24 เม.ย. เวลา 05:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ

⚠️ ”จีนแก้ปัญหาในบ้านไม่ได้ เลยส่งออกของถูกมา 'ทุ่มตลาด' ใส่ชาวโลก? Bessent ไม่ได้กล่าว แต่คงคิดในใจ

เมื่อวานระหว่างการให้สัมภาษณ์ รมต. คลัง คุณ Bessent ได้ออกมาเตือนเสียงดังฟังชัดเลยว่า โมเดลเศรษฐกิจที่จีนพึ่งพาอยู่ตอนนี้ โดยเฉพาะการเน้น "ส่งออก" เป็นหลักกำลัง "ถึงทางตัน" แล้ว‼️
1
ดังนั้นแอดเลยขอมาอธิบายเพิ่มเติมนิดนึงว่าทำไม Bessent หรือสหรัฐฯ ถึงไม่ชอบจีนในเรื่องนี้มาก และต้องการให้มาเจรจาเพื่อแก้ไขในส่วนนี้ค่ะ
1
🎯 ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? จีนกำลังเจอปัญหาอะไรอยู่?
คุณ Bessent ชี้ว่า จีนพยายามใช้การส่งออกเป็นยาวิเศษ แก้ปัญหาทุกอย่างในประเทศ แต่กลยุทธ์นี้กำลังจะไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาใหญ่ๆ ที่จีนกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่จีน "สร้างขึ้นมาเอง" ทั้งนั้นเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น
1
1️⃣ วิกฤตอสังหาริมทรัพย์: เกิดจากการเก็งกำไรกันแบบสุดเหวี่ยง จนฟองสบู่ในตลาดบ้านและคอนโดมันพองโตเกินไป สุดท้ายก็ "โป๊ะ!" แตกดังลั่น ส่งผลสะเทือนไปทั้งระบบเศรษฐกิจ เหมือนโดมิโน่ล้มเลยค่ะ (ทำตัวเองด้วยบวกกับปล่อยกฏ 3 red lines ด้วย)
2️⃣ หนี้ครัวเรือนท่วมหัว: มีการปล่อยสินเชื่อกันง่ายเกินไปในอดีต ทำให้ตอนนี้คนจีนจำนวนมากมีหนี้สินล้นพ้นตัว พอเป็นหนี้เยอะ ก็ไม่กล้าใช้จ่าย ทำให้การบริโภคในประเทศ (ที่เราเรียกว่า Final Consumption) หดตัวลงอย่างน่าใจหาย
3️⃣ คนรุ่นใหม่ตกงานเพียบ: อัตราการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวพุ่งสูงขึ้นมาก ปัญหานี้กัดกินความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างรุนแรง คนไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็ไม่กล้าซื้อของ กำลังซื้อโดยรวม (Purchasing Power) เลยลดฮวบฮาบ
4️⃣ นโยบาย "ความมั่งคั่งร่วมกัน" (Common Prosperity): นโยบายนี้ถูกประกาศใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ กระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึงมากขึ้น ฟังดูเหมือนจะดีนะคะ แต่ในทางปฏิบัติ การคุมเข้มกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และภาคธุรกิจอื่นๆ ได้สร้างความไม่แน่นอนและความกังวลให้กับนักลงทุน ทำให้บรรยากาศการลงทุนซบเซาลง กระทบต่อการเติบโตของธุรกิจ และความเชื่อมั่นในภาคเอกชนไปไม่น้อยเลยค่ะ
⚠️ สัญญาณอันตรายจากตัวเลขเศรษฐกิจ
พอเรามาดูข้อมูลตัวเลขจริงๆ ยิ่งเห็นภาพชัดขึ้นไปอีกค่ะ
🚢 ส่งออกเยอะ แต่กำไรหด?: กราฟ Export Price Index (ดัชนีราคาสินค้าส่งออก) ชี้ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2022 ราคาสินค้าส่งออกของจีนมีแนวโน้ม ลดลง แต่ในทางกลับกัน กราฟ Export Quantity Index (ดัชนีปริมาณการส่งออก) กลับ เพิ่มขึ้นสวนทางกันอย่างชัดเจน แปลง่ายๆ ก็คือ จีนกำลังใช้กลยุทธ์ "ลดราคา" สินค้าตัวเองอย่างหนัก เพื่อกระตุ้นยอดขายในต่างประเทศให้ได้มากที่สุด ถึงแม้จะต้องยอมกำไรน้อยลง หรือบางทีอาจจะถึงขั้นขาดทุนก็ตาม!
📉 ราคาในโรงงานติดลบ: Producer Price Index (PPI) หรือดัชนีราคาที่ผู้ผลิตขายออกจากหน้าโรงงาน ก็ ลดลงต่อเนื่องและติดลบ มาตั้งแต่ปี 2022 ยาวมาถึงปี 2025 เลยทีเดียวค่ะ นี่เป็นการตอกย้ำว่าราคาสินค้าในภาคอุตสาหกรรมจีนตกต่ำมากจริงๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขกำไรของบริษัทอุตสาหกรรมที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งหมดนี้ชี้ว่าจีนกำลัง "ทุ่มตลาด" (Dumping) อย่างหนัก เพื่อระบายสินค้าออกนอกประเทศ โดยอาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในบ้านตัวเองเท่าที่ควร
🔻 ใช้ดอกเบี้ยต่ำ-เงินหยวนอ่อนค่าช่วย: อีกเครื่องมือที่จีนใช้งัดมาสู้คือการ ลดอัตราดอกเบี้ย อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง เมื่อเงินหยวนอ่อน สินค้าจีนในสายตาชาวโลกก็จะดูถูกลงไปอีก ทำให้ยิ่งขายดี แข่งขันด้านราคาได้ง่ายขึ้น (ไม่นับว่ามีการแทรกแซงค่าเงินอยู่เป็นระยะอีกด้วย)
📊 GDP โต...แต่ข้างในกลวง?: แม้ตัวเลข GDP Real Growth หรือการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม อาจจะยังดูเป็นบวกอยู่ แต่พอเจาะลึกลงไป จะเห็นว่าการเติบโตส่วนใหญ่มาจากภาคการ "ส่งออก" เป็นหลัก ในขณะที่ "การบริโภคภายในประเทศ" (Final Consumption) และ "การลงทุน" (Capital Formation) กลับมีแนวโน้ม ลดลง อย่างต่อเนื่อง นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนกำลังมีปัญหาหนัก และยังพึ่งพาแต่การส่งออกเป็นหลักจากการทุ่มตลาดโดยหวังให้ตัว GDP Growth ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น
‼️ แล้วมันจะส่งผลกระทบอะไรต่อนักลงทุน?
คุณ Bessent เตือนว่า ถ้าจีนยังคงเดินหน้าใช้วิธี "ส่งออกกู้ชาติ" แบบนี้ต่อไป โดยไม่ยอมหันมาแก้ปัญหาใหญ่ๆ ที่หมักหมมอยู่ในประเทศตัวเองอย่างจริงจัง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่จำกัดอยู่แค่ในจีนแน่นอนค่ะ ประเทศคู่ค้าทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเราด้วย จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสถานการณ์อาจจะลุกลามบานปลาย กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกที่รุนแรงกว่าที่หลายคนคาดคิดก็เป็นได้
เพราะหากสหรัฐฯ กับจีนเจรจากันไม่ได้ สินค้าส่งออกของจีนจะต้องหาที่ระบายแน่นอนค่ะ คำถามคือ ตอนนี้จะไปที่ไหน และใครจะสู้ราคาจีนได้ 🤔
โฆษณา