เมื่อวาน เวลา 11:30 • ข่าว

เครื่องบินตกทะเลชะอำ ข้อสังเกตความเร็วไม่เกาะอากาศ หัวเครื่องทิ้งดิ่งลงพื้น

เครื่องบินตำรวจตกทะเลชะอำ ข้อสังเกตความเร็วไม่เกาะอากาศ หัวเครื่องทิ้งดิ่งลงพื้น คาดสภาพอากาศมีผลน้อย รอข้อมูลกล่องดำ ตกคล้ายที่ จ.ฉะเชิงเทรา ปีที่แล้ว
เช้านี้ (25 เม.ย. 68) เกิดเหตุเครื่องบินเล็กกองบินตำรวจตกที่ชะอำ ขณะเตรียมรับนักบินฝึกซ้อมกระโดดร่มงานวันคล้ายสถาปนา โดยในเครื่องมีนักบินและช่าง เสียชีวิต 5 คน ติดอยู่ในซาก 1 คน
มีรายงานว่าเครื่องบินดังกล่าว นักบินพยายามสุดความสามารถหลีกเลี่ยงการตกในพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม จนไปตกบริเวณทะเลแบบทิ้งดิ่งในทะเล อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
หากประเมินสภาพอากาศในการบินที่ค่อนข้างโปร่ง อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เครื่องบิน DHC 6-400 Twin Otter สูญเสียการควบคุม ทีมข่าวเฉพาะกิจ ไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง พล.อ.ท.ดร.ศุภกฤต อริยะปรีชา รองคณบดีฝ่ายวิชาการและเทคนิค สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า เครื่องบินที่ตกต้องรอการประเมินอย่างแน่ชัดจากกล่องดำอีกครั้ง
แต่สถานการณ์ในการบินก่อนตก เครื่องบินเพิ่งบินขึ้นไปจากสนามบินไม่นานมากนัก ยังไม่ทันที่ตัวเครื่องจะเกาะสภาพอากาศที่เหมาะกับการบินได้ ขณะเดียวกันการตกเป็นลักษณะที่ตกใกล้กับพื้นมาก นอกจากนี้เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นการควบคุมเครื่องแบบนักบินคู่ ดังนั้นคิดว่าการเผลอของนักบินค่อนข้างเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นได้ยาก
การที่เครื่องบินทิ้งดิ่งโดยเอาหัวปักลงมากับพื้นก่อนตกลงสู่ทะเล อาจมาจากเครื่องบินที่กำลังวิ่งขึ้นสู่อากาศจากสนามบิน มีความเร็วที่ทำให้เครื่องบินยกตัวขึ้นเกาะอากาศ โดยความเร็วที่ทำให้เกาะอากาศอยู่ที่ 80 น็อต ดังนั้นเครื่องบินมีช่วงหนึ่งที่อยู่ในความเร็วกึ่งกลางที่เกาะอากาศได้กับเกาะอากาศไม่ได้ แต่ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น หัวเครื่องบินเชิดสูงไป หรือเครื่องบินลดกำลัง ความเร็วทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำให้ความเร็วลดลงจนเครื่องบินไม่เกาะกับอากาศที่บินขึ้นสูงได้ สูญเสียการทรงตัวอย่างรวดเร็ว
“เครื่องบินเวลาบินขึ้นสู่อากาศที่อันตรายจะอยู่ที่การใช้ความเร็วในช่วงก้ำกึ่งที่เครื่องกำลังจะเกาะอากาศ หากนักบินมีข้อผิดพลาดหรือเครื่องขัดข้องก็อาจทำให้เกิดอันตรายจนเครื่องบินตกได้”
หากมองด้านปัจจัยสภาพอากาศ ไม่น่ามีผล เพราะท้องฟ้าค่อนข้างเปิด แต่อาจมีปัจจัยมาจากนักบิน เพราะปกติเมื่อกำลังขึ้นบินเครื่องวัดสภาพอากาศในเครื่องมีขนาดเล็ก ทำให้นักบินหลายคนต้องประเมินจากสภาพอากาศภายนอกที่มีโอกาสผิดพลาดสูง นี่อาจเป็นอีกปัจจัยที่ตามมาได้
“การที่ก่อนเครื่องบินตก ลอยเคว้งในอากาศแบบหัวทิ่มลงสู่พื้น แสดงให้เห็นว่าเครื่องบินยังไม่ทันได้เกาะอากาศ ทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของเครื่องได้ เพราะตามหลักของการควบคุมการบิน เมื่อเครื่องกำลังบินสู่อากาศและไม่ห่างจากพื้นมาก นักบินต้องพยายามควบคุมคันบังคับให้หัวหันองศาขึ้นไปด้านบนอากาศมากที่สุด เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นอะไรที่ควบคุมยาก”
เครื่องบินตกครั้งนี้เป็นเหมือนก่อนหน้านี้ที่มีเครื่องบินตกที่ จ.ฉะเชิงเทรา ต้องไปดูที่กล่องดำเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง แต่ก็มีแนวโน้มว่าสาเหตุของการตกมีความใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ จากรายงานของผู้สื่อข่าวในพื้นที่ระบุ ผู้อยู่ในเครื่องบิน 6 ราย 1.พ.ต.ท.ปานเทพ มณิวชิรางกูร (นักบิน) นรต.63 เสียชีวิต 2. ร.ต.ท.ธนวรรษ เมฆประเสริฐสุข (วิศวกร) เสียชีวิต 3. ร.ต.อ.จตุรงค์ วัฒนไพรสาณฑ์ นักบิน ได้รับบาดเจ็บ นำส่งรพ.หัวหิน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา 4.ส.ต.ต.จิราวัฒน์ มากสาขา ช่างเครื่อง (เสียชีวิต) 5.พ.ต.อ.ประธาน เขียวขำ นักบิน (นรต.54 เสียชีวิต) 6. จ.ส.ต.ประวัติ พลหงษ์สา ช่างเครื่อง (สูญหาย)
โฆษณา