24 เม.ย. เวลา 02:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เครื่องจักรลดโลกร้อน

ในยุคที่กระแส net zero emission กำลังมาแรง ธุรกิจทั้งหลายแหล่โดยเฉพาะในภาคพลังงานต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่เพื่อให้สามารถอยู่ในตลาดระดับนานาชาติได้ และยังทำให้เกิดธุรกิจประเภทใหม่คือการซื้อขายคาร์บอนขึ้น
คำถามที่มักจะถามกันเสมอคือ แล้วแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จะเอาคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศไปเก็บไว้ได้คือที่ไหน
คนทั่วไปมักจะคิดว่ามันคือป่าไม้ ต้องปลูกป่าเพื่อเร่งให้มีการเก็บกักคาร์บอนให้มากขึ้น
น่าเสียดายที่คำตอบนี้ถูกครึ่งเดียว คือตรงที่ถ้าปลูกป่าเราจะสามารถดูดซับคาร์บอนในอากาศมาเก็บไว้ในเนื้อไม้ได้มากขึ้น
แต่ป่าไม้เป็นเพียงแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่ใหญ่เป็นอันดับสามเท่านั้น
สองอันดับแรกคือมหาสมุทรและดินตามลำดับ
ตัวเลขประมาณการคร่าวๆ ในปัจจุบันคือ มหาสมุทรมีคาร์บอนสะสมอยู่ประมาณ 38,000 กิกะตัน (10 ยกกำลัง 9 ตัน) ดินมีประมาณ 1,500 – 2,400 กิกะตัน ส่วนป่าไม้มีเพียงประมาณ 450 – 650 กิกะตันเท่านั้น
ภาษานักเลงโบราณเรียกว่าห่างกันหลายขุมอยู่
กลไกการดูดซับคาร์บอนของมหาสมุทรนั้นประกอบด้วย 3 วิธีการด้วยกันคือ วิธีแรกคาร์บอนไดออกไซด์ละลายในน้ำทะเลโดยตรง วิธีที่สอง แพลงค์ตอนซึ่งเป็นพืชขนาดเล็กทำการสังเคราะห์แสง เก็บคาร์บอนไว้ในตัวเอง พอตายก็พาคาร์บอนจมลงสู่ก้นมหาสมุทรพร้อมกับร่างตัวเอง ส่วนวิธีที่สามคือกระแสน้ำแนวดิ่งนำเอาน้ำทะเลที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ลงไปยังส่วนที่ลึกกว่าในมหาสมุทร
ปัญหาของวิธีแรกนั้นคือมันมีจุดอิ่มตัวของมันที่คาร์บอนไดออกไซด์จะละลายลงไปได้ไม่มากกว่านี้แล้ว
ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ยังคงปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอย่างต่อเนื่องในขณะที่ตัวดูดซับสำคัญง่อยเปลี้ยเสียขา ลงท้ายปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะพุ่งสูงมีผลเร่งเร้าภาวะโลกรวนให้รุนแรงขึ้นไปอีก
ครั้นจะเร่งปลูกป่าหรือเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ลงดิน ข้อเท็จจริงก็คือพื้นที่ป่าทั้งโลกลดลงทุกปี และการทำการเกษตรแบบอุตสาหกรรมก็เร่งรัดการปลดปล่อยคาร์บอนจากดินมากยิ่งขึ้น
สรุปว่าทางเลือกนี้เป็นไปได้ยากถึงขั้นไม่ได้เลย
ดังนั้น จึงมีคนหัวใสหาทางที่จะดูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากน้ำในมหาสมุทรเพื่อไม่ให้ความเข้มข้นของคาร์บอนไดแแกไซด์ในน้ำถึงจุดอิ่มตัว มหาสมุทรจะได้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไปได้เรื่อยๆ
โครงการนี้มีชื่อว่า SeaCure เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ให้ทุน
หลักการทำงานคือสูบน้ำทะเลเข้ามาสู่ถังเก็บที่มีชื่อเรียกเล่นๆ ชวนจั๊กกะจี้หูว่า Stripper เพิ่มความเป็นกรดให้น้ำทะเลเพื่อช่วยให้คาร์บอนไดออกไซด์แยกตัวออกมาได้ง่ายขึ้น
ตรงนี้ให้ลองนึกถึงพรายฟองฟู่เมื่อเปิดขวดโซดาดู
หลังจากนั้นก็ทำการสะเทินภาวะเป็นกรดของน้ำทะเลก่อนจะปล่อยกลับลงไปให้ในมหาสมุทรให้ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป
ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกตัวออกมานั้นจะถูกดูดซับ (อีกที) ด้วยไบโอชาร์ที่ทำจากใยมะพร้าว
ข้อมูลจากต้นทางไม่ได้บอกว่าไบโอชาร์เหล่านี้จะถูกนำไปทำอะไรต่อ แต่ถ้าให้เดาก็น่าจะฝังกลบไว้ใต้ดิน
ผู้วิจัยให้ข้อมูลว่า ขอเพียงเอาน้ำในมหาสมุทรมาผ่านกระบวนการนี้เพียง 1 % จะสามารถดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากน้ำทะเลได้ถึงปีละ 14 พันล้านตัน
แต่ยังไม่มีข้อมูลว่ากระบวนการนี้มีความคุ้มค่าเพียงใด
ตอนนี้เราท่านเพียงรู้ไว้ใช่ว่าก่อน
โฆษณา