25 เม.ย. เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กางแผนกู้ 5 แสนล้าน ทุ่มลงทุนนํ้า - จ้างงาน

กางแผนรัฐบาล เตรียมผลักดันกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท พุ่งเป้าแก้ปัญหาน้ำ กระตุ้นการจ้างงาน พร้อมออก ซอฟท์โลน ช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ขณะที่ IMF ปรับลดเศรษฐกิจไทยเหลือ 1.8% ห่วงหนี้สาธารณะไทยพุ่งทะลุค่าเฉลี่ยอาเซียน
รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เตรียมทุ่มงบมหาศาลกว่า 5 แสนล้านบาท ผ่านกฎหมายกู้เงิน 2 ฉบับ มุ่งแก้ปัญหาน้ำแบบครบวงจรและกระตุ้นการจ้างงาน ท่ามกลางเสียงเตือนจาก IMF ที่ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเหลือ 1.8% ต่ำสุดในภูมิภาค พร้อมห่วงหนี้สาธารณะไทยพุ่งเกิน 60% ทะลุเพดานค่าเฉลี่ยอาเซียน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมออกกฎหมายกู้เงิน 2 ฉบับ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยฉบับแรกจะเป็น พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อการลงทุนในประเทศ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและการบริโภค เน้นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำแบบครบวงจร ซึ่งได้มอบหมายให้สภาพัฒน์พิจารณารายละเอียดแล้ว ส่วนฉบับที่ 2 เป็น พ.ร.ก.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยแหล่งที่มาของเงินยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อน ซึ่งมองว่าน่าจะใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท โดยจะโฟกัสเม็ดเงิน 3 ส่วน คือ การกระตุ้นการบริโภค การลงทุนในประเทศ และการออกซอฟต์โลน
นายพิชัย กล่าว
รองนายกฯ ยังเผยเพิ่มเติมว่า ไม่ต้องการให้ประชาชนกังวลเรื่องภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้น เพราะหลายประเทศมีสัดส่วนหนี้สูงกว่าไทยมาก สิ่งสำคัญอยู่ที่การใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจ
1
หากสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้มากกว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ ประสบการณ์จากทั่วโลกชี้ให้เห็นว่าการอัดฉีดเม็ดเงินในช่วงวิกฤติเป็นสิ่งจำเป็น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่จะมีเงื่อนไขผ่อนปรนมากกว่าช่วงโควิด เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดรายละเอียดในเร็วๆ นี้
  • IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโตแค่ 1.8%
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 เหลือเพียง 1.8% จากเดิม 2.9% ถือเป็นอัตราต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเอเชียและตลาดเกิดใหม่เอเชีย เมื่อเทียบกับอินเดีย (6.2%) ฟิลิปปินส์ (5.5%) เวียดนาม (5.2%) อินโดนีเซีย (4.7%) มาเลเซีย (4.1%) และจีน (4.0%)
อีรา ดาบลา-นอร์ริส รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการการคลังของไอเอ็มเอฟ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะของไทย โดยระบุว่า “ประเทศไทยมีระดับหนี้สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเล็กน้อย โดยอยู่ที่ระดับสูงกว่า 60% ของ GDP” พร้อมแนะนำให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบและประหยัด
ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าฐานะการคลังไทยยังมีความเข้มแข็ง และการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะกระทบหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 64.21% โดยเรื่องเพดานหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ เนื่องจากหลายประเทศมีหนี้สาธารณะสูงถึง 80-100%
“ตอนนี้ยังไม่ได้มีการสรุปว่าจะใช้โครงการใดบ้าง หลังจากนี้จะต้องรอดูการสรุปโครงการก่อน น่าจะมีความชัดเจนในเดือน พ.ค. 68 และยังต้องติดตามนโยบายสหรัฐฯ ด้วย เพราะขณะนี้นโยบายยังไม่แน่นอน” นายลวรณ กล่าว พร้อมเสริมว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการกู้หรือไม่ สามารถทำได้จากหลายวิธี ทั้งการเกลี่ยเงินงบประมาณ รวมถึงงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาท ที่มีเหลืออยู่ รวมทั้งใช้สถาบันการเงินของรัฐเข้ามาปล่อยสินเชื่อเพื่อเติมเงินเข้าเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
  • ย้อนรอย 30 ปี ออกพ.ร.ก.กู้เงินเฉียด 4 ล้านล้าน
หากย้อนไปตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เครื่องมือสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยคือการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อการกู้เงิน โดยตลอดเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีรัฐบาล 5 ชุดที่ออกกฎหมายกู้เงินรวม 9 ฉบับ โดยเป็น พ.ร.ก. ที่มีผลบังคับใช้จริง 7 ฉบับ วงเงินรวมกว่า 3.83 ล้านล้านบาท
เริ่มจากรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับในปี 2541 วงเงินรวม 8 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ต่อมารัฐบาลทักษิณออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง วงเงิน 7.8 แสนล้านบาทในปี 2545 เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูภาคการเงินอย่างยั่งยืน
รัฐบาลอภิสิทธิ์ออก พ.ร.ก. ไทยเข้มแข็ง วงเงิน 4 แสนล้านบาทในปี 2552 เพื่อรับมือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทในปี 2555 หลังเผชิญมหาอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลเตรียมผลักดันกฎหมายกู้เงินเพื่อการจัดการน้ำเช่นกัน
ล่าสุดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับรวม 1.5 ล้านล้านบาท (วงเงิน 1 ล้านล้านบาทในปี 2563 และอีก 5 แสนล้านบาทในปี 2564) เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจากไม่เกิน 60% เป็น 70% เพื่อรองรับการกู้เงินเพิ่มเติม
  • เปิดแผนแก้ปัญหาน้ำ 6.23 แสนล้าน
สอดรับกับทิศทางการใช้เงินกู้ ล่าสุดสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เตรียมเสนอแผนบริหารจัดการน้ำมูลค่ามหาศาลกว่า 6.23 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาน้ำแบบครบวงจรที่รัฐบาลตั้งใจนำเงินกู้มาใช้ผลักดัน
แผนดังกล่าวประกอบด้วย 6 แผนงานหลัก จาก 23 หน่วยงาน รวม 53,892 รายการ วงเงิน 623,812 ล้านบาท ได้แก่ การพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 27,233 รายการ วงเงิน 93,329 ล้านบาท การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ จำนวน 11,750 รายการ วงเงิน 192,524 ล้านบาท
การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน จำนวน 8,426 รายการ วงเงิน 97,537 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำและการป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง จำนวน 483 รายการ วงเงิน 21,379 ล้านบาท การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ จำนวน 5,938 รายการ วงเงิน 20,615 ล้านบาท และโครงการสำคัญอีก 62 รายการ วงเงิน 198,248 ล้านบาท
โฆษณา