24 เม.ย. เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เอสเอ็มอีโอดเจอวิกฤตรอบด้าน จี้รัฐปลดล็อก 5 กับดักฉุดเศรษฐกิจไทยทรุด

“เอสเอ็มอี” ฝ่าวิกฤตสงครามการค้า การลงทุนโลก หลังสหรัฐจัดเก็บภาษีตอบโต้ “สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย” ชี้จีดีพีไทยโตต่ำกว่า 3 % มา 6 ปีติด จี้รัฐทบทวน 5 กับดักฉุดรั้งเศรษฐกิจ
1
ในปี 2567 การส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 20% ของการส่งออกทั้งหมดของเอสเอ็มอีไทย ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีไทยมีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 2,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 5,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดีหลังรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์มีนโยบายจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal tariffs) คาดว่าจะส่งผลกระทบ GDP SME ในปี 2568 ทำให้มูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปยังสหรัฐฯจะลดลงถึง 1,128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.83 หมื่นล้านบาท และอาจส่งผลให้ GDP SME ในปีนี้ ลดลง 0.2% จากที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เคยประมาณการการขยายตัวไว้ที่ 3.5% ซึ่งการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะเร่งปรับตัวเองคงไม่เพียงพอ ภาครัฐที่กำกับดูแลก็ต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย กลายเป็นความท้าทาย เพราะวันนี้ไทยต้องเผชิญกับ “สงครามโลกซ้อนโลก” ทั้งสงครามการค้าและการลงทุนกับการเผชิญหน้ากำแพงภาษีและกำแพงการค้าของทรัมป์ สงครามเทคโนโลยีและ AI ที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นให้กับประเทศที่ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง
สงครามโลกเดือดระอุท่ามกลางการเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานและสิ่งแวดล้อมสู่เศรษฐกิจสีเขียว สงครามสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีที่อยู่ยากลำบากขึ้นทุกวัน และสงครามภูมิรัฐศาสตร์ที่พร้อมปะทุและปะทะทั้งคู่ขัดแย้งเดิมและคู่ขัดแย้งใหม่ รวมทั้งสงครามที่สำคัญ คือ “สงครามพัฒนากำลังคน” ที่จะขับเคลื่อนก้าวข้าม “การใช้แรงงานเข้มข้น” สู่ “การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น” เพื่อนำไปสู่ “เศรษฐกิจนวัตกรรม”
“GDP ประเทศไทยเติบโตต่ำกว่า 3% เป็นเวลายาวนานถึง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2562 - 2567 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล และประเทศไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยั่งยืน “ไม่ฉาบฉวย” พร้อมทั้งเร่งทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ 5 กับดัก ที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย”
แสงชัย ธีรกุลวาณิช
สำหรับ 5 กับดักที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่
1. กับดักหนี้ : การบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบกับมาตรการแก้หนี้ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ เกษตรกรและประชาชนที่ต้องทำทั้งในและนอกระบบ ต้องมีกลไกคนกลางเพื่อช่วยเหลือเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้หลายราย และระบบการพัฒนาส่งต่อตามความต้องการเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำรองรับการเปลี่ยนแปลง การมีดอกเบี้ยที่เป็นธรรมกับประชาชน
2. กับดักฅน : ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ต้องมีกลไกการยกระดับทักษะ ขีดความสามารถ สมรรถนะของผู้ประกอบการทุกขนาด แรงงานทั้งในและนอกระบบ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มากกว่า ESG การสร้างแบรนด์ประเทศไทยที่มีการสร้าง DNA กำลังคน สินค้า บริการ เพื่อสร้างให้ไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมแห่งความสร้างสรรค์
3. กับดักทุน : ผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ ค่าครองชีพประชาชนพุ่ง ที่ต้องเอาจริงจังกับการกำกับดูแลโครงสร้างพลังงาน สะอาด การส่งเสริมพลังงานสะอาด การใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตที่ต้นทุนแข่งขันได้
4. กับดักทุนเทา : การกำกับ ป้องกัน ปราบปรามทุนเทา ปกป้องผู้ประกอบการ เกษตรกรไทย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ สัดส่วน 48% ของ GDP ประเทศ การเข้ามาของทุนต่างชาติผิดกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบต่ออธิปไตยทางเศรษฐกิจประเทศที่จะถูกยึดอำนาจทั้งภาคการเกษตร จากล้งสู่เหมาสวน เช่าสวนและทุ่มทุนซื้อสวนผ่านนอมินี
ภาคการผลิตศูนย์เหรียญ มาครบทั้งการจ้างงานนำเข้าแรงงาน วัตถุดิบ เครื่องจักรอุปกรณ์ ซัพพลายเชนสินค้าบริการ จบที่ไทยไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนต่างชาติในการส่งเสริมลงทุนทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีนอกจากค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค ภาคอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ วัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง
จัดสรรที่ดินและซื้ออสังหาริมทรัพย์เข้ามาอยู่อาศัยแบบผิดกฎหมาย ภาคบริการ โลจิสติกส์ ร้านอาหาร ภัตตาคาร ที่พักโรงแรม “บริการศูนย์เหรียญ” ภาคการค้า สินค้าไร้มาตรฐาน สินค้าหนีภาษี ภาคการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เส้นทางลัดนอมินีต่างชาติครอบครองตลาดภาครัฐรวมทั้ง SME-GP กระทบทุกภาคส่วนประชาชนและประเทศไทย
5. กับดักรัฐ : การเร่งแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการที่ส่งผลต่อการเติบโตและความเป็นธรรมกับระบบเศรษฐกิจโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมทั้งการยกระดับการบริการภาครัฐ “ลีน” ให้มีความทันสมัย สะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนเท่าที่จำเป็น ลดค่าใช้จ่ายทั้งในและนอกระบบเพื่อให้การดำเนินการต่างๆโปร่งใสตรวจสอบได้
นายแสงชัย กล่าวอีกว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายและการบริโภคที่ลดลง สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรับมือกับวิกฤต ได้แก่
1. Lean – Risk การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น บริหารจัดการหนี้ และมีแผนธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงรอบด้าน
2. Productivity-Technology - Innovation (ผลิตภาพ เทคโนโลยี นวัตกรรม) การเพิ่มผลิตภาพ การยกระดับทักษะและความสามารถ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI และนวัตกรรม
3. Sufficiency Economic Philosophy (SEP) การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ความพอเพียง ความพอประมาณ การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG)
4. Branding-Marketing การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ สร้างความไว้วางใจ และพัฒนาตลาดทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่
5. Networking การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อเข้าถึงมาตรการสนับสนุน แลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมมือในการแก้ไขปัญหา
“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเป็นส่วนสำคัญของประเทศไทยจะไม่ยอมจำนนต่อเศรษฐกิจที่รายล้อมด้วยปัจจัยเสี่ยง รุมเร้าด้วยความท้าทาย และเราพูดถึง GDP ประเทศมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การกระจายรายได้สร้างการเติบโตจากสัดส่วน GDP SME ที่เพิ่มขึ้นจาก 35% ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพื่อสานพลังให้ GDP ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”
โฆษณา