Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรมะ คือ คุณากรณ์
•
ติดตาม
25 เม.ย. เวลา 05:35 • ปรัชญา
watthakhanun
วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ ข่าวที่สะเทือนใจในวงการสงฆ์ก็คือ เรื่องที่ผู้ก่อการร้ายยิงสามเณรภาคฤดูร้อน ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา จนเสียมรณภาพ ๑ รูป บาดเจ็บอีก ๑ รูป แล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็ยังออกมาให้ข่าวอีกด้วย ก็คืออยู่ในลักษณะที่ว่า ถ้าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยื่น
คำขาดภายใน ๗ วันว่า จะต้องจับตัวผู้ก่อการร้ายให้ได้ ก็จะทำให้เรื่องลุกลามหนักขึ้น โดยที่บอกว่าที่ตัวเองลงมือก็เพราะว่าเกลียดข้าราชการสีเทาที่รังแกชาวบ้าน
หวังว่าพวกท่านคงจะไม่โง่หลงประเด็นตามไป "มึงเกลียดข้าราชการ แล้วเกี่ยวอะไรกับพระเณรด้วย ?" แต่ว่าเรื่องพวกนี้ปล่อยทางราชการเขาเวียนหัวกันไปเถอะ พวกเรามาฟังเรื่อง "เล่าความหลัง" กันต่อ
เมื่อวานนี้กล่าวถึงเรื่องหนึ่งก็คือการหุงข้าว ซึ่งสมัยก่อนนั้นมีทั้ง "หุงข้าวเช็ดน้ำ" และ "หุงข้าวไม่เช็ดน้ำ" ส่วนใหญ่ที่หุงข้าวเช็ดน้ำนั้น ก็เพราะว่าจะเอาน้ำข้าวไว้เลี้ยงหมูเลี้ยงหมา ส่วนการหุงข้าวไม่เช็ดน้ำ ต้องอาศัยความชำนาญในการกะเกณฑ์ว่า จะต้องใช้น้ำเท่าไร ? ข้าวถึงจะสุกและนุ่มพอดี
ตอนหลังก็มีการนึ่งข้าว ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับข้าวเหนียวเพื่อทำขนม ก็จะใช้หม้อดินที่ใช้สำหรับต้มน้ำ แล้วก็วางหม้อดินที่ก้นมีรูพรุน ซึ่งบางคนเรียกว่า "ลังถึง" เอาไว้ด้านบน แล้วใช้ผ้าขาวบาง สมัยนี้มีหรือเปล่าก็ไม่รู้ ? ห่อข้าวเหนียวซึ่งแช่น้ำเอาไว้จน "ได้ที่" แล้ววางลงไป แล้วก็ปิดฝา ก่อไฟ เมื่อน้ำเดือดก็จะส่งไอความร้อนขึ้นไปชั้นบน ทำให้ข้าวสุก
จนกระทั่งเด็ก ๆ เอามา "ทายอะไรเอ่ย ?" กัน ซึ่งสมัยนั้นเป็นการลองปัญญา อย่างเช่น "อะไรเอ่ย ต้นเท่าครก ใบปรกดิน ?" "อะไรเอ่ย ต้นเท่าขา ใบวาเดียว ?" แต่อันนี้เป็นของยาก เขาถามว่า "อะไรเอ่ย เอาดินตั้งดิน เอาดินซ้อนดิน เอาดินปิดดิน ?"
เพราะว่าสมัยก่อนเตาก็ทำด้วยดิน เตารุ่นเก่า ๆ จะมีแผ่นดินที่ทำแผ่ยื่นออกมาด้านหน้า ซึ่งเขาเรียกกันว่า "เชิงกราน" เวลาที่หุงข้าวบนบ้าน ฟืนไฟจะได้ไม่กระเด็นออกมา หรือลามไปไหม้บ้าน ตรงส่วนที่ทำแผ่กว้างออกมาทางด้านล่างของเตา เพื่อช่วยป้องกันไฟไหม้ เขาเรียกว่า "เชิงกราน"
ในเมื่อทำด้วยดิน พอถึงเวลาเอาหม้อดินต้มน้ำตั้งขึ้นไป ก็เท่ากับว่าเอาดินตั้งบนดินแล้ว หลังจากนั้นก็เอาหม้อดินที่เป็น "ลังถึง" ก็คือที่ก้นเป็นรู วางซ้อนลงไป ก็เป็นเอาดินซ้อนดิน เมื่อใส่ข้าวลงไปเรียบร้อยแล้วปิดฝา ก็คือเอาดินปิดดิน เพราะว่าฝาหม้อก็เป็นดินเช่นกัน
การหุงข้าวเช็ดน้ำ พอมาภายหลังเปลี่ยนจากหม้อดินมาเป็นหม้ออะลูมิเนียม ซึ่งถ้าหากว่าอย่างที่บ้านกระผม/อาตมภาพ แม่มีลูกมาก โยมแม่ก็จะหุงข้าวด้วย "หม้อเบอร์ ๓๕" ใหญ่แค่ไหนถ้าไม่รู้จักก็เดาเอาเองแล้วกัน..! ถึงเวลาจะรินน้ำข้าวออก
ตอนแรกก็ยังพอได้ แต่ถ้าหากว่ารินมากไป ข้าวจะหลุดไปด้วย ก็ต้องเหลาไม้มาทำไม้ขัดหม้อ คราวนี้ไม้ขัดหม้อเบอร์ ๓๕ ยาวประมาณศอกหนึ่ง พอถึงเวลาดื้อก็โดนไม้ขัดหม้อฟาด กระเจิดกระเจิงกันทั้งบ้าน..! ใครมีประสบการณ์โดนไม้ขัดหม้อฟาดก้นมาบ้าง ?
ภาชนะต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นดินปั้น ท่านทั้งหลายจะต้องจำให้ได้ว่า ที่กระผม/อาตมภาพเล่าก็คือตอนสมัยเด็ก แล้วที่บ้านอยู่ในส่วนที่เขาเรียกว่า "ไกลปืนเที่ยง" ก็คือในสมัยตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พอถึงเวลาเที่ยงตรง ก็คือไม้ที่ปักไว้กลางแจ้งไม่มีเงา
เขาจะให้ยิงปืนใหญ่เป็นสัญญาณให้คนรู้ว่าเป็นเวลาเที่ยงแล้ว ก็เลยเรียกว่า "ปืนเที่ยง" คราวนี้ถ้าหากว่าใครอยู่ไกลจนไม่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ ก็เป็นพวกบ้านนอกหลังเขา อะไรประมาณนั้น เขาเรียกว่า "ไกลปืนเที่ยง" ดูห่างความเจริญ ดูท่าวันนี้ไม่ต้องไปไหนแล้ว..เรื่องเดียวจบ..หมดเวลา..!
ภาชนะที่ใช้กันเป็นประจำและเป็นดิน ก็มีอีกอย่างหนึ่งคือโอ่ง จะมีโอ่งน้ำที่ปั้นด้วยดินเหนียวอย่างเดียว แล้วก็เคลือบสีแดง ๆ หรือว่าเผาจนแดงก็ไม่มั่นใจ แต่เขาเรียกว่า "โอ่งแดง" ใส่น้ำฝนแล้วเย็นดีมาก แล้วก็จะมี "โอ่งเคลือบ" ซึ่งมักจะวาดเป็นรูป
ลายมังกรดั้นเมฆ จนเขาเรียกกันว่า"โอ่งมังกร" มีชื่อเสียงที่สุดก็ "โอ่งมังกรราชบุรี"
สิ่งของต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็ทำกันเอง ยกเว้นพวกถ้วยชาม ซึ่งจะมีของที่โรงงานทำขาย ถ้าไม่วาดเป็นรูปดอกไม้ ก็วาดเป็นรูปไก่ จนกระทั่งเขาเรียกกันง่าย ๆ ว่า "ชามตราไก่" ขนาดเล็กจะเป็นชามใส่ข้าวใส่แกงธรรมดา ขนาดใหญ่หน่อยเขาเรียกว่า "ชาม
โคม" ก็คือใบใหญ่ขนาดโคมจีน (เต็งลั้ง)
โคมไฟจีนจะสานด้วยไม้ไผ่ซี่เล็ก ๆ โค้งเป็นทรงรี หัวท้ายเท่ากัน ปิดกระดาษบาง ๆ กันลมพัดไฟดับ ถ้าหากว่าตัดครึ่งก็ลักษณะเหมือนกับชาม เขาก็เลยเรียกว่า "ชามโคม" เพราะหน้าตาคล้าย ๆ กับโคมจีนตัดครึ่ง
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๘
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย