24 เม.ย. เวลา 02:00 • ธุรกิจ

เปิดใจ “เนสท์เล่” กว่า 100 ปีในไทย กับข้อพิพาท “มหากิจศิริ”

“เนสท์เล่” เปิดใจกว่า 100 ปีในไทย พร้อมเดินหน้าธุรกิจ ลงทุนต่อเนื่อง เล็งสร้างโรงงานใหม่ ย้ำยังรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรไทยกว่า 2,000 ตัน มากกว่า 50% ของผลผลิตโรบัสต้าทั้งประเทศ
ข้อพิพาทระหว่าง “เนสท์เล่” เจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” กับตระกูล “มหากิจศิริ” ที่ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตกาแฟตั้งแต่ปี 2533 และยุติสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 แต่ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงถึงอนาคตของ QCP ได้ จึงเกิดเป็นคดีพิพาทในชั้นศาลทั้งระดับสากลและในไทย และส่อเค้าเป็น “มหากาพย์” เมื่อไม่สามารถหันหน้าไกล่เกลี่ยกันได้
ล่าสุดทีมผู้บริหาร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เดินทางเข้าพบสื่อในเครือเนชั่น โดยระบุว่า ขอยืนยันว่าการยุติสัญญากับ QCP เป็นไปอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามข้อกฎหมาย ได้รับการรับรองจากอนุญาโตตุลาการสากล
1
พร้อมเปิดเผยว่าบริษัทยังคงมุ่งมั่นลงทุนในประเทศไทย และวางแผนสร้างโรงงานผลิตกาแฟแห่งใหม่ โดยระหว่างนี้มีการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศและจ้างผู้ผลิตในประเทศ (OEM) เพื่อรักษาซัพพลายให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด
  • ย้อนรอย ชนวนความขัดแย้ง “มหากิจศิริ”
ความขัดแย้งเริ่มจากการหมดอายุสัญญาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยเนสท์เล่ได้แจ้งล่วงหน้า 2 ปีตามเงื่อนไขในสัญญาว่าจะไม่ต่อสัญญาในรูปแบบเดิม และได้มีการพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงนำเรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการสากลเพื่อวินิจฉัย ซึ่งศาลอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินในเดือนธันวาคม 2567 ว่าเนสท์เล่ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนทุกข้อ และสามารถยุติสัญญาได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
1
“ในสัญญาเดิมที่มีอยู่ ระบุไว้ชัดเจนว่า สูตรกาแฟ เทคโนโลยีการผลิต การบริหาร การตลาด การจำหน่ายสินค้าทุกอย่างเป็นสิทธิ์ของเนสท์เล่ทั้งหมด และจะมีการต่อสัญญาทุกๆ 12 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยกันตลอด และไม่เคยมีปัญหาใด จนกระทั่งล่าสุดที่มีการยุติสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของเนสท์เล่ทั่วโลก”
2
หลังการยุติสัญญา ทางฝั่งผู้ถือหุ้นอีกฝ่าย นำโดยคุณเฉลิมชัยและคุณประยุทธ์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว โดยศาลมีคำสั่งห้ามเนสท์เล่ผลิต จำหน่าย และนำเข้ากาแฟ ซึ่งมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ทั้งเกษตรกร ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค
  • “ราคาซื้อขาย” จุดแตกหัก
หากถามถึงข้อเสนอของแต่ละฝ่าย ที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้นั้น ว่ามีออฟชั่นใดบ้าง
1
“เนสท์เล่” บอกว่า แต่ละฝ่ายต่างมีข้อเสนอมา มีการต่อรอง แลกเปลี่ยน พูดคุยในแต่ละข้อเสนอ ซึ่งมีหลากหลายมิติ เพื่อให้เกิดข้อตกลงที่ดีที่สุด แต่เมื่อเจรจาในแต่ละเงื่อนไขแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้เกิดปัญหาตามมา
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ราคาซื้อขาย” ที่อีกฝ่ายนำเสนอในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง จึงเป็นจุดแตกหักหรือไม่นั้น “เนสท์เล่” ระบุว่า มีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน
1
เช่นเดียวกับเรื่อง “จริยธรรม” ซึ่ง “เนสท์เล่” ระบุว่า เนื่องจากเนสท์เล่ เป็นบริษัทใหญ่ บริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ เรื่องของธรรมาภิบาล และจริยธรรม จึงเป็นเรื่องใหญ่มากๆ
1
  • OEM -นำเข้าประเทศเพื่อนบ้าน ป้อนคอกาแฟไทย
อย่างไรก็ตาม เนสท์เล่ได้ยื่นต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งตัดสินว่าเนสท์เล่เป็นเจ้าของแบรนด์ มีสิทธิในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนได้ จึงทำให้บริษัทสามารถกลับมาขายสินค้าได้ตามปกติ
1
ในระหว่างที่ยังไม่มีโรงงานผลิตถาวร เนสท์เล่ต้องดำเนินการใน 2 แนวทาง คือ จ้างบริษัทไทยผลิตแบบ OEM และนำเข้าบางส่วนจากต่างประเทศเป็นการชั่วคราว โดยสัดส่วนการนำเข้ามีมากกว่าการผลิตในประเทศ เนื่องจากกำลังการผลิตของผู้ผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ประเทศที่นำเข้ามาได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเวียดนาม
1
“เราต้องกลับมาผลิตในประเทศอยู่แล้ว ไม่ได้คิดอยากจะนำเข้ามาใช้เป็นเวลานาน ในช่วงนี้อาจจะมีการนำเข้ามามากหน่อย เพราะโรงงานที่ทำ OEM มีข้อจำกัดด้านการผลิต และเราเองก็ต้องการป้องกันไม่ให้สินค้าช็อต ขาดตลาด และช่วงนี้เราก็ยังคงรับซื้อผลผลิตเมล็ดกาแฟต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะปลูก”
1
ทั้งนี้ เนสท์เล่ยืนยันว่ายังคงสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นปี 2568 ที่ผ่านมา บริษัทได้ซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้าจากเกษตรกรไทยกว่า 2,000 ตัน คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตกาแฟโรบัสต้าทั้งประเทศ และให้คำมั่นว่าจะยังคงซื้อกาแฟจากเกษตรกรไทยต่อไปแม้ในช่วงที่มีข้อพิพาท
1
  • จ่อขึ้นโรงงานใหม่ พร้อมลงทุนไทยต่อเนื่อง
“เนสท์เล่” ย้ำว่า ปัจจุบันเนสท์เล่ มีโรงงานในไทย 8 แห่ง หลังจากที่ได้ลงทุนในประเทศไทยมากว่า 22,000 ล้านบาทในช่วงปี 2561-2567 และเนสท์เล่พร้อมที่จะลงทุนในไทยเพิ่ม ส่วนเรื่องของการสร้างโรงงานผลิตกาแฟแห่งใหม่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนในขณะนี้ แต่การจะลงทุนสร้างโรงงานใดก็ตามต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างสูง ในการดำเนินการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักรและเริ่มดำเนินการผลิต แต่บริษัทยืนยันว่ามีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในประเทศไทยต่อไปอย่างแน่นอน
“เนสท์เล่ อยู่ในประเทศไทยมากว่า 100 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เราก็อยากอยู่กับคนไทยต่อไป เราอยากลงทุน อยากพัฒนาธุรกิจในนี้ มุ่งมั่นนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีให้กับคนไทย ตั้งใจเข้ามาลงทุนในไทย จนปัจจุบันเนสท์เล่มีพนักงานในประเทศไทยกว่า 3,000 คนส่วนใหญ่เป็นคนไทยทั้งหมด มีชาวต่างชาติราว 20 คนเท่านั้น
นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังสนับสนุนเกษตรกรในไทย ทั้งเกษตรกรฟาร์มโคนม เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ซึ่งนอกจากรับซื้อผลผลิตแล้ว ยังมีการแจกต้นกล้ากาแฟกว่า 4.7 ล้านต้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาต้นกล้ากาแฟโดยเฉพาะในประเทศไทยด้วย”
1
โฆษณา