24 เม.ย. เวลา 08:17 • ปรัชญา

watthakhanun

การละเล่นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเด็กผู้หญิงเพื่อนกันมักจะนิยมเล่นมาก ก็คือการเล่นตั้งเต หรือบางคนออกเสียงว่า "ต้องเต" จะมีการขีดตารางขึ้นมา เป็นลักษณะของตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แล้วมีครึ่งวงกลมเป็นหัวอยู่ด้านบน เราจะต้อง
กระโดดตามวิธีการที่เขากำหนด มีทั้งเขย่งกระโดดขาเดียว กระโดดขาคู่ ถ้าหากว่าไม่ผิดพลาดจนเรียกว่า "ตาย" ก็จะสามารถไปถึงจุดหมายคือหัวด้านบนได้ เด็กผู้หญิงที่เรียบร้อยจะไม่เล่นตั้งเตเหล่านี้ หากแต่ว่าเด็กผู้หญิงสมัยก่อนนั้นก็หาเรียบร้อยได้ยากมาก เพราะว่าเป็นลูกชาวไร่ชาวนากันทั้งนั้น..!
ถามว่าเป็นลูกชาวไร่ชาวนาแล้วดีอย่างไร ? ก็ขนาดเด็กผู้ชายจับกบ หรือว่างู หรือจิ้งจกโยนเข้าใส่ แทนที่อีกฝ่ายจะร้องกรี๊ดวี้ดว้ายแล้ววิ่งหนี กลับคว้าได้แล้วเหวี่ยงคืนมา..! ถ้าหากว่าเป็นเด็กสมัยนี้อาจถึงขนาดช็อกตายไปแล้ว แต่เด็กบ้านนอกของเรานั้น เรื่องจิ้งจก ตุ๊กแก งูเงี้ยวเขี้ยวขอต่าง ๆ แทนที่จะกลัวก็กลับกลายเป็นของเล่นไป..!
ถึงขนาดมีการจับงูเขียวปากจิ้งจก ซึ่งบางทีก็เป็นงูเขียวปากแหนบเสียมากกว่า แต่ว่าตอนเป็นเด็กนั้นแยกไม่ออกว่าต่างกันอย่างไร ? แล้วเจ้างูนี้ก็มีนิสัยประหลาดมาก ก็คือถึงเวลาถ้าหากว่าจับไปเอาหัวทิ่มขี้ควายสด ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขี้ควายเหลว ๆ ถ้าจิ้มใส่เมื่อไรแล้วจับโยนทิ้ง มันก็จะไล่กัดเฉพาะคนที่จับมันไปจิ้มขี้ควายเท่านั้น ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกลียดขี้ควายอะไรนักหนา ?!
พอ ๆ กับที่เด็กสมัยนั้นทุกคนรู้ว่าลิงนั้นเกลียดกะปิ ดังนั้น..ลิงที่วัดก็มักจะโดนหลอกให้จับกะปิอยู่เสมอ แต่ว่าเป็นที่น่าสงสารว่าถ้ากะปิติดมือแล้ว ลิงดมดูถ้ายังได้กลิ่น ก็จะเอามือถูกับต้นไม้บ้าง ถูกับพื้นบ้างจนกว่าจะหมดกลิ่น บางทีถูจนมือถลอก เลือดออกแล้วยังไม่หมดกลิ่น ลิงก็ยังคงถูต่อไปอีก..! ธรรมชาติของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ บางทีก็เป็นเรื่องที่เอามาเล่นกันสนุกสนาน โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่าเป็นการทรมานสัตว์หรือเปล่า
ในยุคสมัยนั้น บ้านเรือนส่วนใหญ่มักจะเป็นเรือน "เครื่องผูก" หรือว่า "เครื่องสับ" ก็คือเป็นเรือนที่ปรุงมาจากไม้ไผ่เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่สีสุก หรือว่าไม้ไผ่รวกก็ตาม จะเอามาสับฟาก ทำเป็นเตียงบ้าง ทำเป็นพื้นบ้านบ้าง หรือว่าทำเป็นข้างฝาบ้าง ตัวเรือนนั้นก็ใช้เสาไม้ไผ่ บางทีก็ตั้งบนพื้น บางทีก็ฝังลงดินไปสักคืบสักศอกเท่านั้น แล้วก็ใช้ไม้ไผ่เป็นคานพาด
เมื่อมีคานสองชั้นแล้ว ก็จะเรียงตัวไม้ไผ่เอาไว้จนกระทั่งเต็มพื้นที่ ผูกเอาไว้ พอแน่นหนาแล้วก็ตีฟากวางลงไป หลังจากนั้นทางท่อนบนก็ต่อเสาไม้ไผ่ขึ้นไปทำข้างฝา เมื่อได้ข้างฝาขึ้นมาแล้วก็มุงหลังคา บางบ้านก็ยังใช้ไม้ไผ่มุงหลังคาด้วย แต่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นบ้านคนจีน เนื่องเพราะว่าคนจีนนั้นถนัดใช้ใบไผ่เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเอามามุงหลังคา เอามาทำขนมจ้าง หรือว่าเอามาทำหมวกที่เรียกว่า "กุยเล้ย"
เมื่อเป็นเพียงเครื่องผูกเครื่องสับ จึงเป็นอันตรายได้ง่าย เพราะว่าเผลอขึ้นมาเมื่อไรก็ไฟไหม้ แล้วบรรดาผู้ใหญ่ก็มักจะเอาข้าวของเหน็บหลังคาเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นของใช้ หรือกระทั่งหนังสือสำคัญอย่างเช่นทะเบียนบ้าน หรือว่าสูติบัตรของเด็ก ๆ เมื่อถึงเวลาไฟไหม้ขึ้นมา เอกสารสำคัญก็หายหมด แล้วผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญในการทำใหม่อีกด้วย..!
ถึงเวลาเด็ก ๆ จะไปโรงเรียน ไม่มีสูติบัตรไป ก็ต้องลำบากเดือดร้อนทั้งคุณครูและผู้ใหญ่บ้าน ที่จะต้องไปยืนยันว่าเด็กคนนี้อายุได้ ๗ ขวบเต็ม ขึ้น ๘ ขวบแล้ว สามารถเข้าโรงเรียนได้ ก็ต้องไปไล่หาวันเดือนปีเกิดกัน เพราะว่าส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ก็ไม่รู้ว่าวันศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ เป็นอย่างไร มักจะรู้แต่วันขึ้น - วันแรมเท่านั้น
อันดับแรกเลย ต้องหาให้ได้ว่าเกิดปีไหน ? ก็ต้องช่วยเหลือกัน เพราะว่าผู้ใหญ่บางทีเป็นสิบ ๆ ราย ก็ไม่มีใครรู้ว่าลูกหลานตัวเองเกิดเมื่อไร ? ต้องไปช่วยกันเตือนความจำ อย่างเช่นว่า "ลูกแกเกิดตอนควายบ้านข้าออกลูกพอดี" ในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องมาไล่ว่าควายตัวนั้นอายุได้กี่ปี ? พอถึงเวลาแล้วก็ต้องมาหาเวลาเกิด อย่างเช่นว่า "มัน
เกิดเวลาบ่ายควาย" คำว่า "บ่ายควาย" ในที่นี้ก็คือเวลาที่แดดร้อนมาก มักจะเลยเที่ยงไปแล้ว เขาจะปล่อยควายที่ไถนาให้ไปพักผ่อน กินหญ้ากินน้ำ หรือบอกว่า "เกิดตอนได้ยินเสียงพระตีกลองเพลพอดี" เหล่านี้เป็นต้น
คุณครูก็จะหาวันเกิด หาเวลาเกิด ส่วนใหญ่วันเกิดนั้นบางทีก็สมมติกันไปเรื่อย อย่างเช่นว่า "เกิดตอนขนข้าวขึ้นยุ้ง" ก็แปลว่าจะเกิดประมาณปลายเดือนมีนาคม คุณครูก็
จะลงวันที่ว่าเลยวันที่ ๒๐ มีนาคมไปแล้ว อย่างเช่นว่า ๒๑ หรือ ๒๒ มีนาคม เป็นต้น หรือไม่ก็ "เกิดตอนฝนชะช่อมะม่วงตก" ก็มักจะอยู่ปลายเดือนมีนาคมหรือว่าต้นเมษายน ถ้าหากว่า "เกิดหน้าน้ำหลาก" ก็มักจะอยู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ต้องบอกว่าครูและผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้นมีความสามารถพิเศษ ในการที่จะกำหนดจดจำ แล้วก็หาวันเดือนปีเกิดให้กับเด็ก ๆ จนได้..!
แต่ว่าโยมแม่ของกระผม/อาตมภาพนั้นจดจำแม่นเป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่มีลูกถึง ๑๓ คน แต่ละคนเกิดวันเดือนปีเกิดอะไรจะจำได้หมด แต่ว่าจำเป็นแบบจีน จึงต้องมีกำนันซึ่งมีเชื้อสายจีนมาแปลกลับเป็นภาษาไทยให้คุณครูได้รู้ วันเดือนปีเกิดของพวกกระผม/อาตมภาพจึงค่อนข้างที่จะแน่นอนว่าถูกต้อง
เพียงแต่ว่าบางบ้านนั้นก็ "แจ้งเกิดช้า" ในเมื่อแจ้งเกิดช้า บางทีอายุจริงไป ๓ ขวบ ๕ ขวบแล้ว แต่ว่านายทะเบียนลงให้เป็นวันนั้นไปเลย จึงทำให้คนโบราณนั้น บางทีวันเดือนปีเกิด กับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านนั้นไม่ได้ตรงกัน ไปก่อปัญหาให้ทีหลัง
หลายอย่างเหมือนกัน อย่างเช่นว่าไปเจอคนซื่อตรงเข้า พอถึงเวลาไม่รู้ว่าวันเดือนปีเกิด ตามหลักฐานของตนเองคืออะไร ? ก็บอกวันเดือนปีเกิดที่แท้จริงไป ทำเอาเสมียนอำเภอ หรือว่านายทะเบียนปวดหัวไปตาม ๆ กัน เป็นเรื่องขบขันที่หัวเราะไม่ออกของคนสมัยนั้นทีเดียว..!
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๘
โฆษณา