พบนกกระสาดำเป็นครั้งแรก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า

จากความร่วมมือระหว่างอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า กับ โครงการติดตามประชากรเสือโคร่งและฟื้นฟูประชากรสัตว์กีบ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-Thailand) ได้ตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อศึกษาการกระจายของเสือโคร่งและสัตว์กีบในพื้นที่ จากการตรวจสอบข้อมูลได้พบนกกระสาดำ (Ciconia nigra) ที่ยากต่อการพบเห็นในธรรมชาติ ซึ่งเป็นการพบครั้งแรกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า จังหวัดกำแพงเพชร
นกกระสาดำ (Ciconia nigra) เป็นนกอพยพ หายาก มีลักษณะ หนังรอบตาและปากแดงเข้ม ตัดกับหัว คอ อก และหลังเขียวเข้มเหลือบเป็นมัน ปีกและหางดำแกมม่วง อกตอนล่าง ลำตัวด้านล่าง และขนคลุมใต้ปีกด้านในขาว แข้งและตีนแดงเข้ม นกวัยอ่อน หนังรอบตาและปากน้ำตาล ขนลำตัวแกมน้ำตาล ลำตัวด้านล่างขาวแกมน้ำตาล
นกกระสาดำ อาศัยตามทุ่งนา หาดทรายกลางแม่น้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ชุ่มน้ำ หนอง คลอง บึง มีรายงานการพบในพื้นที่อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร และพื้นที่ใกล้เคียง อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา บ้านดป่งแดง อำเภอเมือง จังหวัดตาก อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่ใกล้เคียง
ข้อมูล : คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย Lower Northern Bird
ที่มา : อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า-Klong Wang Chao National Park จังหวัดกำแพงเพชร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)
#นกกระสาดำ #อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า #กำแพงเพชร #กรมอุทยานแห่งชาติ
โฆษณา