24 เม.ย. เวลา 12:46 • ไลฟ์สไตล์

ปุจฉา ... วิสัชนา (จากหนังสือ ชุดอิสรภาพแห่งชีวิต )

มีการสนทนาซักถามโต้ตอบระหว่างผู้มาปฏิบัติธรรมและหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่ส่งผลให้ได้อย่างรวดเร็ว ชนิดที่เรียกได้ว่า "ชั่วอึดใจเดียว" ดังมีเนื้อหาสาระเป็นที่น่าสนใจดังนี้
ปุจฉา : ความสงบที่หลวงพ่อพูดถึงคืออะไรครับ ?
วิสัชนา : ความสงบที่เราสนใจกันนั้น โดยมากคนไปทำมันขึ้นมาให้สงบ ส่วนคำว่าสงบในพระพุทธศาสนาคือการจบเรื่องกัน
ไม่ศึกษาอะไรที่ไหนอีกแล้ว
ปุจฉา : หมายถึงปล่อยวางใช่ใหมครับ ?
วิสัชนา : จะว่าหมายถึงปล่อยวางก็ได้ คำพูดมันเป็นเพียงการสมมุติ คือเรื่องมันจบกัน คือหมดการศึกษาอะไรต่อไปอีก หยุดการเดินหน้า หยุดการถอยหลัง หยุดการไปการมาทั้งหมด แต่คนเรามักไปสร้างความสงบขึ้น โดยเข้าใจว่าต้อง นั่งเอามือประสานกันไว้ที่หน้าตักแล้วหลับตาลงจึงจะสงบ
นั่นไม่ใช่ความสงบ นั่นเราไปสร้างมันขึ้นมา ความสงบมันมีอยู่แล้ว อย่างที่คนเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ นี่เรียกว่าสงบก็ได้ ไม่คิดอะไรใช่ไหม คือเฉยๆ อยู่ลักษณะนี้ แหละสงบ ใครพูดอะไรก็ต้องได้ยินและรู้เรื่อง ตามองก็เห็น นี่ก็เรียกว่าสงบ ไม่ต้องไปทำอะไร แต่จะหลับตาก็ได้ ไม่หลับตาก็ได้ ไม่ได้ห้าม หน้าที่ของตาคือสามารถมองเห็น เราก็ให้มันทำตามหน้าที่ของมันเท่านั้นเอง อย่าไปฝืนมัน ถ้าไปฝืนธรรมชาติของมัน มันก็ไม่สงบ
ปุจฉา : ผมพยายามทำใจให้ปล่อยวางให้สงบ
วิสัชนา : นั่นแหละมันไม่เข้าใจ อันความพยายามทำความปล่อยวางนั่นแหละ เราไปจับมันเข้าไว้แล้ว เราไม่รู้ความคิดแล้วเราไปคิดมันขึ้นมาว่า "จะปล่อยวาง" มันจึงเป็นสองเรื่องแล้ว มันเป็นความคิดสองชั้นแล้วนั่นน่ะ มันไม่รู้จักวิธีจะปล่อยวาง มันทุกข์นะ เมื่อเราไปคิดพยายามจะปล่อยวางมัน มันเป็นสองทุกข์เข้าไปแล้ว หนึ่งมันคิดไปตามเรื่องของมัน สองเราพยายามปล่อยวางมัน เป็นสองทุกข์เข้าแล้วนะ ไม่ใช่ให้เราพยายามมัน ที่เราไปพยายามนั่นแหละ เราไปทำให้มันทุกข์แล้ว
ปุจฉา : แล้วจะทำอย่างไรครับ ?
วิสัชนา : เราเพียงรู้ ไม่คิด คือพอดีเราคิดขึ้นมา เราปล่อยทันทีมาทำความรู้สึกตัว กำมือเข้ามา แบมือออกไปก็ได้ แล้วเราจะได้รู้สถานที่ที่ตรงนั้นเอง ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ ซึ่งได้แก่ ทุกข์ให้กำหนดรู้ สมุทัยต้องละ มรรคต้องเจริญ นิโรจทำให้แจ้ง แต่นี่เราไม่รู้ตัว พอมันคิดแล้วเราก็ไปคิดอีก มันก็เลยเป็นสองชั้น ที่นี้พอดีมันคิดเราก็มาทำความรู้สึกตัว มันจะวางของมันเอง
ปุจฉา : ประโยชน์ของมันล่ะครับ ?
วิสัชนา : ประโยชน์หรือผลของมันคือความไม่มีทุกข์ ซึ่งมันมีอยู่ในคนทุกคนอยู่แล้ว เมื่อมันคิดขึ้นมา เราอย่าพยายามให้มันหยุด อย่าไปห้าม เรามารู้สึกตัว แล้วมันจะวางความคิดมาอยู่กับความรู้สึกตัว มันจะหยุด ทำบ่อยๆ ทำไปแล้วคุณจะรู้เอง และเมื่อคุณรู้คุณจะร้องอ๋อ คุณรู้เองแล้วคุณจะต้องแจ้ง ไม่ใช่หลวงพ่อพูดแล้วคุณจะรู้ได้ ก็รู้ได้แต่รู้ได้เพียงสัญญา
ปุจฉา : หลุดพ้นไปใช่ไหมครับ ?
วิสัชนา :เมื่อมันยังไม่แจ้ง มันก็พ้นไม่ได้
ปุจฉา : ที่หลวงพ่อพูดว่าให้พลิกมือ หรือให้รู้สึกตัวนี้ เพื่อให้มันปล่อยจากความคิด โดยปกติคนทั่ว ๆ ไป เวลาทุกข์ขึ้นมาก็ไปฟังเพลง ไปดูหนัง ไปเดินเล่น อันนั้นมันต่างไปจากที่หลวงพ่อแนะนำอย่างไร เพราะวิธีนั้นก็ลืมของเขาเองได้เหมือนกัน
วิสัชนา : มันต่างกัน อันนั้นเขาเรียกว่า "ระงับได้" เคยเห็นโคลนตมบ้างไหม พอวัวควายเดินเหยียบน้ำเหยียบตมไป น้ำมันต้องขุ่นใช่ไหม อย่างวิธีที่เราไปดูหนังดูละครหรือเราไปนั่งทำความสงบ ตมตะกอนนั้นมันไม่ออก มันยังขังอยู่ที่นั่น มันพร้อมจะผุดขึ้นมาก ส่วนอันนี้มันคนละเรื่องกัน
อย่างที่หลวงพ่อพูด พอดีมันคิด เราทำความรู้สึกตัว มันจะวางความคิดเหมือนกับเราเอาน้ำในขวดที่มีตะกอนไปกรอง ตะกอนก็อยู่ส่วนตะกอน น้ำก็อยู่ส่วนน้ำ จริง ๆ แล้วน้ำไม่ได้ขุ่น น้ำมันก็เป็นน้ำ ตะกอนก็อยู่ส่วนตะกอน อย่างที่เราว่าจิตใจเราคิดมันทุกข์ แต่ความจริงใจมันไม่ได้ทุกข์ แต่เราไปเข้าใจว่ามันทุกข์ มันไม่ใช่ใจทุกข์นะ ตัวทุกข์นั้นคือตัวคิดนั่นเอง
พอดีเราคิดปุ๊ป เราก็เลยเข้าไปในความคิด แล้วเราหยุดมันไม่เป็นมันจึงคิดต่อไปเรื่อยไป แล้วเราก็ไปหาวิธีระงับโดยการไปเที่ยวเตร่
แต่ความจริงสิ่งนั้นไม่สามารถที่จะระงับทุกข์ได้ เป็นเพียงเราไปทำให้มันลืมเท่านั่นเอง
ปุจฉา : คือการพิจารณาว่า สิ่งนี้ไม่ควรยึดมั่น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ควรปล่อยวางเสียใช่ไหมครับ ?
วิสัชนา : ไม่ใช่ นั่นมันเพิ่มขึ้นมาเป็นสองคิดแล้ว นี่มันเป็นสองทุกข์แล้ว พอดีมันคิดปุ๊ป เรารู้สึก มันหายไปเอง ถ้าไปพิจารณาว่าเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา มันเป็นวิตกวิจารณ์ เป็นคิดไปแล้ว
ปุจฉา : พอดีคิดปุ๊ป ก็รู้สึกตัวความรู้สึกตัวอันนี้ต่างหากที่จะมีผลให้มันหยุดเองใช่ไหมครับ ?
วิสัชนา : ใช่ นั่นแหละ ข้อสำคัญทำให้มันรู้ มันเป็น ไม่ใช่ให้มันรู้โดยสัญญา คิดรู้เอาจากการศึกษา จากตำรา หรือจากการตรองเอาตามเหตุตามผล
ปุจฉา : สรุปว่า ความคิดทีอยู่ใต้โมหะ ( ความรู้สึกตัว ) นี่เราต้องปัดมันไปเลยใช่ไหมครับ ?
วิสัชนา : ปัดไปเลย
ปุจฉา : แต่ความคิดที่เป็นไปด้วยสติปัญญา เราต้องคิดเพื่อการเพื่องานของเรา เราต้องคิดใช่ไหมครับ ?
วิสัชนา : อันนั้นถ้าไม่คิดก็ทำไม่ได้ ต้องคิด เราจะปลูกบ้านหรือจะซื้อของ เสื้อผ้า หรือจะซื้ออะไรก็ตาม มันต้องคิดมันจะคุ้มค่าเงินเราไหม เราซื้อไปแล้วจะไปทำอะไร มันต้องคิด อันนั้นถ้าไม่คิด เขาว่าเป็นคนบ้า ให้เข้าใจอันนั้นต้องใช้สติปัญญา ต้องวิพากษ์วิจารณ์นะ มิฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมามันจะแก้ปัญหาไม่ได้ เช่นมีคนมาขโมยของ เราต้องรู้ว่าเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย มีอายุประมาณเท่าไร แต่ที่หลวงพ่อพูดนี้ พูดถึงเรื่องการปฏิบัติไม่ได้พูดเรื่องการเรื่องงาน
คือเมื่อมันคิดขึ้นมา ตัดทันที อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ คิดดีคิดชั่วไม่ต้องคิด แต่จะสร้างบ้านสร้างเรือน ไปสอนหนังสือ มันต้องคิด ต้องมีโครงการ แต่ความคิดที่หลวงพ่อพูดให้ตัด มันเป็นความคิดที่นำมาซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนความคิดที่เราตั้งใจคิดขึ้นมานั้น มันไม่นำมาซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ มันคิดด้วยสติปัญญา ความคิดจึงมีสองอย่าง ด้วยกัน
ปุจฉา : เวลาเราเดินไปไหนมาไหน เราปฏิบัติอย่างไรครับหลวงพ่อ
วิสัชนา : เดินไปเฉยๆ นี่แหละ เดินก้าวไปสัก 10 ก้าว รู้ครั้งหนึ่งก็ยังดี ถ้าเดินไป 10 ก้าว รู้ 5 ครั้ง ก็ยิ่งดี ถ้าไม่รู้สักครั้งก็เต็มทีแล้ว ต้องรู้ รู้ก้าวหนึ่งสองก้าวก็ยังดี ไปถึงที่ที่จะไป 100 ก้าว รู้สึกสัก 10 ก้าว ก็ยังดี ดีกว่าไม่รู้เลย ทำอย่างนี้มันจะสะสมเอาไว้ ความรู้อันนี้มันจะค่อยมากขึ้นมากขึ้น เวลาเดินไปอย่าเอาสติมากำหนดที่เท้ามากเกินไป ให้คอยดูความคิด
ดูต้นไม้หรือดูคนเดินผ่านไปผ่านมาตามถนนหนทางก็ได้ ถ้ามันคิดแว๊บขึ้นมา ให้ทิ้งเลย อย่าเข้าไปในความคิด ถ้าเข้าไปในความคิด มันจะพาคิด เช่น คนนั้นเป็นผู้หญิง คนนี้เป็นผู้ชาย สวยไม่สวย ผิดดำผิดขาว ใส่เสื้อผาสีนั้นสีนี้ ไม่ต้องคิด อันนั้นมันเป็นวิตกวิจารณ์ เห็นแล้วผู้หญิงก็ช่าง ผู้ชายก็ช่าง ให้เฉย ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไร
โฆษณา