24 เม.ย. เวลา 14:59 • ไลฟ์สไตล์

เดิน....เจริญจิตตื่น ที่ดอยอินทนนท์

ไปธุดงค์ ดอยอินทนนท์ ที่ผ่านมาล่าสุด นี้ มีเรื่องประทับอยู่ในใจ หลายเรื่องทีเดียว อันที่จริงพวกเราต่างก็ซาบซึ้งในความเมตตาของอาจารย์กันอยู่แล้ว ที่ พาพวกเราเดิน พาพวกเราศึกษาทั้งธรรมชาติภายนอก ภายใน กันไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยกันเลยทีเดียว ครั้งที่ผ่านมาก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เห็นถึงความตั้งใจของอาจารย์ ที่จะถ่ายทอด วิทยายุทธ การตื่นรู้ จากจิตสู่จิต ใจสู่ใจ ให้กับวิญญาณพเนจรอย่างพวกเรา ที่หลงกันมาหลายภพชาติ
บริเวณ จุดกางเต้นท์ ที่บ้านนากลางหลวง เป็นทุ่งนาที่โอบล้อมด้วยขุนเขา
คืนแรกพวกเรา มีพิกัด การค้างคืนกันบนยอดดอยหัวเสือ โดยเริ่มเดินกันจากจุดจอดรถ ที่บ้านแม่กลางหลวงกันเลย ซึ่งโดยปกติ ต้องให้รถไปส่งอีกที่หนึ่ง ซึ่งจะเดินไม่ไกลมาก แต่ครั้งนี้ ไม่ต้องให้รถไปส่ง เพราะพวกเราจะเดินกันไป จากจุดที่บ้านแม่กลางหลวงเลย
ซึ่งระยะทางก็จะไกล จากจุดที่ขึ้นกันเป็นประจำอยู่พอสมควร แต่อาจารย์จัดให้ ก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ 555+
แค่เริ่มเดินก็หลงเสียแล้ว จากการเดินกันเป็นกลุ่มใหญ่ ฝีเท้าตอนเช้า ๆ ก็ยังไม่เหนื่อยล้ากันมาก ทุกคนต่างเดินกันสบาย ๆ ทำให้ผู้ที่เดินตามหลัง ไม่ทันสังเกตผู้ที่เดินก่อน พอถึงจุดเลี้้ยว ก็เลยไม่ได้เลี้ยวตามหมู่คณะ ก็มี พี่เหน่ง พี่เล็ก และสุเทพ 3 คน เดินตรงตามทางที่เห็นโล่ง ๆ น่าจะเป็นเส้นทางนี้ แต่ที่ไหนได้ ทางจริงต้องเลี้ยวซ้ายไป ก็เลย เลยทางเลี้ยวไป ไกลพอสมควร โชคดี ที่มีสัญญาณโทรศัพท์ ก็เลยติดต่อกันได้ ไม่งั้นก็หลงกันเพลินเลย 555+
บนทางเดินเส้นทางนี้ เป็นเส้นทาง ที่เดินสบาย เพราะเดินในป่า ต้นไม้ก็ยังอุดมสมบูรณ์ มีลำธารไหลผ่านทางเป็นระยะ ทำให้ไม่ร้อน เดินสบายมากเลย ทีแรกนึกว่าจะ ไปถึงเย็น ๆ แต่พวกเราก็เดินกันได้ดี ไปถึงกันช่วงบ่าย ๆ ทำให้มีเวลา หาที่พักกันแบบสบาย ๆ เช็คอินสร้างบ้านกันตามแต่จะชอบใจเลย
ค่ำคืนนี้ ก็เป็นค่ำคืน ของวันก่อนมาฆบูชา 1 วัน ทำให้พระจันทร์ใกล้เต็มดวง ดูสุกสกาวสดใส เป็นจันทร์ปภัสสร ที่สวยงามเด่นดวง พวกเราก็ ให้ไกด์ท้องถิ่น หาฟืนมาก่อไฟ นั่งล้อมวง สนทนาธรรมกันยามค่ำคืน อาจารย์ท่านก็มีเมตตา ช่วยขยายความข้องใจให้กับญาติธรรมผู้มาใหม่ เช่นพี่หญิง พี่กู๊ด ได้กระจ่าง
ในเส้นทางแห่งการตื่นรู้ ก็มี คนอื่น นั่งตื่นรู้้ หรือนอนตื่นรู้ ในที่พักของตัวเอง แต่ได้ยินเสียงอาจารย์ดังชัดเจน ในท่ามกลางความหนาวเย็น และความเงียบแห่งค่ำคืน วันพระจันทร์เต็มดวง เสียงอาจารย์ดังชัดเจน มีหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจารย์ท่านอธิบายได้ชัดเจนมาก แต่พอมาคุยกันทีหลังก็หลง ๆ ลืม ๆ แล้วว่าอาจารย์ท่านพูดอะไรไปบ้าง 55+ ก็อย่างว่าสัญญามันไม่เที่ยง
สรุปง่าย ๆ ที่อาจารย์ ท่านบอก การภาวนาสุดท้าย
พี่เหน่ง รอยยิ้มของนักสู้
ก็มาสรุปกันให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เหลือ แต่
" ใจ กับปรากฎการณ์
ใจ เป็นสิ่งที่ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นธรรมชาติที่ไม่ต้องสร้าง เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ใจ นี้มีธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาล ไร้ขอบเขตทุก ๆ ด้าน มีธรรมชาติที่ว่างแต่่รู้ รู้ทุกอย่างที่มาปรากฏในความว่างนี้"
"ปรากฎการณ์ ก็เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับใจ คือเป็นธรรมชาติที่เกิดดับ เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และเสื่อมสลายหายไปในที่สุด ปรากฏการณ์ทั้้งหลายล้วนตกอยู่ภายใต้ กฎสามัญลักษณะ ที่เป็นธรรมดา คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป"
"การตื่นรู้ ก็คือ สิ่งไหนเด่น ตื่นรู้สิ่งนั้น ไม่เลือกปรากฏการณ์ ใช้ใจ ที่มีอยู่แล้ว เรียนรู้ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ตื่นรู้อยู่เช่นนี้"
"ที่ใดมีใจ ที่นั้น ต้องมีปรากฏการณ์ อยู่ใกล้กันแต่ไม่ติดกัน สรุปสุดท้าย ใจกับปรากฏการณ์ ก็เป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะปรากฏการณ์ต่าง ๆ ล้วนมาจากใจ และกลับคืนสู่ใจ คือมาจากไร้ และกลับคืนสู่ไร้"
"เห็นปรากฎการณ์ ก็คือเห็นอนัตตา สุญญตา นั่นเอง รูปก็คือความว่าง ความว่างนั่นแหละคือรูป
การภาวนา สุดท้าย ก็มาเหลือใจ มาตื่นรู้ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ง่าย ๆ ตื่นรู้อยู่เช่นนี้"
อันนี้ผมก็ นอนตื่นรู้อยู่ จับใจความได้นิดหน่อย แล้วก็หลับไปตอนไหนไม่รู้ครับ แต่ก็ประทับใจ ในคำแนะนำของอาจารย์ ที่ให้ความกระจ่าง ในเส้นทางแห่งการตื่นรู้นี้
...
ค่ำคืนที่ 2 ก็เป็นอีก หนึ่งความประทับใจ ที่น่าบันทึกไว้ ค่ำคืนที่ 2 เป็นวันมาฆบูชา พวกเรามาพักค้างกันที่ ดอยผาตั้ง เป็นพิกัด ที่หลายคนยังไม่เคยมา แต่ผม กับ คำรณ และพี่หมอปู เคยมากันแล้ว เมื่อ ปีที่แล้ว
ที่ดอยผาตั้งนี้ เป็นสมรภูมิ การภาวนาที่เหมาะสม และสวยงาม สัปปายะ เป็นอย่างมาก อาจารย์
ท่านสามารถ จัดให้พวกเรา แยกกันภาวนา ตามจุดต่าง ๆ ได้ตามที่อาจารย์ท่านวางพิกัดไว้ให้ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือมีพื้นที่เป็นเขาลูกไม่เล็กไม่ใหญ่ พอเดินยังไม่ทันเหนื่อยดีก็ถึงกันแล้ว มีเขาอยู่ 3 ลูก ติดๆ กัน เป็นทิวเขาเล็กที่อยู่บริเวณตรงข้ามกับดอยหัวเสือ
ก่อนมืดอาจารย์ท่านให้พวกเรา พักผ่อน ทานน้ำร้อนน้ำชา กันตีนเขากันก่อน ส่วนอาจารย์ท่านล่วงหน้าไปหาพิกัดให้พวกเรา อาจารย์ท่านหายไปสักพักใหญ่ ๆ ประมาณ 6 โมงเย็น ผมก็เลยให้ คำรณ พาหมู่คณะตามอาจารย์ขึ้นไปก่อน เพราะเป้อาจารย์ยังอยู่ข้างล่าง พอคำรณไปเจออาจารย์ ค่อยถามว่า อาจารย์ท่านจะวางแผนยังไงต่อ
สุดท้าย ทุกคนก็ตามอาจารย์ขึ้นไป มีพี่กุ้ง กับพี่เหน่งตามไปหลังสุด มืดค่ำระหว่างทางทำให้ไม่รู้พิกัดที่จะไป โทรศัพท์ก็ช่วยได้เหมือนเดิม ผมตามไปหลังสุด ด้วยการแบกเป้ อาจารย์ตามขึ้นไปด้วย
ตอนแรกก็ไม่ค่อยหนักเท่าไหร่ แต่พอแบกนานๆ เข้าเป้เริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ การปรุงแต่งทางจิตมันก็วิ่งกันมาพอสมควร ตอนแรกพิกัดที่อาจารย์จะให้วางเป้ของท่าน อยู่แค่สันเขาแรก เราก็อืม...พอได้สบาย ๆ แต่ต่อมา คำรณโทรมาบอกว่า ให้แบกเป้อาจารย์ไป สันเขาลูกที่ 3 ก้อนหินที่เคยมานั่งกันเมื่อปีที่แล้ว แหม่!...ครับ อาจารย์...
สุดท้ายกว่าจะไปถึง ก็มีล้มลุกคลุกคลาน กัน หนึ่งครั้ง เพราะด่านสุดท้าย มันต้องลอดช่องรั้วไม้ ที่ชาวบ้านเขากั้นไว้ ทำให้กระเป๋าเป้ ล่วงหลุดมือ สายโทรศัพท์เพาเวอร์แบงค์ก็หลุดจากเป้ไป อืม...
สุดท้ายหาสายโทรศัพท์ไม่เจอ จำได้ว่าตอนแรกหนาว ๆ แต่ตอนนี้เหงื่อไม่รู้มาจากไหน ท่วมเลย พอไปถึงจุดที่นัดพบ ทุกคนก็กำลังนั่งตื่นรู้กันอย่างเงียบ ๆ บนโขดหินใหญ่ ท่ามกลางความมืดมิด เพราะตอนนั้น พระจันทร์วันเพ็ญยังไม่ขึ้น ทำให้ทุกอย่างยังอยู่ในความมืดมิดอยู่ จำได้ว่า อาจารย์ถามว่า เหนื่อยมั้ย ผมก็ตอบกลับไปว่า เหนื่อย ครับ
ผมเดินกลับมาหา สายโทรศัพท์ ที่ประตูรั้ว ที่กระเป๋าเป้หลุดมือไป ปรากฏว่า หาเจอครับ ก็เลยเดินกลับไปหาหมู่คณะอีกครั้้ง ครั้งนี้อาจารย์ท่านลงมาจากโขดหินกับคำรณ ส่วนคนอื่น ๆ ก็ให้นั่งตื่นรู้อยู่ที่เดิม ผมเดินตามอาจารย์กับคำรณไป
อาจารย์ท่านให้ คำรณ เดินไปส่งผม ที่พิกัด ที่อาจารย์ ท่านจัดไว้ให้้ผม ซึ่งเป็นพิกัด ที่สุดจะคาดเดาได้ครับ ตอนแรกอาจารย์ท่านก็บอกพิกัด ให้ผมกับคำรณไปตามทางที่ต้องผ่านอะไรบ้าง มีจุดสังเกตตรงไหน ท่านก็บอกหมด สุดท้าย อาจารย์ท่านก็บอกว่า อาจารย์ท่านขีดชื่อผมตรงหิน เป็นพิกัดให้รู้ว่า ตรงนี้ สุเทพ อยู่ตรงนี้
แต่...ผมกับคำรณ ฉายไฟเดินไปในความมืด ตามที่อาจารย์ท่านบอกไว้ ว่าต้องผ่านตรงไหนบ้าง สุดท้ายก็หากันไม่เจอครับ เดินหาอยู่ตั้งนาน หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ หินที่มีชื่อของผม ก็ไม่เห็น สุดท้ายก็มีหินอยู่ก้อนหนึ่งพอ เป็นที่พักพิงได้ ผมก็เลยบอกกับคำรณให้ไปเรียนอาจารย์ว่า หากันไม่เจอ ผมจะอยู่ตรงนี้...
แต่...ผมนั่งอยู่ตรงหินก้อนนั้นสักพักใหญ่ ๆ ก็มีเสียงเดิน อาจารย์ คำรณ พี่กุ้ง เดินกันมา หา อาจารย์ท่าน มาชี้พิกัดให้ว่า ไม่ใช่ตรงนี้ ท่านก็ชี้ ผ่านไปในความมืด เห็นภูเขาลูกหนึ่ง มืด ๆ ตรงหน้าไกล ๆ นั่นมั้ย ท่านถาม ผมก็พยายามมองตามที่ท่านชี้ ใช่ มันมีภูเขาลูกหย่อม ๆ ลูกหนึ่งที่แฝงตัวอยู่ในความมืดนั้น ท่านบอกว่า นั่นแหละ เขาลูกนั่นแหละ ให้เดินไปตามทางนี้ แล้วก็เลี้ยวลงสันเขาหน่อยหนึ่ง แล้วเดินตัดขึ้นขวา ซึ่งก็ไกล จากจุดที่นั่งก้อนหินก้อนแรกกันพอสมควร โอ๊ย!....อาจารย์ ผมนึกอยู่ในใจ
อาจารย์ท่านขึ้นมาหาพิกัดพักให้พวกเรา นี้ถ้าไม่ใช่ อาจารย์กะลา ผมว่า คงยาก ที่จะเจอกับภูมิประเทศแบบนี้ มันสุดจะบรรยายจริง ๆ ครับ มันเป็นอะไรที่จะบอกว่า ขอบพระคุณในเมตตาจิต ของท่านอาจารย์จริง ท่านช่างสรรหา สถานที่อันสุดจะวิเศษ ให้ลูกศิษย์ได้มานั่งตื่นรู้ กัน
ผม คำรณ พี่กุ้ง เดินกันไป 3 คน เพื่อจะไปส่งผมที่พิกัดที่อาจารย์ชี้บอก เราเดินกันไปในความมืดผ่านสถานที่ต่าง ๆ ที่อาจารย์บอกสุดท้าย ก็มาเจอจนได้ เป็นสถานที่ ที่สุดยอดมาก เป็นเหมือนภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งเด่นอยู่ในท่ามกลางป่าเขา มองออกไป ได้ 360 องศา บนหิน มีชื่อ สุเทพ ขีดไว้ แปลว่า ไม่ผิดเขาแน่นอน ตอนแรกที่มองมานึกว่าจะเป็นเขาหินที่โล่ง ๆ สงสัยต้องหนาวหนักแน่ แต่พอขึ้นมา จริง ๆ ก็มีกอหญ้า ขึ้นมาปกคลุม ให้ความอบอุ่น ทำให้ไม่หนาวมาก
ค่ำคืนนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งคืน ที่ประทับอยู่ในความทรงจำ
ช่วงเช้าหลังผ่านการตื่นรู้ จากค่ำคืน วันมาฆบูชา หลังจากที่ผมรับพี่เหน่งเสร็จ อาจารย์ท่านก็วางพิกัดให้แต่ละคน กระจายกันตามสันเขา มีพี่หญิง ได้อาสาพักที่โขดหินใหญ่ที่ผมพักเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหินก้อนใหญ่ที่ติดกับหน้าผา ถ้านั่งแล้วหลับฝันละเมอ ก็มีสิทธิ์ล่วงไปในเหวได้ ใครได้อยู่ตรงนี้ ก็ต้องตื่นรู้ระวังเป็นพิเศษเลย แต่พี่หญิงก็ผ่านมาได้ ยอดเยี่ยมมาก
ถัดต่อมาก็พี่พรรณ และก็ถัดมาก็พี่อ้อย พี่อ้อย ได้อยู่บนโขดหินที่ตั้งเด่นขึ้นไปจากพื้นพอสมควร ต้องคนตัวเล็กอย่างพี่อ้อยเท่านั้น เลือกได้ขนาดเหมาะสมกับสรีระจริง ๆ สาธุ พี่หมู พี่เล็กเต้าเต๋อ ก็อยู่ถัดๆกันไป ส่วนพี่กู๊ด พี่ภี พี่กุ้ง ก็อยู่สันเขาอีกลูกหนึ่ง ใกล้ ๆ ทางที่จะลง ส่วนคำรณอาจารย์ให้เฝ้าฐานทัพ อาจารย์พูดแซวเล่น ๆ ว่า คำรณมือใหม่ต้องให้อยู่เฝ้าฐาน อันที่จริง ก็เพื่อให้คำรณเตรียมน้ำร้อนน้ำชาไว้ รอหมู่คณะลงไปตอนเช้า และดูแลรถที่จอดอยู่ด้วย อาจารย์ท่านมองขาดเสมอ
สรุปค่ำคืนที่ดอยผาตั้ง ทุกคนต่างได้รับประสบการณ์ แตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าใคร เป็นคนมีจริตแบบไหน ก็ตื่นรู้กันไปตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น แต่ทุกคนก็ผ่านค่ำคืนนี้มาได้ และประทับใจกันไป เพราะหลายคนไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน เป็นครั้งแรกของหลาย ๆ คน
เป้าหมายสุดท้ายของ ทริปธุดงค์ครั้งนี้้ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ ที่ทุกคนบอกว่าโหด เพราะปีที่แล้ว เป็นตะคริว และหมดแรงกันไปหลายคน นั้นก็คือ ดอยผาแง่ม อยู่ที่อำเภอขุนวาง ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แต่ไต่ระดับความสูง อยู่รองจากอินทนนท์ไม่มาก เพราะที่ดอยผาแง่ม ความสูงก็อยู่ในระดับ สองพันกว่าเหมือนกัน
หลังจากทานอาหารเช้ากันเสร็จที่บริเวณที่ทำการอุทยาน ก็ต่อกันไปผาแง่มเลย
ไปถึงแถวๆ สามแยก ก่อนขึ้นผาแง่ม ก็ไปเตรียมซื้อ อาหารเย็นกันเพื่อที่จะนำขึั้นไปกินกันช่วงเย็น ก็มีมันเผา กับข้าวโพดย่าง เป็นอาหารรสเลิศสำหรับการเดินทางครั้งนี้อีกมื้อหนึ่ง
พวกเราเริ่มเดินกันจริง ๆ จัง ๆ ก็ประมาณ เที่ยง ๆ แล้ว ก็เดินกันไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อนอะไร ไปถึงยอดผาแง่ม ก็บ่าย ๆ ยังไม่มืดค่ำดี ทำเวลาได้ดีมาก และครั้งนี้ ไม่มีใครหมดแรง ไม่มีใครเป็นตะคริว ยอดเยี่ยมมาก พี่เหน่ง มาแก้มือเพราะเมื่อปีที่แล้ว พี่เหน่งเป็นตะคริวทั้้งตัวเลย มาครั้งนี้สบาย ๆ ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป ตามเหตุปัจจัย หมดความสงสัย ไม่กลัวเส้นผาแง่มอีกต่อไป เพราะครั้งนี้เดินได้สบาย ผ่านฉลุย
เนื่องจากพวกเราไปถึงเร็ว อาจารย์ท่านก็เลยออกสำรวจเส้นทางเดินเก่า ๆ ที่สมัยท่านมาภาวนาที่นี้ เมื่อตอนที่ อาจารย์ อายุ ยี่สิบต้น ๆ สมัยโน้นอาจารย์ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ไปได้หมด ปีนหน้าผา โหนเถาวัลย์ ไต่หน้าผา ไม่เคยมีคำว่า กลัวตายในหัวสมอง สมัยโน้น ท่านแกร่งแข็งแรง ทั้งยังหนุ่มแน่น ทุกอย่าง ร่างกาย สั่งได้ดั่งใจเลย ผมมองแหงนดูหน้าผาที่สูงชัน โห! อาจารย์
อาจารย์ ท่านเป็น อนาคาริก คือท่องเที่ยวไปผู้เดียว ไม่เกี่ยวกับใคร ไม่สนใจชื่อเสียง ต้องการเรียนรู้ บุกตะลุยสำรวจดูถ้ำ ตรงไหนพอที่จะพักพิงภาวนาได้บ้าง ซึ่งเป็นอะไรที่คนเมืองอย่างพวกเรา ยากจะคาดเดาในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจารย์ท่านเผชิญมา
เมื่อปีที่แล้ว เมื่อพวกเรามาถึงยอดผาแง่มก็ใกล้มืดค่ำแล้ว ก็เลย ไม่ได้ไปไหนต่อ แต่ครั้งนี้ มีเวลา อาจารย์ท่านก็เลยจัดให้ ปกติเส้นผาแง่มนี้ สามารถเดินตัดขึ้นไปยอดสูงสุดของดอยอินทนนท์นี้ได้เลย แต่ต้องมีเวลา อย่างน้อย 2-3 วัน
บนยอดผาแง่ม ถ้ามองดูแล้ว ไม่สามารถเดินต่อไปได้ เพราะมันเป็นเขา 2 ลูกติด ๆ กันแต่มันมีหน้าผากั้นไว้ ไม่สามารถเดินต่อไปได้ แต่มันมีทางเดินที่สามารถเดินได้ ก่อนขึ้นมายอดผาแง่ม มันมีทางเดินตัดลงเลียบหน้าผาเลาะไปตามตีนเขา เป็นทางเดินเล็ก ๆ ที่ชาวบ้าน หรือพวกพราน ใช้เดินกัน
เดินเลาะเลียบตีนเขาไปเรื่อย ๆ ก็จะไปโผล่ เขาอีกลูกหนึ่งที่เรามองเห็นจากยอดผาแง่ม อาจารย์ท่านก็ไปสำรวจก่อน หลังจากนั้น ท่านก็เรียกให้ คำรณ กับสุเทพ ตามไป คำสั่ง จากฝั่งเขาลูกหนึ่งบอกมาแว่ว ๆ ว่า เอาเป้ ไฟฉายไปด้วย เอาล่ะสิงานนี้ อาจารย์จัดหนักอีกแล้ว 55+
สรุป...พวกเราก็ได้เข้าโรงเรียน... ในเส้นทางแห่งการตื่นรู้ จากประสบการณ์ตรง ต้องขอกราบขอบพระคุณ ท่านอาจารย์เป็นอย่างมาก ที่มีเมตตาชี้แนะ ลูกศิษย์ อย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
โฆษณา