เมื่อวาน เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Family Wealth ผู้จัดการมรดก

ในวันที่เราได้จากไปแล้ว สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะกับทายาทที่เราห่วงใย หรือทรัพย์สินที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิตล้วนเป็นสิ่งที่เราจัดการ หรือแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว “ผู้จัดการมรดก” จึงเป็นหนึ่งตัวละครสำคัญที่ช่วยจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปอย่างที่เราตั้งใจไว้ได้
โดยผู้จัดการมรดก จะถูกตั้งขึ้นโดยคำสั่งศาล ทั้งกรณีที่มี และไม่มีพินัยกรรม
กรณีมีพินัยกรรม: ผู้ทำพินัยกรรมระบุชื่อผู้จัดการมรดกไว้ในพินัยกรรม หรือระบุชื่อบุคคลที่ตนเองต้องการให้เป็นผู้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ในพินัยกรรมเพื่อร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดก
กรณีไม่มีพินัยกรรม: ทายาท ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการสามารถยื่นขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้
หน้าที่หลักตามกฎหมายของผู้จัดการมรดก
1. รวบรวม ติดตามทรัพย์มรดก ซึ่งหากเจ้ามรดกได้ทำบัญชีทรัพย์สินไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ และส่งผลดีต่อทั้งผู้จัดการมรดก และทายาท
2. แบ่งทรัพย์มรดกให้กับทายาท ทั้งทายาทโดยธรรมและ/ หรือทายาทตามพินัยกรรม
3. จัดการชำระหนี้กองมรดก (หากมี) เช่น หนี้ตามสัญญาค้ำประกัน หนี้เงินกู้ หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) ฯลฯ ดังนั้นกองมรดกที่ตกทอดไปยังทายาทจึงต้องรวมในส่วนของหนี้สินของผู้ตายไปด้วย กรณีที่หนี้สินมีมากกว่าทรัพย์มรดกทางทายาทจะไม่ต้องรับผิดในส่วนของหนี้สินที่เกินไปกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตนเอง
1
คำแนะนำในการตั้งผู้จัดการมรดก
✅ ระบุชื่อผู้จัดการมรดกในพินัยกรรม เพื่อลดความกังวลใจว่าทายาทจะต้องมาพิจารณาตั้งผู้จัดการมรดกกันเอง จนอาจเกิดความความขัดแย้งขึ้นได้
✅ ตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน กำหนดให้ทำร่วมกัน และจะยิ่งดีถ้ามีไว้มากกว่าหนึ่งกลุ่มรายชื่อ
เผื่อในกรณีที่รายชื่อกลุ่มแรกคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต หรือปฏิเสธไม่ประสงค์รับทำหน้าที่ หรือร่างกายไม่พร้อมทำหน้าที่ได้ ผู้อยู่ในรายชื่อกลุ่มที่สอง หรือถัดๆ มา ก็สามารถรับหน้าที่ดำเนินการต่อไปได้
✅ ระบุหน้าที่ของผู้จัดการมรดกให้ชัดเจน ในกรณีที่ระบุผู้จัดการมรดกไว้หลายคนท่านก็จะต้องเขียนให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นทำหน้าที่จัดการมรดกอย่างไร ในกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม หน้าที่ของผู้จัดการมรดกก็จะต้องถือเอาเสียงข้างมากแทน และหากมีจำนวนเสียงที่เท่ากันก็จะต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียไปร้องขอต่อศาลให้เป็นผู้ชี้ขาด
⭐ คุณสมบัติของผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย
- เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ลูกค้า SCB PRIVATE BANKING ที่สนใจปรึกษาเรื่องการส่งต่อมรดก สามารถติดต่อได้ที่ SCB Wealth Planning and Family Office หรือ RM ของท่าน
#SCBWEALTH #SCBPrivateBanking #WealthPlanning #FamilyOffice #มรดก
โฆษณา