Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
วันนี้ เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จัดพอร์ตลงทุน เมื่อตลาดต่างประเทศผันผวนจากนโยบายภาษีศุลกากรสหรัฐฯ
จัดพอร์ตลงทุน เมื่อตลาดต่างประเทศผันผวนจากนโยบายภาษีศุลกากรสหรัฐฯ : คอลัมน์มันนี่ดีไอวาย โดยนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
ตลาดหุ้นโลกเดือนเมษายน 2568 ปรับตัวผันผวนแรง หลังสหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ครั้งใหญ่ มุ่งเป้าไปยังประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อาทิ จีน แคนาดา และเม็กซิโก ภายใต้นโยบาย “American First” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
โดยสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 145% เพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีและสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ พร้อมขึ้นภาษี 25% สำหรับสินค้าประเภทโลหะและยานยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโก
ในขณะที่ประเทศคู่ค้าอื่นได้รับการลดภาษีนำเข้าลงเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดทางสู่การเจรจา ด้านจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ เป็น 125% ควบคู่กับมาตรการจำกัดการส่งออกแร่หายาก และการระงับสัญญาสั่งซื้อเครื่องบินจาก Boeing ขณะที่แคนาดาขึ้นภาษี 25% สำหรับรถยนต์และรถบรรทุกจากสหรัฐฯ
สถานการณ์ที่ตึงเครียดดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยดัชนีตลาดหุ้นโลกลดลง -10.38% สหรัฐฯ -10.11% ญี่ปุ่น -12.60% ตลาดเกิดใหม่ -11.82% จีน A-shares -7.67% และจีน H-shares -14.86% (ข้อมูล: Bloomberg วันที่ 2–7 เมษายน 2568)
บรรยากาศการลงทุนเต็มไปด้วยความกังวล โดยเฉพาะต่อผลกระทบระยะกลางถึงยาวจากการตั้งกำแพงภาษี ซึ่งอาจนำเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยตลาดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยภายใน 12 เดือนข้างหน้า จากเดิม 25% เป็น 40%
ขณะที่ Goldman Sachs ประเมินสูงถึง 45% พร้อมกันนี้ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2568 เหลือเพียง 1.3% และเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อ Core PCE เป็น 3.5% ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเร่งดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากกว่าที่คาดไว้เดิม
อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงได้ตามผลการเจรจากับประเทศต่าง ๆ โดยคาดว่าขั้นตอนเจรจาคาดว่าจะเริ่มในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน โดยกระบวนการตรากฎหมายคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วที่สุดในปลายเดือนกรกฎาคม
ทั้งนี้ ในกรณีพื้นฐาน หากสามารถบรรลุข้อตกลงกับหลายประเทศได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นจริงจะอยู่ที่ระดับ 15% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวต่อได้ ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางมีแนวโน้มคงท่าทีผ่อนคลายเพื่อประคองเศรษฐกิจ
การจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงจากมาตรการภาษี จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมี 3 กลยุทธ์ที่แนะนำ
กลยุทธ์แรก “กระจายความเสี่ยง” ไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้น พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ รวมถึงหุ้นกลุ่ม Defensive และหุ้นกลุ่ม Value ที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน หรือมีผลประกอบการสม่ำเสมอ รวมถึงการพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)
กลยุทธ์ที่สอง คือ “การทยอยลงทุนอย่างมีวินัย (DCA)” โดยลงทุนในจำนวนที่เท่ากันทุกเดือนโดยไม่สนใจราคาตลาด จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเข้าลงทุนผิดจังหวะ พร้อมทั้งเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเมื่อตลาดปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
กลยุทธ์สุดท้าย คือ “การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีความผันผวนต่ำ” เช่น กองทุน Low Volatility ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาด หรือกองทุนรวมผสมแบบ Flexible ที่สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ตามสภาวะตลาด
ทั้งนี้ การติดตามสถานการณ์นโยบายภาษีและการเจรจาการค้าอย่างใกล้ชิดจะเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างทันท่วงที ท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย