วันนี้ เวลา 02:20 • ไลฟ์สไตล์
ขอบพระคุณค่ะสำหรับทุกความเห็น เเละได้รับข้อคิดดีๆมากมาย อ่านเเล้วคันมืออยากร่วมเเสดงความเห็นกับโพสต์ของตนเอง
เห็นพ้องกับคุณCyber ค่ะ เขาเขียนได้ละเอียด ชัดเจน ลึกซึ้งมาก เเละสรุปความให้ด้วยว่า รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชาเเต่จะดียิ่งกว่า ถ้ามีปัญญารับมือการเปลี่ยนเเปลง
ใช่เเล้ว คนไทยส่วนมากติดกับดักคำว่า รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะเข้าท่า เเต่เป็นการให้ความสำคัญกับการเเก้ปัญหาเฉพาะหน้าเสียมากกว่า ( ฮีโร่คือศรีธนนไชย) ไอ้การเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์เราอยู่เเล้ว จะส่งเสริมให้ตระหนักหรือไม่มุ่งเน้น เราก็ต้องอยู่รอดให้ได้ ต้องเรียนรูการเเก้ปัญหาเฉพาะหน้า
คุณปกรณ์ ปราสาททองได้กล่าวเป็นทำนองว่า การเรียนการสอนสมัยก่อนกระจายไปได้ไม่ทั่วถึง หาคนมีความรู้ได้ยาก ความรู้จำเป็นก็มักเกี่ยวข้องกับคาถาอาคม ผู้โพสต์ก็เชื่อเเบบนั้น การออกนอกถิ่นฐานหาวิชาความรู้ถือเป็นเรื่องของเพศชาย เมื่อราวๆ๓๐ปีก่อนก็ได้ยินว่า ในท้องถิ่นชนบท ทั้งที่อายุมากเเล้ว เเต่ก็มีคุณย่าคุณยายที่ไม่เคยออกนอกหมู่บ้านเลยด้วยมองว่า ผู้ที่จะทำเช่นนั้นได้ต้องเป็นผู้ชาย
มาในยุคข้อมูลข่าวสาร ยิ่งรู้มากยิ่งมีหนทางนำไปใช้ จึงรับมือการเปลี่ยนเเปลงหรือสร้างประโยชน์ให้สังคมได้ ทำให้พัฒนาหรือคิดค้นทำสิ่งใหม่ๆขึ้นมา การคิดเพียงว่า รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี อาจจะทำให้ผู้คิดไม่เห็นคุณค่าของการใฝ่หาความรู้เท่าไรนัก คนเห็นเเก่ตัวเเละเกียจคร้านหากยึดติดความคิดนี้ อาจไม่ยอมใช้สมองเรื่องเรียน เเต่กลับคิดทำเรื่องเจ้าเล่เพทุบาย พยายามเอาเปรียบคนอื่น อาจตั้งใจเเหกกฏโดยมองว่าเป็นความสำเร็จอันหนึ่ง เเน่นอนคนมีความรู้ก็ทำเรื่องไม่สุจริตได้ เเต่พวกเเรกน่าจะมีมากกว่า
คนไทยอาจไม่ใช่ประเภททุ่มสุดตัวเพื่อหน้าที่การงานนัก พวกที่ติดสบาย ชอบทำอะไรง่ายๆ เเม้จะได้ดูคลิปได้อ่านหนังสืออ่านเพจดีๆที่สร้างเเรงบันดาลใจ ก็อาจดูกันเพื่อเสพความเพลิดเพลินสนุกสนาน หาได้คิดอ่านทำสิ่งใหม่ๆขึ้นมา เชื่อว่าสมัยเรียน คนประเภทนี้น่าจะขาดความมุ่งมั่น ตัวเองก็เป็นเช่นนั้นเเหละ ขอสารภาพ นอกจากความไม่ขยันเเล้ว ผู้โพสต์ยังยึดถือคำพูดประเภท ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เลยขาดเเรงจูงใจในการเรียนเข้าไปใหญ่ เเต่พออายุมากขึ้น จึงได้เห็นความสำคัญของการมีความรู้
ไม่ได้อวยญี่ปุ่นเเต่ประการใดเเต่ดูๆเเล้วคนประเทศนี้ ไม่มีหรอกคำพูดประเภทรู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ, รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี คนสังคมนี้นิยมการต่อยอดคือพัฒนาองค์ความรู้ให้ล้ำเลิศไปอีกระดับหนึ่ง เช่น (โปรดสังเกต ผู้โพสต์ใช้คำว่าเช่น) หากใครจะศึกษาวิธีคิดอย่างท่านผู้นำคนนั้นคนนี้ ก็จะเป็นต้องค้นคว้าที่มาเเละปัจจัยต่างๆเพื่อให้เข้าใจความคิดความต้องการของบุคคลผู้นั้น เเละจะเพียรคิดให้ได้เเบบนั้นเลย นั่นคือต้องก๊อปปี้ให้ได้ก่อน
เเล้วความคิดนั้น ก็จะถูกต่อยอดซึ่งต้องใช้การจินตนาการ ดังนั้นความรู้จึงเป็นสิ่งที่มาก่อนจินตนาการ
ผู้โพสต์เชื่อว่าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งพูดวลีเด็ดว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ คงไม่ได้ใช้ในความหมายที่ด้อยค่าความรู้ไปได้
คำกล่าวที่ว่า รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากับยุคปัจจุบันนัก ยิ่งถ้านักการเมืองยึดถือคำพูดนี้ไว้ ยิ่งเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ ว่าไหมคะ
คำที่เกี่ยวกับความก้าวหน้าของความรู้มีคำศัพท์อันหนึ่งที่ผู้โพสต์เคยได้ยินคือ มีความรู้เเตกฉาน ซึ่งจะกล่าวถึงความรู้ความสามารถของปัญญาชนไทยบางคน เเต่ไม่เคยได้ยินคำว่าต่อยอดความรู้ เรามีคำศัพท์นี้ไหมคะ ถ้ามี เราเริ่มใช้กันตั้งเเต่เมื่อไหร่คะ ใครพอจะรู้บ้าง
โฆษณา