Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เทพ สัญจร
•
ติดตาม
24 เม.ย. เวลา 06:14 • ไลฟ์สไตล์
เส้นทางแห่งการตื่นรู้ ใจ ปรากฎการณ์ ความเปลี่ยนแปลง
วัย 5-7 ขวบเริ่มเล่นคอมพิวเตอร์เป็น เล่นเกมส์เป็น ชีวิตนี้ก็คล้าย ๆ อย่างนั้น พอเราขึ้นมานั่งอยู่บนยอดเขาแห่งสติเป็น อยู่บนยอดเขาแห่งการตื่นรู้เป็นแล้ว เราก็เหมือนเริ่มมองแล้วเหมือน ผู้ภาวนาเป็น คำว่า
“ภาวนา”
ก็คือ การตื่นรู้นี้แหละ คำว่าทำ
“วิปัสสนา”
ก็คือ การตื่นรู้นี้แหละ
การทำสมาธิ
” ก็คือ การสังเกตทุกสิ่งทุกอย่างที่ไหลผ่านยอดแห่งจิตใจเรา การไม่เข้าไป อิน อม จม ลอย ไม่เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง ไม่กล่าวโทษ จับผิด สิ่งใด ๆ แต่เป็นผู้มองหรือฟังอย่างเงียบกริบ ไม่เผยอปากขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจของเรา ไม่โวยวาย แพ้พ่าย นั่นแหละเขาเรียกว่า ผู้ทำสมาธิ หรือว่าใจของเรากำลังมีสมาธิอยู่ พอเผยอปากขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์หรือตบตี ด่าทอไปตามเสียงสรรเสริญและนินทาเหล่านั้น ก็ถือว่าเราไม่มีสมาธิ
การทำสมาธิและวิปัสสนา
ตราบใดเรายังมีสติสัมปชัญญะนั่งอยู่บนยอดเขาแห่งการตื่นรู้ เรียกว่าเป็นผู้ทำสมาธิวิปัสสนาอยู่
การตื่นรู้
การเฝ้ามองอย่างแผ่วเบา มองอย่างสุขุม เรียกว่า ผู้ทำวิปัสสนาอยู่นะ แต่เราทำวิปัสสนานอกเครื่องแบบ เครื่องแบบหมายถึงโลกปัจจุบันเขาใส่สีขาว ใส่สีเหลือง ใส่สีต่าง ๆ ที่เรียกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ แต่เราไม่ต้องเป็นอะไรก็ได้ เพียงแต่ปลุกใจของเราให้ตื่นขึ้นมานั่งอยู่บนยอดเขา ยอดเขาแห่งจิตใจและมอง และเห็น และรู้ และทราบ ตื่นรู้อยู่บนยอดเขาสูงชัน และสิ่งต่าง ๆ จะไหลผ่านมาเป็นบทเรียน เป็นบทเรียน เป็นบทเรียน เป็นเรื่อง เป็นเรื่อง เป็นเรื่อง
ไม่ว่าชีวิตของเราจะไปอยู่ที่ไหน ที่กรุงเทพก็ตื่นรู้ ถือว่าเราได้นั่งอยู่บนยอดเขาแล้ว ตื่นรู้ไปเรื่อย ๆ เมื่อนั่งอยู่บนยอดเขาก็จะสัมผัสกับท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ ไร้ขอบเขตทุก ๆ ด้าน นั่นแหละคือที่ที่เราจะอยู่ นั่นแหละคือที่เราจะสัมผัสกับมันอยู่ทุกขณะ นั่นแหละคือบ้านเกิดของเรา นั่นแหละคือที่อยู่ของเรา นั่นแหละคือวิหารธรรมของเรา
คือยอดเขาแห่งท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ ไร้ขอบเขต ส่วนอาคันตุกะ ก็คือหมอกเมฆต่าง ๆ อุปมาเหมือนกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อุปมาดั่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ ดีชั่ว คนดี คนแย่ คนสุข คนทุกข์ คนเข้าใจเรา ไม่เข้าใจเรา นี่อุปมาดั่งเมฆหล่ะ ความคิดกระจุ๋มกระจิ๋ม จุก ๆ จิก ๆ แต่ละวันแต่ละขณะ นั่นแหละ
อุปมาดังอาคันตุกะ หรือหมอกเมฆหล่ะ อย่ารังเกียจมัน อย่ารังเกียจผู้คน อย่ารังเกียจโลกนี้ อย่ารังเกียจ รูป รส กลิ่น เสียง อย่ารังเกียจทีวี ตู้เย็น อย่ารังเกียจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนโลกนี้ อย่ารังเกียจสิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็น นอกจากไม่รังเกียจแล้ว ก็อย่าไปรักอย่างหัวปักหัวปำ
เออ! บอกว่าอย่าไปรังเกียจมันนะ ก็หมายถึงให้ไปเอามันใช่ไหม ก็ไม่ใช่ให้เอา ให้ไปยึดมั่นมัน ให้ไปแสวงหามัน ให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ให้ชื่นชมสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเขามาอย่างพอเพียง ให้ใช้อย่างพอเพียง ให้แสวงหาอย่างพอเพียง อันนี้ต้องเอาทฤษฎีในหลวงมาว่า ใช้ชีวิตอย่าพอเพียง ใช้สมบัติอย่างพอเพียง ใช้ร่างกายอย่างพอเพียง
ถ้าเรานั่งอยู่บนยอดเขาแห่งจิตใจ เราจะเห็นหรือสัมผัสหรือลึกซึ้งต่อใจแห่งท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลและว่างเปล่า ไร้ขอบเขตทุก ๆ ด้าน มันไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน คำว่า ท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล คำว่า ใจ หรือยอดเขาแห่งจิตใจ ก็หมายถึง ใจของเราธรรมดานี่แหละ จงขยับเขยื้อนถ้า ปวดเมื่อย จงผ่อนคลาย เมื่อตึงเครียด ถ้าเกร็งมากเกินไป ก็ขยับผ่อนคลายสบาย ๆ อย่าคิดว่าเราเป็นใครเป็นอะไร เราเป็นเพียงธรรมชาติ ธรรมดา ผ่อนคลาย รู้สึกแบบผ่อนคลาย มันเป็นชีวิตประจำวันของเรา
การมีสติสัมปชัญญะแบบสุขุม แบบธรรมดา
ไม่ต้องเป็นอะไร ไม่ต้องเป็นใคร
จงเป็นอย่างที่มันเป็น มันไม่มีทุกข์ ก็รู้ว่ามันไม่มีทุกข์ มันผ่อนคลาย มันไม่มีทุกข์หรอกคนเราจริง ๆ แล้ว ที่มีทุกข์ก็เพราะว่าเราไปตึงเครียดกับมันมากเกินไป ไปจริงจังกับมันมากเกินไป
ผ่อนคลาย ยอดเขาแห่งจิตใจ ก็คือ ภาวะแห่งการผ่อนคลาย ภาวะแห่งการปลดแอก ภาวะแห่งการปลดจากการเป็นทาส อย่าเป็นทาสของสิ่งใด อย่าเป็นทาสของสัจจะ อย่าเป็นทาสของคำ อธิษฐาน อย่าเป็นทาสแม้แต่พระเจ้าองค์ใด อย่าเป็นทาสของภูตผีปีศาจ อย่าเป็นทาส จงปลดปล่อยจิตใจของเราให้เป็นไท นั่นแหละคือยอดเขาแห่งจิตใจ
ก็คือชีวิตของเราธรรมดา นั่งอยู่ธรรมดา ยืนอยู่ธรรมดา ใช้ชีวิตแบบธรรมดา แล้วเราจะเห็นอาคันตุกะที่ผ่านมาเยือนบนยอดเขาแห่งจิตใจ อาคันตุกะนี้ มีเป็นหมื่น ๆ เป็นแสน ๆ เป็นล้าน ๆ อาคันตุกะ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่มาปรากฏให้เราเห็นเป็นเพียงหนึ่งในล้าน ความสุข ความทุกข์ ความรักครั้งแรก ความรักครั้งสุดท้าย ความเกียจ ความชัง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ โทสะ โมหะ นี้คือเป็นอาคันตุกะ
แต่อย่ามองอย่างกล่าวโทษ ถ้ามองอย่างกล่าวโทษ คือการไปตั้งชื่อ ให้ความหมาย แล้วไปติดในความหมายนั้น การไม่กล่าวโทษ ไม่ให้ค่า ก็หมายความว่า ให้มองเป็นเพียงปรากฏการณ์ และปรากฏการณ์นั้นก็ ว่างเปล่าในที่สุด และมันก็เปลี่ยนเป็น อนิจจัง ทุกขัง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และว่างเปล่าในที่สุด มันจึงไม่มีความหมายที่แท้จริง ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่างลักษณะ เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว ที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยโดยเนื้อแท้ โดยแก่นแท้ ไม่มีตัวตน มันดับลงไปแล้วก็เป็นใจธรรมดา
เหมือนกับการปรุงแต่งความคิดดีแต่ละครั้ง สุดท้ายก็จบลงไปสู่ใจธรรมดา ปรุงแต่ความคิดชั่ว ขึ้นมาแต่ละวัน แต่ละช่วงของชีวิต คำว่าช่วงของชีวิต หมายความว่าแต่ละช่วงมันจะมีเรื่องเด่น ๆ ในช่วงหนึ่งของชีวิต แต่นาน ๆ ไปเขาก็จะจางหายไปกลายเป็นใจธรรมดา เหมือนเด็ก ๆ จับดินสอวาดเขียนขึ้นมา เขียนไปบนแผ่นกระดาษสีขาวเรียบเนียน
ในขณะนั้นมันก็บอกว่าเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญ มันจึงเขียนออกมา แต่วันต่อมามันก็มีเรื่องอื่นขึ้นมา วันต่อมาก็มีเรื่องอื่นเข้ามา เช่นเดียวกับจิตใจของเรา ในยอดเขาแห่งจิตใจของเรา เราอย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องเด่น เรื่องดี เรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา ที่เราพบเห็นนั่นนะ อย่าให้ค่ามันมากเกินไป แล้วมันจะจบลงหมด แล้วมันจะสิ้นสุดลงหมด และมันจะจางหายไปหมด
ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นภาพลวงตา เป็นภาพมายา ในสุดท้ายก็ว่างเปล่า กลับไปสู่ใจธรรมดา เมื่อมันสิ้นสุดบทบาทลง เช่นความรักมันสิ้นสุดบทบาทลง มันลงตรงไหนรู้ไหม
“ตุ้ม” มันก็กลับมาอยู่กับตุ้มธรรมดานี่หล่ะ ตุ้มก็มาเป็นตุ้มธรรมดา “คำรณ” ก็มาเป็นคำรณธรรมดา นั่นแหละเขาเรียกว่า ความรักมันสิ้นสุดบทบาทลง ความชังมันสิ้นสุดบทบาทลง มาอยู่ตรงไหนรู้ไหม? ก็มาอยู่บนยอดเขาแห่งใจธรรมดานี่หล่ะ มาอยู่กับการลืมตา อยู่กับธรรมชาติธรรมดา
หรือหลวงปู่พุทธทาส เรียกว่า จิตว่าง จิตว่าง ๆ จิตเดิมแท้ จิตประภัสสร จิตหนึ่ง ใจธรรมดา นี้แหละ พอความรัก ความชัง มันสิ้นสุดบทบาทลง มันมาอยู่ตรงนี้ เหมือนน้ำชา น้ำกาแฟ น้ำโอวัลติน เมื่อมันสิ้นบทบาทลง ก็กลายมาเป็นแก้วเปล่าไง คำว่า แก้วเปล่านี้ ไม่ใช่ว่าเปล่าเฉย ๆ มันมีความธรรมดา มีความงาม มีความเรียบเนียน เหมือนเราดึงดอกไม้ออกจากแจกัน ดึงออกทุกดอกเลยนะ เทน้ำอยู่ในแจกันออกเลย มันก็จะเป็นแจกันเรียบว่าง เปรียบเหมือนใจของเราเรียบๆ ง่าย ๆ ตรงนี้ นอกจากใจเรียบ ๆ ง่าย ๆ ตรงนี้ มองไปบนท้องฟ้า
อาจารย์ : มองเห็นอะไร คำรณ มองเห็นอะไรตุ้ม แหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้า
ตุ้ม : มองเห็นดวงจันทร์ครับอาจารย์
อาจารย์ : ใต้ดวงจันทร์นั้นนะมีอะไร
เมฆสีชมพู เห็นเจดีย์ องค์ประกอบมันมีหลายอย่าง ใจเรียบเนียน ใจธรรมดานี้ มันมีธรรมชาติบางอย่างที่ปรากฏอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าว่างเปล่านะ หลังจากความโกรธมันสิ้นสุดบทบาทลง มันก็กลับมาอยู่ตรงนี้แหละ แต่บางทีเราหลงลืมตรงนี้ ตรงที่เรียบเนียนธรรมดา เราหลงลืมพื้นฐานของบ้านเกิด เขาเรียกว่าส่วนใหญ่คนเราลืมตัว ลืมตัวลืมตน ลืมบ้านเกิด
คำว่าบ้านเกิดที่แท้จริง
หรือตัวตนที่แท้จริงของเรา ก็หมายความว่าใจธรรมดา จิตเดิมแท้ จิตหนึ่ง หรือว่าภาวะพื้นฐานใจธรรมดานี้แหละ คนเรามันหลงลืม คนเรามันไม่รู้สึก นี้คือภาวะที่สมบูรณ์สุด ความรักมันมายั่วให้เราหลงลืมความสมบูรณ์เป็นบางครั้งคราว ความโกรธ หรือความชัง ความอิจฉา มายั่วให้เราหลงลืมบ้านเกิดเป็นช่วงครั้งชั่วคราว ชวนเราแพคกระเป๋าหนีไป แล้วก็กลับมาบ้านเกิด
ความรักกี่หมื่น กี่แสนล้านความรัก ก็จะกลับมาที่บ้านเกิด หรืออยู่บนยอดเขาอันแห้งเหี่ยวเดียวดายหรือเปล่า ? ไม่แห้งเหี่ยวเดียวดายนะ มันเต็มไปด้วยความชุมช่ำ เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ ที่ว่า เราว่ามันเหงา มันเศร้า มันว้าเหว่ ตั้งแต่แรกตอนวัยหนุ่ม กลับเป็นเรื่องสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เหงาหรอก แต่ตอนหนุ่มๆ นั้นเรา ยังสับสนกับภาวะตรงนี้อยู่ ยังไม่เข้าใจ เรายังไม่ลึกซึ้งมัน เรายังไม่แจ่มแจ้งมัน
พอมีคนมาร่อนจานแห่งความรักมา มันก็เลยวิ่งไล่ตระคลุบเอาไง เหมือนหมาล่าเนื้อ ลองนึกภาพหมาตัวหนึ่งที่ชายทะเล พอเจ้าของร่อนจานไป มันก็วิ่งไล่งับ พอไล่งับเสร็จมันก็มาพักหอบ ก็ร่อนไปใหม่ บางทีมันก็ขี้เกียจ เจ้าของก็หาเศษอาหารดี ๆ ปลาทูน่า หาเศษอาหารอัดเม็ด เอาให้มาเป็นรางวัล แล้วแต่งแต้มสีสัน จานร่อนหลอกให้สวยงามกว่าเดิม ก็ร่อนไปอีก มันก็วิ่ง กลับมาก็มานั่งหอบ ก็ได้ขนมหวานหน่อย
จนกว่าจะขี้เกียจวิ่ง จึงจะมานั่งอยู่บนยอดเขาสูงชัน และสัมผัสกับท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล ก็คือหมายถึงใจอันธรรมดา จนกว่าจะยินดี หรือสัมผัสกับใจธรรมดาของตัวเองได้ ต้องใช้เวลาวิ่งอยู่หลายรอบ วิ่งหลายภพ หลายชาติ หลงเพลิดเพลินในความรักความชัง จึงจะหยุดได้
บางคนคนแก่พอแม่เรา บางคนเขาเคยเป็นเสือ เป็นสิงค์ เคยปล้น เคยจี้ เคยโมโห โทโส เคยรัก เคยโลภ เคยโกรธ เคยหลง ไม่ได้ดังใจก็โวยวาย แพ้พ่าย ทำตัวแปลก ๆ จนกว่าเขาจะมานั่งหยุดเย็นอยู่ได้ ต้องผ่านประสบการณ์มากมายเหมือนกันนะ คนแก่บางคนก็ยังทิ้งประสบการณ์เดิมๆ ไม่ได้ เคยโมโห ก็โมโหอยู่นั่นแหละ จนแก่ จนเฒ่า แล้วตายไป
ถ้าเรามีสติ รู้ว่า เรื่องทุกเรื่อง ประสบการณ์ทุกประสบการณ์ต้องจบสิ้นลง เหมือนเมฆ ไหลผ่านยอดเขา และสิ่งต่าง ๆ ก็ยึดเอาไว้ไม่ได้ด้วย ดังพุทธองค์บอก ว่า “ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น “ เพราะมันไหลเหมือนหมอกเมฆ มันไร้สาระ มันว่างเปล่า มันไม่มีตัวตนให้ยึด มันเพียงปรากฏการณ์ที่อาศัยกันและกันผสมผสานบวกกัน เป็นรูปทรงขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น
โดยเนื้อแท้มันไม่มีตัวตนให้ยึดถือ ไม่มีส่วนไหนให้ยึดถือ ยึดไม่ได้ เพราะมันว่างเปล่า เหมือนเงาในกระจก เหมือนหมอกเมฆในท้องฟ้า เหมือนฟองน้ำ เหมือนภาพในความฝัน ยึดไว้ไม่ได้
สิ่งใดก็ตามที่ผ่านมาบนยอดเขาแห่งจิตใจเรา ยึดไว้ไม่ได้ ก็เหมือนกับพระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้ว่า “ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น “ยึดไว้ไม่ได้ เพราะมีอาการไหลตลอดเวลา ที่ว่า สังขารทั้งปวงมีความไม่เที่ยง สังขารเป็นอนิจจัง หลวงปู่ชา ใช้คำว่า สังขาร มันบ่แน่ ยึดไว้บ่ได้ มันบ่แน่ สิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็น ก็เหมือนกัน สิ่งใดที่เราพบเห็นแสดงว่ามันไหลผ่านมาในยอดเขาแห่งจิตใจเรา เจดีย์อยู่ตรงหน้าเรา เจดีย์ไหลผ่านมาในใจของเรานะ ไม่ใช่ว่าเรามานั่งดูเจดีย์นะ
ถ้าหากว่าเรานั่งนับเงิน หรือจ่ายเงินที่ตู้บนทางด่วน รถทุกคนจะไหลผ่านใจของเรา และตู้ และเหตุการณ์นั้นๆ ก็จะไหลผ่านใจของเรา นั่นแหละมันจะไหลไปหมดเลย มาอยู่ตรงนี้สิ่งนี้ก็ปรากฏขึ้น และสิ่งนี้ก็ไหลผ่านมาปรากฏในใจของเรา ไม่ว่าอะไรต่างที่ปรากฏในจิตใจที่เราพบเห็น นั่นกำลังไหลผ่านจิตใจของเรา คู่รัก คู่ชีวิต ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่ผ่านเข้ามาในจิตใจของเรา มันไหลผ่านมา และไหลผ่านไป
ลึกลงไปในหัวใจของเรา ก้นบึ้งแห่งจิตใจของเรา ก็คือความรู้สึก ความสุข ความทุกข์ ความปีติ ความเหงา ความเศร้า มนุษย์มักจะมีสิ่งเหล่านี้ เมื่อพบเห็นสิ่งใดอย่าหวาดหวั่นมัน เพียงแต่กระดิกนิ้ว หรือเปลี่ยนอริยะบท มันก็หายไปแล้ว เพียงแต่หัวเราะและยิ้มรับมัน มันก็จะจางหายไปแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย
ถ้าหากเราตื่นรู้ในการเฝ้ามอง เฝ้าสังเกต ก็เท่ากับเรา ทำวิปัสสนา ทำสมาธิวิปัสสนาอยู่ทุกขณะแล้วเราจะเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ว่าทุกอย่างมาแล้วไปจริง ๆ เกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง ดังพุทธเจ้าตรัสบอกไว้ว่า “ อนิจจัง “ ดังที่หลวงปู่ชาบอกไว้ว่า มัน “ บ่แน่” นอกจากเป็น อนิจจัง แล้วก็เป็น ทุกขัง อนิจจัง สิ่งที่เราพบเห็น มันไม่เที่ยง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มันว่างเปล่าในที่สุด
ว่างเปล่า ก็หมายความว่า มันกลับมาที่ใจธรรมดานี้แหละ อย่าไปนึกถึงความว่างเปล่าที่ไหนนะ มันกลับมาใจธรรมดานี้ นี่คือความว่างเปล่า ฐานของความสุข ความทุกข์ มันก็คือใจธรรมดานี่แหละ ใจที่เราอยู่ธรรมดานี้ อาจจะล้างถ้วยก็ได้ ล้างจานก็ได้ กวาดลานวัด นั่งก็ได้ ยืนก็ได้ พามันเดินก็ได้ พามันไปไหนต่อไหนก็ได้
เปลี่ยนอริยบท เปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนปรากฏการณ์ก็ได้ อยู่ในท่ามกลางใจธรรมดา ก็เท่ากับเรานั่งอยู่บนยอดเขา และมือนี้ก็ไม่คว้าไปยึดเอาเมฆมาไว้ ปากก็ไม่วิพากษ์วิจารณ์ เมฆที่ไหลผ่านมา ใจก็ไม่ตัดสินเมฆที่ไหลผ่านมา ใจก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง ยึดมั่น ถือมั่นเอาไว้ไม่เป็นลักษณะบุรุษขึงตาข่าย ดักสายลม หรือดักหมอกเมฆเอาไว้ ไม่เป็นบุรุษประเภทนั้น ไม่เป็นบุรุษร่างกายกำยำ ก่อกำแพงคอนกรีต กั้นเมฆเอาไว้ ไม่เป็นบุรุษ ที่ถือซันไลต์ ไฮเตอร์ ขัดท้องฟ้า
เพียงแต่นั่งอยู่บนยอดเขา ด้วยมีสติสัมปชัญญะ และตื่นรู้รับทราบ เมฆต่าง ๆ คำว่าเมฆต่าง ๆ มันมีหลายเมฆ มีเมฆแดง เมฆขาว เมฆชมพู เปรียบดังความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ มีมากมาย มีหลากหลายมาก จงสุขุมทุกสภาพเมฆ เจอเหตุการณ์ไหนก็สุขุมเข้าไว้ แล้วมันจะผ่านไป อย่าคิดว่ามันจะไม่ผ่าน
เหมือนกับเรื่องราวในวัยเด็ก วัย 5-10 ก็จบไปนานแล้ว เรื่องราววัย 10-20 ขวบ มันก็จบไปนานแล้ว วัย 20-30 มันก็จบไปนานแล้ว วัย 30-40 มันก็จบไปนานแล้ว และวัยนี้ ถึงวัยข้างหน้า อีกกี่ปี หรืออีกกี่หมื่นกี่แสนความรู้สึก กี่แสนเหตุการณ์มันก็จะจบลงหมด เราจะต้องหวาดหวั่นอะไรอีก เราจะต้องกลัวอะไรอีก จงใช้ชีวิตอย่างเป็นไท เป็นอิสระ มีเสรีภาพในหัวใจ พวกที่มีอิสระมีเสรีภาพในหัวใจ ก็หมายความว่าเรายืนอยู่บนยอดเขาอันสูงชัน ไม่ยึดติดในสิ่งต่าง ๆที่ผ่านเข้ามา เป็นผู้มีใจเป็นอิสระ มีเสรีภาพ ไม่เป็นทาสของสิ่งใด
อาจารย์กะลา เรปะ
บันทึก
3
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย