Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTV Wealth
•
ติดตาม
24 เม.ย. เวลา 11:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ไทยเลื่อนถกสหรัฐฯ ยังไม่ชัดใครเทใคร นักวิชาการมองทำโอกาสทองหลุดมือ
ไทยเลื่อนเจรจาภาษีสหรัฐฯ ยังไม่ชัดใครเทใคร นักวิชาการมองไทยก้าวไม่ทันเพื่อน ทำโอกาสทองหลุดมือ คาดเจรจายาก - ซับซ้อน "ทรัมป์" อาจไม่คุยแค่เรื่องการค้า
เดิมทีตามกำหนดการวันที่ 23 เมษายนนี้ ตัวแทนประเทศไทยจะต้องเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อเจรจาเรื่องภาษีกับสหรัฐฯ ทว่าเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าจำเป็นต้องเลื่อนการเจรจาออกไปก่อน โดยแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเผยว่า การที่ไทยจะเจรจากับสหรัฐฯ ถึงแม้ไทยจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่จำเป็นต้องรู้เขารู้เรา จะเทหมดหน้าตักไม่ได้
รศ.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ และ ผศ.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย ร่วมพูดคุยถึงกรณีดังกล่าวกับ PPTV HD36 ในรายการคุยข้าม
จากการเลื่อนเจรจาในครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเป็นการเลื่อนเพราะต้องการมาทบทวนเนื้อหาจริง ๆ หรือเป็นการเลื่อนเพราะนัดเจรจากับสหรัฐฯ ไม่ได้ หรือเราโดนสหรัฐฯ เทหรือไม่
รศ.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ และ ผศ.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย ร่วมพูดคุยถึงกรณีดังกล่าวกับ PPTV HD36 ในรายการคุยข้ามช็อต Exclusive Talk
สาเหตุเลื่อนเจรจาไม่แน่ชัด มองไทยเผชิญทั้งข้อดี - ข้อเสีย
รศ.อัทธ์ กล่าวว่า สาเหตุที่เลื่อนการเจรจาออกไปนั้นยังคงเป็นคำถามว่าตกลงแล้วใครเลื่อนใคร หากเป็นสหรัฐฯ เลื่อนไทย แสดงว่าเขาไม่ให้ความสำคัญกับเรา ถ้าไทยเลื่อนสหรัฐฯ ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่าเราได้ดำเนินการนัดหรือไม่ เพราะถ้าสหรัฐฯ นัดแล้วไทยเลื่อน มองว่าไทยไม่น่าไปเลื่อนเพราะเป็นโอกาสของไทยในการไปเจรจา แต่ไม่ว่าอย่างไรสุดท้ายผลลัพธ์ก็คือเกิดการเลื่อนเจรจาแล้ว
เมื่อเกิดการเลื่อนเจรจาแล้ว ไทยจะได้มีเวลาในการดูข้อมูล วิเคราะห์มากขึ้น ช่วยจัดระเบียบให้ชัดเจนขึ้น ถือเป็นข้อดีในแง่ภายในประเทศ แต่ในแง่ของต่างประเทศมองว่าไม่ดีเท่าไร เพราะแสดงว่าเราพลาดโอกาสการเจรจา ไม่มีการนับหนึ่ง ไม่รู้ว่าสหรัฐฯ ต้องการอะไรจากประเทศไทย
รศ.อัทธ์ คาดว่า สหรัฐฯ ต้องการ 3+1 จากไทย คือ 1) เขาต้องการลดการเกินดุล 2) เจรจาเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี 3) อิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศจีน และ +1 คือ คุณมีตัวเลือกอะไรให้เพิ่มเติมหรือไม่ เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น และเวียดนาม ที่เหมือนเป็นการเริ่มนับ 1 กับสหรัฐฯ นอกจากนี้ สิ่งที่เราเสนอสหรัฐฯ ไป เขาไม่สนใจเท่าไรหรือไม่ ส่วนตัวมองเช่นนี้
รศ.อัทธ์ กล่าวต่อว่า แผนที่เจรจาหลังจากเลื่อนออกไปนั้นไม่ต้องรีเซ็ตใหม่ เพียงแต่ทำให้ชัดขึ้น ลึกขึ้น ว่าจะนำสินค้าใดไปคุย เปิดสินค้าใดให้เขาเข้ามา และจะร่วมมือลงทุนกับสหรัฐฯ อย่างไร ส่วนตัวมองว่าไทยน่าจะเจรจายากกว่าชาติอื่น เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเด็นการค้าการลงทุนอย่างเดียว แต่มีประเด็นอื่น ๆ มากมาย เช่น สิทธิมนุษยชน อุยกูร์ การประชุม BIMSTEC เป็นต้น
ไทย ชาติเดียวเจรจาสหรัฐฯ ยาก - ซับซ้อน
รศ.อัทธ์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเดียวที่เจรจายากและสลับซับซ้อน เพราะ 1) เจรจาด้านการค้าการลงทุนกับ USTR และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพียงอย่างเดียวไม่จบ เพราะแม้จะผ่าน รมว.พาณิชย์ USTR แล้ว แต่ไม่ผ่าน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โก รูบิโอ ก็ไม่ได้ แต่ชาติอื่นคุยเฉพาะการค้าการลงทุนได้ การทอดเวลาออกไปจะทำให้การเจรจายิ่งยากขึ้น จึงทำให้เกิดข้อที่ 2) ตามมา คือ ไทยเจรจาช้า เพื่อนก้าวหน้าไป 1 ก้าว หากตกลงกับชาติอื่นได้
รศ.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ
เช่น หากตกลงกับเวียดนามได้ สหรัฐฯ จะดีลจะซื้อสินค้าจากเวียดนามทันที เพราะฉะนั้นการพลาดโอกาสเจรจาหรือการทอดเวลาออกไป ส่วนตัวมองว่าเป็นการพลาดโอกาสครั้งสำคัญของไทยในการเจรจาและหาข้อสรุป แม้การเจรจากับเวียดนามจะยังไม่บรรลุข้อตกลง แต่ก็มีการแสดงให้สหรัฐฯ เห็น มีการจัดการออกกฎระเบียบจับสินค้าปลอม เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้า Made In Vietnam ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นสินค้าจากเวียดนามจริง ๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่ามีการลงมืออย่างจริงจัง
รศ.อัทธ์ กล่าวต่อว่า ในหัวของโดนัลด์ ทรัมป์ มองภูมิภาคอาเซียนเป็นห่วงโซ่การผลิตของประเทศจีน หากนอกจากการขึ้นภาษีระดับประเทศแล้ว ยังมีการขึ้นภาษีรายสินค้าเข้าไปจะหนัก และอาจถูกคว่ำบาตรในอุตสากรรมนั้น ๆ ได้
การเลื่อนเจรจานี้ยังลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ ในส่วนของนักลงทุนไทย เมื่อยังไม่รู้ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร ก็จะมีการชะลอการลงทุนออกไป การเจรจานั้นต้องตอบโจทย์เขา รักษาประโยชน์เรา ดูว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร เช่น การนำเข้าถั่วเหลืองและการนำเข้าข้าวโพด เราไม่กระทบแน่ แต่ในโต๊ะเจรจาหากทรัมป์พอใจกับข้อเสนอ แต่ขอเปิดตลาดปศุสัตว์ได้ไหม จะทำอย่างไร หาทางหนีทีไล่ อาศัยประโยชน์จากการเจรจาอย่างไร
ด้าน ผศ.ประพีร์ กล่าวว่า หลักการเจรจาเราต้องดู Win-Win ด้วย เพียงแต่ว่าไทยมาช้าไป ทำให้เราอาจต้องเจรจาแบบตั้งผลประโยชน์แห่งชาติของเราเป็นหลัก และยอมเสียอะไรไปสักนิดหน่อย เพราะเราไม่ได้อยู่ในสถานะที่ Win-Win เท่ากันกับสหรัฐฯ เพื่อให้รอดพ้นสถานการณ์ตรงนี้ไปได้ และอาจทำให้การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในอนาคต
“จีน” ตัวแปรทำไทยคุยสหรัฐฯ ยากกว่าชาติอื่น
ผศ.ประพีร์ มองว่า แม้จะไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงของการเลื่อนเป็นอย่างไร แต่ถ้านัดกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายได้แล้ว ต้องฉวยโอกาสไว้ การเลื่อนนี้อย่างน้อยก็ทำให้เราได้มีเวลา ไม่รู้ว่าจะได้เจอเมื่อไร หรือประเทศกลุ่มแรก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไปเจรจานั้นถูกมองว่าสำคัญกว่า มีผลประโยชน์มากว่า
และอาจมองว่ามีหลายประเด็นที่สหรัฐฯ ยังเคืองไทยอยู่ ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่ใกล้ชิดค่อนข้างเยอะ รวมถึงประเด็นของอุยกูร์ จะทำให้ไทยเจรจาลำบากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเจรจากับสหรัฐฯ นั้นเป็นโอกาสที่ดี เพราะการเจรจาการค้าไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่รู้ว่าชาติอื่นที่ไปเจรจานั้นมีผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร มองว่าไทยต้องกำหนดเนื้อหาการเจรจาให้ชัดเจน และเป็นเวลาที่ดีในการค้นคว้าค้นหาให้ได้ว่า สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ หรือกังวลจากไทย คืออะไรกันแน่
ผศ.ประพีร์ กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาที่จะทำให้การเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก คือ การที่จีนกดดันไทยด้วยการประกาศว่า ประเทศไหนที่ไปเจรจากับสหรัฐฯ แล้วอาจทำให้จีนเสียประโยชน์ จีนก็จะขึ้นภาษีด้วย เสมือนเป็นการขู่กลาย ๆ
ผศ.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย
จับมืออาเซียนคุยสหรัฐฯ ไม่ใช่ทางออกที่ดี
รศ.อัทธ์ กล่าวว่า แนวคิดที่ว่านำอาเซียนมารวมตัวกันไปเจรจากับสหรัฐฯ ส่วนตัวมองว่าในทางทฤษฎีก็ผิดแล้ว เพราะทรัมป์ไม่ชอบให้มีหลายประเทศเข้าไปเจรจา ถ้าสมมติทรัมป์ยอมรับการเจรจาแล้วว่าอาเซียนเก็บ 30% มาเลเซียที่โดนเก็บ 24% จะยอมหรือไม่
เพราะฉะนั้นสิ่งที่อาเซียนทำได้ คือการบาลานซ์ห่วงโซ่การผลิตเพื่อดุลระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจเป็นการออกระเบียบกติกา แรงจูงใจ FDI ไปในแนวทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามสำคัญที่ว่า อาเซียนระดับรายประเทศนั้นเป็นกลางกันจริงหรือไม่
ด้าน ผศ.ประพีร์ กล่าวว่า ตอนนี้เป็นตัวใครตัวมัน การรวมกลุ่มอาเซียนไปเจรจานั้นมองว่าเป็นอุดมคติเกินไป ณ ตอนนี้เราจึงจะเห็นเลยว่าแต่ละคนที่ไหวจะไปกันก่อน
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/246834
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV Wealth :
https://www.facebook.com/PPTVWealth/
YouTube Wealth :
www.youtube.com/@PPTVWealth
การเจรจา
ภาษี
ไทย
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย