม่เคยทะลุมาตั้งแต่ ก.ย. 2566
การอ่อนค่าหยวนจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษีสหรัฐสูงถึง 145% ต่อภาคส่งออกซึ่งมีความสำคัญถึง 46% ของการเติบโตเศรษฐกิจจีนในไตรมาสล่าสุด แต่อาจนำไปสู่เงินทุนไหลออกและความผันผวนในตลาดการเงิน
Barclays คาดว่าหากจีนเลือกใช้นโยบายค่าเงิน หยวนอาจอ่อนค่าลงถึง 9 หยวนต่อดอลลาร์ จากปัจจุบัน 7.3 หยวน คิดเป็น 20% สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่หยวนอ่อนค่า 10% เมื่อสหรัฐขึ้นภาษีเพียง 20%
หากจีนไม่ลดค่าเงิน อาจต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ถึง 12 ล้านล้านหยวน (1.6 ล้านล้านดอลลาร์) หรือ 8.6% ของ GDP
ผลกระทบของสงครามค่าเงินจะไม่จำกัดเฉพาะจีนกับสหรัฐ แต่จะกระจายทั่วระบบการเงินโลก ทั้งการแข่งขันด้านค่าเงิน ความผันผวนในตลาดการเงิน และผลกระทบต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤติความเชื่อมั่นและอ่อนค่าลงกว่า 9% เทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักตั้งแต่กลางเดือนมกราคม
ในช่วงความผันผวนนี้ ยูโรอาจเพิ่มบทบาทในระบบการเงินโลก ปัจจุบันมีสัดส่วน 1/5 ของทุนสำรองธนาคารกลางทั่วโลก เทียบกับดอลลาร์ที่มี 3/5
สำหรับไทย อาจได้รับผลกระทบสำคัญจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดส่งออก ความผันผวนของค่าเงินบาท แรงกดดันต่อการส่งออกที่อาจหดตัวถึง 3% และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ GDP ปี 2568 อาจโตเพียง 1.4% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.5%
ทางออกสำหรับไทยคือ เร่งเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐ กระจายความเสี่ยงทางการค้า กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และร่วมมือกับประเทศในอาเซียน
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจEconomic #กรุงเทพธุรกิจColumnist
โฆษณา