เมื่อวาน เวลา 15:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เตรียมลาตลาดสหรัฐถาวร ‘ผู้ส่งออกจีน’ หันหาตลาดอื่น หากยังดื้อดึง ก็มีแต่จะตายเร็วขึ้น

ภายใต้ภาษีทรัมป์ 145% ‘ผู้ส่งออกจีน’ จำนวนมากเริ่มโบกมือลาตลาดสหรัฐอย่างถาวร เสี่ยงต้องปิดโรงงานในอีกไม่กี่เดือน ขณะที่ ‘ผู้บริโภคสหรัฐ’ จะเผชิญราคาของที่แพงขึ้นและขาดแคลนสินค้าสำคัญในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ด้วยภาษีทรัมป์ที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีนถึง 145% โรงงานที่ผลิตสินค้าต่าง ๆ เช่น เครื่องชงกาแฟและกางเกงโยคะของจีนจำเป็นต้องหยุดส่งออกไปยังสหรัฐ และหยุดสายการผลิตเหล่านั้น โดยเหลือการทำงานเพียง “3-4 วันต่อสัปดาห์” เท่านั้น
แม้ทรัมป์จะส่งสัญญาณว่า อัตราภาษีต่อจีนจะไม่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ตลอดไป แต่ผู้ส่งออกบางรายที่หวาดวิตก ก็เริ่มวางแผนถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐ “อย่างถาวร” และหันไปมองภูมิภาคอื่น เช่น ตะวันออกกลางแทน
1
“ขณะนี้ผู้ส่งออกกำลังพยายาม ‘เอาตัวรอด’ จากวิกฤติในปัจจุบัน” หวัง ซิน ประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแห่งเซินเจิ้น ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ส่งออกประมาณ 3,000 รายกล่าว “ธุรกิจต่าง ๆ กำลังหาทางสร้างรายได้เงินสด เช่น การขายสินค้าคงคลังในราคาที่สูงขึ้น และการยกเลิกสัญญาเช่าคลังสินค้าในสหรัฐ” เธอกล่าว
หนึ่งในผู้ส่งออกเหล่านั้นคือ ผู้ค้าปลีกจากนครกว่างโจว ซึ่งจำหน่ายชุดชั้นในและกางเกงโยคะผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Amazon, Temu และ Shein โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัทได้ตัดสินใจหยุดส่งสินค้าไปยังสหรัฐทั้งหมด และปรับขึ้นราคาสินค้ายอดนิยมบางรายการมากถึง 30% เพื่อสร้างรายได้เงินสดเพิ่มเติม
1
“เรามีการประชุมฉุกเฉินหลายครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับก้าวต่อไปของเรา ข้อสรุปก็คือ เราจะเลิกพยายามสู้ในตลาดสหรัฐแล้ว” หวง หลุน ผู้จัดการฝ่ายขายกล่าว
สถานการณ์ยากลำบากของผู้ส่งออกจีนเช่นนี้ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐต้องเผชิญกับ “ราคาสินค้าที่สูงขึ้น” และ “การขาดแคลนสินค้าสำคัญ” ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แนวโน้มที่เลวร้ายเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นว่า สหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากทำเนียบขาวไม่ยอมถอยจากนโยบายขึ้นภาษีที่ขู่ว่าจะนำมาใช้
ด้านจีนเอง ก็เผชิญกับ “ความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ” เช่นกัน เมื่อตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดหยุดชะงัก โรงงานจำนวนมากจึงลดการผลิตลงเหลือเพียงสามถึงสี่วันต่อสัปดาห์ โดยอ้างอิงจากผลสำรวจอุตสาหกรรมล่าสุดที่จัดทำโดยสมาคมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแห่งเซินเจิ้น
“ด้วยภาระค่าใช้จ่ายจากเงินกู้ธนาคารและเงินเดือนพนักงาน จะมีคลื่นของการปิดโรงงานและการเลิกจ้างแรงงานเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” หวัง ซิน ซึ่งเป็นประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซฯ กล่าว
ด้านเจนนี่ หวัง พนักงานฝ่ายขายของบริษัทผู้ผลิตผ้าม่านในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง กำลังพยายามกระจายตลาดออกไปนอกเหนือจากสหรัฐ แม้ว่าลูกค้าปัจจุบันถึง 90% ซึ่งเป็นธุรกิจที่หยุดชะงักลงอย่างกะทันหันจะอยู่ในตลาดสหรัฐก็ตาม
เธอกล่าวว่า บริษัทจะพิจารณากลับมาส่งออกไปยังสหรัฐอีกครั้ง ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ภาษีมีความชัดเจน แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้น บริษัทกำลังมองหาโอกาสในตลาดอื่น เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง
1
“ตอนที่ภาษีถูกปรับขึ้นเป็น 54% ผู้คนก็แทบจะไม่เหลือกำไรอยู่แล้ว แต่ก็ยังตัดสินใจอยู่ต่อ และใช้เวลานั้นหาตลาดใหม่ด้วยเงินสดที่ยังพอได้จากตลาดสหรัฐ” หวังกล่าว “แต่พอขึ้นเป็น 125% แล้วก็ 145% ผู้คนก็เลือกจะถอนตัว เพราะถ้ายังดื้อดึงอยู่ต่อในตลาดสหรัฐ ก็มีแต่จะตายเร็วขึ้น”
อ่านต่อ:
โฆษณา