Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มินิซีรี่ย์
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 05:36 • ประวัติศาสตร์
เรื่อง
โคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวง
พระนิพนธ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์
และ
ตำหนักแพ
พระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
รองอำมาตย์ตรี ศิริ จรูญเวสม์
ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๒
โคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวง
พระนิพนธ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์
พิมพ์ครั้งแรก
โดยกระแสรับสั่ง พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ พ.ศ. ๒๔๓๙
พิมพ์ครั้งที่สอง (๗๐๐ เล่ม)
ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์ตรี ศิริ จรูญเวสม์ พ.ศ. ๒๕๑๒
ตำหนักแพ
พระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พิมพ์ครั้งแรก
ในหนังสือวชิรญาณ (ไม่ปรากฏฉบับที่พิมพ์)
พิมพ์ครั้งที่สอง
ในงานฌาปนกิจศพ นางรัฐสถานพิทักษ์ (เจิม กาญจนหุต) และ นายประดิษฐ์ ตุงคะเศรณี พ.ศ. ๒๔๙๐
พิมพ์ครั้งที่สาม (๗๐๐ เล่ม)
ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์ตรี ศิริ จรูญเวสม์ พ.ศ. ๒๕๑๐
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ 112-116 ถนนบริพัตร สำราญราษฎร์ พระนคร นายชวน ศรสงคราม ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา พุทธศักราช 2512
คำนำ
ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์ตรี ศิริ จรูญเวสม์ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร กำหนดวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๒ นางสาวพงษ์ศรี จรูญเวสม์ ผู้เป็นธิดา ได้มาติดต่อกรมศิลปากร ขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือ เรื่อง โคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวง พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ และตำหนักแพ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ กรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ตามความประสงค์
หนังสือเรื่องโคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวงนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงนิพนธ์ เนื้อเรื่องเป็นจดหมายเหตุงานถวายพระเพลิงและฉลองพระอัฐิพระชนกชนนี
ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นับว่าเป็นหนังสือเก่าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราชประเพณี การสร้างและตกแต่งพระเมรุมาศ ขบวนแห่ชักพระอัฐิ พระราชพิธีต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญในงานนี้ นอกจากนั้น ยังให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการละเล่นและมหรสพต่างๆ ในงานฉลอง เป็นต้นว่า มอญรำ ละคอน โขน หุ่น หนัง งิ้ว เทพ
ทอง โมงครุ่ม ไต่ไม้ แพนรำ ไต่ลวด กายกรรม ทั้งยังให้ความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีและบทละคอนที่นิยมใช้เล่นในการมหรสพในสมัยนั้นด้วย จึงนับว่าหนังสือเรื่องนี้ให้ความรู้ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี และจารีตประเพณี หนังสือเรื่องนี้ได้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกที่โรงพิมพ์วัชรินทร์ เมื่อ ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) โดยกระแสรับสั่งพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ นับถึงบัดนี้เป็น เวลาถึง ๗๓ ปีแล้ว เห็นควรจะจัดพิมพ์เผยแพร่ให้มีฉบับอ่านศึกษาค้นคว้ากันสืบไป กองวรรณคดีและ
ประวัติศาสตร์ จึงได้แนะนำให้เจ้าภาพงานศพรองอำมาตย์ตรี ศิริ จรูญเวสม์ จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นวิทยาทานเพื่อสืบอายุหนังสือ เจ้าภาพก็ยินดีรับพิมพ์ อนึ่ง เนื่องจากหนังสือเรื่องนี้นับเป็นวรรณคดีเก่าเรื่องหนึ่ง จึงได้ให้จัดพิมพ์โดยรักษาอักขรวิธีและสะกดการันต์ตามฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๑๕ เว้นแต่คำที่เห็นว่าผิดพลาดและลักลั่นกันอยู่ จึงแก้ไขให้ถูกต้องรับกัน ทั้งนี้เพื่อให้ใช้เป็นหลักฐานศึกษาเกี่ยวกับการเขียนหนังสือในสมัยเมื่อ ๗๐ กว่าปีมาแล้วได้ด้วย
ส่วนเรื่อง ตำหนักแพ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์อธิบายเกี่ยวกับคำว่า ตำหนักแพ ตำหนักน้ำ กับทรงแทรกประวัติการสร้างพร้อมทั้งทรงอธิบายลักษณะตำหนักน้ำโดยละเอียด เป็นเรื่องที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสถาปัตยกรรมไทย พระราชนิพนธ์เรื่องตำหนักแพนี้ ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ พิมพ์ครั้งที่สองในงานฌาปนกิจศพ นางรัฐสถานพิทักษ์ (เริ่ม กาญจนหุต) และนายประดิษฐ์ ตุงคะเศรณี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ครั้งนี้นับเป็นพิมพ์ครั้งที่สาม
อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ เจ้าภาพได้เรียบเรียงประวัติ รองอำมาตย์ตรี ศิริ จรูญเวสม์ ผู้วายชนม์ ให้พิมพ์ไว้ต่อจากคำนำนี้
กรมศิลปากร ขออนุโมทนาในกุศลราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งเจ้าภาพได้จัดบำเพ็ญอุทิศแด่ รองอำมาตย์ตรี ศิริ จรูญเวสม์ เป็นปิตุปัฏฐานธรรม และได้ให้พิมพ์หนังสือนี้แจกเป็นกุศลสาธารณประโยชน์ ขอกุศลทั้งปวงนี้จงเป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้ รองอำมาตย์ตรี ศิริ จรูญเวสม์ ผู้วายชนม์ ประสบแต่อิฏฐคุณมนุญผลในสัมปรายภพ สมดังมโนปณิธานของเจ้าภาพทุกประการ เทอญ.
กรมศิลปากร
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๒
พ่อของลูก
พ่อเกิดวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ตรงกับปีระกา วัน ๔ ๖ฯ ๕ ค่ำ ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นลูกคนเดียวของปู่ไล้ และย่าพวง จรูญเวสม์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร สมัยนั้นเรียกว่า ชั้นประโยค ๑ เมื่อจบการศึกษาแล้วย่าได้ฝากพ่อเป็นศิษย์ ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี อุปวิกาโส (แย้ม) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๔ ปี ศึกษาพระปริยัติธรรมได้แตกฉาน เป็นที่โปรดปรานของพระอุปัชฌาย์และเจ้านายฝ่ายใน ที่เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระกุศล ณ พระอารามนี้ เมื่ออายุครบบวชเป็นพระภิกษุ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ์ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีได้ทรงขอเป็นผู้อุปการะให้การอุปสมบทเป็นนาคของพระองค์ท่าน ในระหว่างที่ครองเพศบรรพชิต ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครู
ใบฎีกา พ่อเคร่งในพระพุทธศาสนามาก เป็นที่รักของท่านเจ้าคุณพรหมมุนี บรรดาญาติพี่น้องและเพื่อนจึงคิดว่าพ่อจะอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิต แต่เมื่อพ่ออายุได้ ๒๒ ปี ชะตาชีวิตได้ผันแปรไป ด้วยเหตุผลสำคัญบางประการคือไม่มีผู้เลี้ยงดูย่า (แม่ของพ่อ) ซึ่งต้องอยู่คนเดียวและป่วยมากในขณะนั้น ทำให้พ่อต้องลาสิกขาบท และได้เข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือฝ่ายพลเรือน แผนกการเงิน รวมเวลาที่พ่ออยู่ในสมณเพศนับตั้งแต่บรรพชาเป็นสามเณรเป็นเวลา ๑๓ ปี
พ่อสมรสกับแม่ (นางสาวผ่อง สังขะวัฒนะ) เมื่ออายุ ๓๒ ปี ได้ให้กำเนิดลูกทั้ง ๒ คน คือ
๑. น.ส. พงษ์ศรี จรูญเวสม์
๒. น.ส. นิภา จรูญเวสม์
บุญของแม่มีน้อย ได้จากพวกเราไปเมื่อลูกคนโตอายุ ๓ ขวบ และลูกคนเล็กอายุ ๙ เดือน ชีวิตสมรสของพ่อและแม่ที่เต็มไปด้วยความสุขนั้นสั้นมาก ญาติพี่น้องอาลัยรักแม่ โดยเฉพาะพ่อรักแม่อย่างยิ่ง ไม่เคยคิดจะหาคู่ชีวิตมาแทนแม่อีก พยายามทำงานเลี้ยงลูกและแม่ของพ่อ (ย่า) ตลอดมาด้วยความเอาใจใส่ รักและทะนุถนอมให้ความ
อบอุ่นแก่ลูก อย่างที่ลูกจะลืมเสียไม่ได้เลยในชีวิตนี้ ให้การศึกษาอย่างดี เพราะพ่อถือว่าการให้การศึกษาแก่ลูกเป็นการให้มรดกที่ดีที่สุดแก่ลูกที่ไม่มีผู้ใดจะมาแย่งชิงไปได้ และพ่อจะได้ไม่ห่วงเมื่อท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว พวกลูกจึงตั้งใจเล่าเรียนให้สมดังใจของท่าน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น พ่อต้องรับหน้าที่ราชการหลายตำแหน่ง ความห่วงใยที่ต้องทอดทิ้งลูกซึ่งยังเล็กและแม่ของท่านซึ่งชราภาพแล้วไว้ตามลำพังที่บ้าน ประกอบกับสุขภาพไม่ค่อยจะสมบูรณ์ด้วย พ่อจึงต้องลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๘๕ บำนาญรวมเวลารับราชการทั้งสิ้นเพียง ๑๙ ปี ตำแหน่งสุดท้ายที่รับราชการเป็นสมุห์บัญชีกรมอุทกศาสตร์ และกองเรือยุทธการ ได้รับยศเป็นรองอำมาตย์ตรี เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับครั้งหลังสุดคือ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
เมื่อออกจากราชการแล้ว พ่อใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่กับบ้าน ถือสันโดษ เลี้ยงลูกมาด้วยความอดทน ให้กำลังใจแก่ลูกให้ได้รับการศึกษาสูงที่สุด พ่อสอนให้รู้จักว่า ชีวิตคือการต่อสู้ที่ต้องทรหดอดทน ท่านไม่เบียดเบียนใคร รักษาศีลบำเพ็ญธรรม บริจาคทานแก่แม่ทุกวันโกน ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นที่รักและเกรงใจของบรรดาญาติพี่น้อง เมื่อลูก ๆ ได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย พ่อหายห่วง และยังคงสนับสนุนให้ศึกษาสูงขึ้นอีกถ้าลูกสามารถจะทำได้
พ่อมีความสามารถที่ลูกภาคภูมิใจหลายอย่าง เป็นต้นว่า เมื่อสมัยที่ท่านยังเป็นหนุ่มเป็นยุคที่ละครร้องกำลังเฟื่องฟู พ่อเป็นคนหนึ่งที่เขียนบทละครร้องให้แก่คณะละครที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ซึ่งบทละครบางส่วนยังคงเหลือเป็นอนุสรณ์แก่ลูกหลาน และยังสามารถในการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ได้เป็นอย่างดี ลูกยังจำได้ว่าตอนที่เป็นนักเรียน พ่อได้ช่วยแนะนำถึงการเขียน โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ในบทเรียนให้
เสมอ และถ้าใครต้องการคำอวยพรเป็นร้อยกรองในโอกาสต่าง ๆ มาขอร้องให้ช่วยแต่ง พ่อก็จะช่วยด้วยความเต็มใจ เพราะเป็นสิ่งที่ท่านรัก นอกจากนี้ท่านยังศึกษาวิชาโหราศาสตร์ และได้ทำนายดวงชะตาให้ทุกคนที่มาขอร้องให้ช่วยทำนาย พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชานี้ให้ผู้ต้องการรู้จนได้สมญาว่า “ครู” จากพวกเพื่อน ๆ
หลังจากแม่ของท่าน (ย่า) ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ สุขภาพระยะหลังนี้ไม่ค่อยแข็งแรงนัก ลูกได้พาพ่อไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลศิริราชและพบว่าเป็นโรคนิ่วในไต อาการทั่วไปไม่รุนแรง คงเป็นปกติอย่างคนแข็งแรงทั่วไป นอกจากจะมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และปัสสาวะจะไม่ปกติบางครั้ง ต้องรับประทานยาเป็นประจำ
ตลอดมาจนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ราวเดือนมกราคม รู้สึกว่าพ่อผอมลง และหายใจไม่ค่อยสะดวก ซึ่งแพทย์คิดว่าเป็นเพราะหลอดลมอักเสบ อย่างที่พ่อเป็นอยู่ประจำมาตั้งแต่ยังหนุ่มไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้ายแรง ทั้งนี้เพราะพ่อได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำ เมื่อมีอาการผิดปกติทางร่างกาย การฉายแสงเอ็กซเรย์ก็ได้กระทำทุกปี แต่โรคร้ายคุกคามเร็วมาก ราวเดือนมีนาคม พ่อรู้สึกปวดหลังและอ่อนเพลียมากขึ้น คุณหมอกวี เจริญลาภ ผู้ดูแลพ่อด้วยความมีน้ำใจดีตลอดเวลาที่ลูกคนเล็กของท่านไป.
ศึกษาวิชาแพทย์ต่อที่ประเทศอังกฤษ ได้ให้พ่อไปรับการฉายแสงเอ็กซเรย์อีกครั้ง จึงได้ทราบว่าพ่อเป็นมะเร็งที่ปอด คำบอกเล่าของคุณหมอ ทำให้ลูกตกใจมาก และสงสารพ่อเหลือเกิน พ่อจึงรีบทำบุญวันเกิดครบ ๖ รอบของท่านก่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้ เพื่อจะรีบเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ ๖ เมษายน นับจากนั้นพ่อไม่ได้กลับบ้านอีกเลย อยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา ๔ เดือนเต็ม โดยการรักษาพยาบาลของท่านอาจารย์หมอบัญญัติ ปริชญานนท์ และคุณหมอนันทา มาระเนตร
คุณหมอกวี เจริญลาภ คุณหมอทัศน์ยานี จันทนยิ่งยง ตลอดจนแพทย์ประจำบ้านและพยาบาลผู้มีน้ำใจไมตรีอันดีต่อพ่อ จึงขอขอบพระคุณได้ ณ ที่นี้ด้วย ในระยะ ๓ เดือนแรกในโรงพยาบาล พ่ออยู่อย่างคนปกติ ไม่มีอาการอะไรมากมายนัก นอกจากอ่อนเพลีย ท่านมีจิตใจเข้มแข็งมาก ต่อสู้ความเจ็บป่วยด้วยความอดทน ไม่ทำให้ลูกและน้องทุกคนที่เฝ้าไข้ต้องลำบากใจ ทุกครั้งที่นายแพทย์ไต่ถามถึงอาการของโรค พ่อจะตอบว่าไม่เป็นไรสบายดี ทั้งๆ ที่บางครั้งรู้สึกว่าพ่อไม่ค่อยสบายนัก คงจะเป็น
เพราะพ่อภาวนาธรรมและกรรมฐานที่ได้เพียรปฏิบัติเป็นนิสัยทุกวันมาตั้งแต่เมื่อยังสบายดีนั้นมาช่วยระงับความเจ็บปวด จึงทำให้ท่านนอนอย่างสงบ ในระยะเดือนที่ ๔ คือเดือนกรกฎาคม อาการของโรคมีมากขึ้น พร้อมทั้งมีโรคแทรก ทำให้ท่านอ่อนเพลียมากขึ้น และด้วยความเมตตาของท่านศาสตราจารย์หมอตระหนักจิต หะรินสุต ที่กรุณาให้ลูกคนเล็กของพ่อได้กลับมาจากประเทศอังกฤษได้พยาบาลพ่อระยะหลัง
การป่วยครั้งนี้พ่อรู้ตัวว่าจะไม่รอดแน่ แต่ก็ไม่เศร้าโศก เพราะเห็นว่าความตายเป็นของธรรมดา ลูกรู้สึกสงสารพ่อมาก และได้พยายามทำทุกอย่างที่มีผู้แนะนำอันจะช่วยพ่อให้หายหรือบรรเทาจากโรคร้ายนี้ ทุกคนสวดมนต์ภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้พ่อมีอายุยืนยาวต่อไปอีก แต่กฎแห่งกรรมตามที่พระพุทธเจ้าองค์พระบรมศาสดา
ผู้ประเสริฐสุดได้ทรงเล็งเห็นถ่องแท้แล้วว่า ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้น วาระสุดท้ายของท่านได้มาถึงในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๑๒.๔๕ น. พ่อได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ โดยไม่คาดฝันว่าท่านจะจากพวกเราไปอย่างรวดเร็วในวันนั้น สิริอายุพ่อได้ ๗๒ ปี ๔ เดือน
มรณกรรมของพ่อ ทำให้ลูกเสียใจอย่างสุดประมาณ พ่อเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในชีวิตของลูก เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขของลูก นับตั้งแต่แม่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว พ่อทำทุกอย่างให้ลูกเสมือนหนึ่งเป็นทั้งพ่อและแม่ /*(๘)*/ให้ความรัก ความห่วงใยตลอดมา ทั้ง ๆ ที่พ่ออาจจะหาความสุขได้อีกนานาประการ แต่ก็มิได้กระทำ
เช่นนั้น เฝ้าเลี้ยงดูลูกและแม่ (ย่า) อย่างดีที่สุด อบรมสั่งสอนให้ลูกหลานประพฤติตนอยู่ในคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ได้พบกับความสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า ภาพชีวิตที่เกี่ยวกับพ่อตั้งแต่ลูกจำความได้จนถึงวันสุดท้ายที่พ่อต้องจากไป ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำของลูกมิได้รู้ลืมเลือน พระคุณของพ่อ ลูกยัง
ตอบแทนไม่สมดังใจปรารถนา ฉะนั้น จะขอทำบุญสร้างกุศลให้มากที่สุด อุทิศให้แก่พ่อ ขอให้ผลบุญที่ลูกได้ประกอบทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมกับบุญกุศลที่พ่อได้กระทำไว้มากมาย จึงเป็นปัจจัยให้พ่อได้สถิตอยู่ ณ ภพที่สูงสุด ท่ามกลางอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคุณพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ และเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ณ สรวงสวรรค์ด้วยเถิด ลูกกราบเคารพบูชาทุกคืนวัน ขอให้ลูกมีวาสนาได้เกิดเป็นลูกพ่อตลอดไป.
ลูกของพ่อ
ร่มโพธิ์ของน้องและหลานเหลน
ย้อนหลังกลับไปเมื่อสมัยเกือบ ๕๐ ปีก่อน มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ศิริ จรูญเวสม์ ผิวขาวผ่องงามสง่า มาจำพรรษาอยู่ที่วัดจวนดำรงค์พลขันธ์ จังหวัดพระประแดง (เรียกชื่อตามสมัยนั้น) และคุณแม่ได้เล่าให้ผมฟังว่า ท่านเป็นบุตรคนเดียวของ คุณป้าพวง จรูญเวสม์ ซึ่งเมื่อลำดับวงศาคณาญาติกันแล้วก็จะมีศักดิ์เป็นลูกผู้พี่ของผม ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดจวนดำรงค์ ฯ นี้ โดยมีผมเป็นลูกศิษย์ได้ไม่กี่เพลา ก็อำลากลับพระนคร
อีก ๑ ปีต่อมา ผมได้ทราบข่าวว่าท่านได้ลาสิกขาบทเสียแล้ว และได้เข้ารับราชการสังกัดแผนกการเงินแห่งกองทัพเรือ ตลอดอายุเวลาในหน้าที่ราชการ คุณพี่ศิริได้ปฏิบัติงานด้วยความเรียบร้อย มานะ อดทน และมีความกระเหม็ดกระแหม่เก็บหอมรอมริบ จนสามารถปลูกเรือนทรงปั้นหยาสองชั้นขนาดย่อมขึ้นได้หลังหนึ่งด้วย
จำนวนเงินเพียงไม่กี่ชั่ง และเรือนน้อยเลขที่ ๑๗๓๔ ในตรอกมะยมตรงข้ามตลาดนางเลิ้งหลังนี้ ต่อมาได้กลายเป็นที่พำนักพักพิงของบรรดาน้อง ๆ ตลอดจนหลานเหลนอีกมากมาย ซึ่งเป็นเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรอันร่มเย็น ที่คุ้มกันให้ได้อยู่อาศัยกันอย่างผาสุกตลอดมา
ระยะหลังนี้...... รู้สึกว่าคุณพี่ศิริได้ลงไปเที่ยวที่บ้านปากลัดถี่เหลือเกิน ซึ่งมาทราบภายหลังว่าได้พบรักครั้งแรกกับสาวงามที่ชื่อ ผ่อง สังขะวัฒนะ ผู้เป็นบุตรีของคหบดีชาวพระประแดง ที่มีนิวาสถานอยู่ใกล้เคียงกับบ้านของผมนี่เอง บานของผมนเอง และแล้วก็ได้แต่งงานกันตามประเพณีอย่างสมเกียรติ
ปี ๒๔๗๕......ผมได้ขึ้นมาเรียนต่อชั้น ม. ๗ ที่ ร.ร. สวนกุหลาบวิทยาลัย ก็ได้มาอาศัยใบบุญพึ่งการอยู่กินกับคุณพี่ศิริอย่างสุขสบาย ตอนนั้น.......คุณพี่ศิริเพิ่งได้ให้กำเนิดบุตรีคนแรกที่มีอายุได้ ๑ ปี และให้ชื่อว่า “พงษ์ศรี” โดยเจตจำนงเอาอักษรและสำเนียงจากชื่อตัวและภรรยาผู้เป็นสุดที่รัก ในคำว่า “ผ่อง” กับ “ศิริ” มาผสมตั้งเป็น
ชื่อ และในปี ๒๔๗๖ จึงเกิดบุตรีคนที่ ๒ และเป็นคนสุดท้ายของสกุล “จรูญเวสม์” ชื่อ “นิภา” และลูกทั้งสองคนนี้นับเป็นเด็กที่อาภัพและโชคร้ายเหลือเกิน ที่เขาเกิดมาเมื่อคนโตอายุได้ ๓ ขวบ คนรองอายุได้เพียง ๑ ปี ซึ่งยังอยู่ในวัยที่จำความอะไรไม่ได้ และกำลังต้องการความอบอุ่นจากอ้อมอกของมารดามากที่สุด ก็ต้องมาสูญเสีย
มารดาผู้บังเกิดเกล้าไปอย่างไม่มีวันกลับ และไม่มีโอกาสจะทราบได้ว่าประพิมพ์ประพายรูปร่างหน้าตาของแม่ผู้รักลูกปานดวงใจ จะงดงามหรือเป็นไปในลักษณะใด เว้นไว้แต่จะดูจากภาพถ่ายในอดีตมานึกคิดเอาเองตามมโนภาพในขณะนี้เท่านั้น ซึ่งลูกทั้งสองหารู้ไม่ว่า “พงษ์ศรี” บุตรสาวคนโตได้ถอดเอาพิมพ์ของมารดามาทุกกระเบียดนิ้ว นอกจากจะรู้ว่า “นิภา” ลูกคนรองเท่านั้นที่ช่างมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับพ่อเสียจริง ๆ
โดยปกติวิสัย คุณพี่ศิริเป็นผู้ที่มุ่งมั่นในพระพุทธศาสนา มีใจบุญศุลทาน ผู้ใดตกทุกข์ได้ยาก มาขอความช่วยเหลือ เป็นต้องเช็ดน้ำตาให้ทุกครั้งเสมอไป และได้ให้ความอบอุ่นอนุเคราะห์ช่วยเหลือญาติพี่น้องหลานเหลน ด้วยการให้ที่พักพิงอยู่อาศัยตลอดจนอาหาร เงินทองอย่างสุขสมบูรณ์ อันเป็นพลังผลักดันให้หลายคนได้ก้าวไปสู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานดี มีเกียรติยิ่ง และหลายคนได้มีหลักฐานเป็นปึกแผ่น
มั่นคงตราบเท่าทุกวันนี้ คุณพี่ศิริผู้เป็นเสมือนร่มโพธิ์ทองของน้อง ๆ ที่เข้ามาพึ่งใบบุญ จนกระทั่งเกิดลูกหลานสืบต่อมาอีกมากมาย คุณพี่ศิริก็ยังต้องรับภาระในเรื่องการให้ความช่วยเหลือในด้านที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งอาหารการกินต่อไปอีก และนี่ถ้าท่านไม่รีบด่วนจากไปเสียก่อนใครเล่าจะพยากรณ์ได้ถูกต้องว่า ท่านจะต้องรับภาระเลี้ยงดู “โหลน” น้อย ๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ต่อไปอีกสักกี่คน พระคุณของท่านนั้นท่วมท้นสุดที่จะพรรณนา
การจากไปของคุณพี่ผ่องคู่ชีวิตของท่านในครั้งกระโน้น ผมไม่อยากจะกล่าวถึงความเศร้าโศกเสียใจของท่านว่าล้ำลึกเพียงใดในที่นี้ แต่ใคร่จะพูดถึงการครองเรือนในระยะหลังต่อมาว่า ท่านรัก “พงษ์ศรี” และ “นิภา” บุตรสาวทั้งสองนี้ยิ่งกว่าชีวิต สู้ยอมเสียสละความสุขส่วนตัว โดยไม่ยอมเกี่ยวข้องกับหญิงใด ไม่ว่าที่ไหน และไม่ให้ลูกต้องเสียกำลังใจในปัญหาเรื่องลูกเลี้ยงกับแม่เลี้ยง ด้วยการครองตัวตกพุ่มม่ายเรื่อยมาจนวันสุดท้ายของชีวิต เสมือนให้เป็นอนุสรณ์อันมั่นคงแก่คุณพี่ผ่องผู้ล่วงลับไป
แล้วว่า “จะครองรักเดียวตราบเท่าชีวิตสลาย” คุณพี่ศิริได้ตั้งปณิธานและถือคติว่า อนาคตนี้ ...ตระกูล “จรูญเวสม์” ซึ่งจะคงเหลืออยู่เพียง ๓ ชีวิตเท่านั้น คือ พงษ์ศรี, นิภา และตัวท่านเอง สิ่งที่จะนำความรุ่งโรจน์มาสู่วงศ์สกุลได้ก็คือ การอบรมบ่มนิสัยบุตรให้อยู่ในกรอบประเพณีนิยม ให้การศึกษาแก่บุตรทั้งสองอย่างดีที่สุด และผลจะเป็นเช่นไร จากบรรทัดฐานข้างท้ายนี้พอเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ของพ่อที่มีต่อลูก โดยถูกต้อง และสมบูรณ์เพียงไร ......
พงษ์ศรี จรูญเวสม์
พ.ศ. ๒๔๙๖ สำเร็จปริญญาบัญชี จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๐ สำเร็จปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์บัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิภา จรูญเวสม์
พ.ศ. ๒๕๐๐ สำเร็จปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศิริราช
พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้รับประกาศนียบัตรอายุรศาสตร์เขตร้อน และสุขวิทยาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับปริญญา Ph. D. ทางการแพทย์ จาก The University of Liverpool ประเทศอังกฤษ
คุณพี่ศิริได้จากไปแล้ว........พร้อมกับได้ปฏิบัติหน้าที่ของพ่อที่มีต่อลูกอย่างดีที่สุดและสมบูรณ์ ขอคุณงามความดีที่ได้กระทำมา ตลอดจนกุศลบุญราศีที่ญาติมิตรได้บำเพ็ญอุทิศให้ จงเป็นพลวปัจจัยนำดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของคุณพี่ศิริ จรูญเวสม์ ไปสู่สุคติในสัมปรายภพโน้น สมตามความปรารถนาด้วย เทอญ.
อาบ สีหนนท์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย