วันนี้ เวลา 04:50 • สิ่งแวดล้อม

ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ต่อธุรกิจสีเขียวในยุคใหม่

(บทความจาก : กรุงไทย SME FOCUS Issue 46 คอลัมน์ SME Go Green)
การกลับมาของโดนัล ทรัมป์ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 พร้อมความเชื่อที่ว่า “โลกร้อนเป็นเรื่องลวงโลก” และเข้ามาคว่ำ (เกือบ) ทุกนโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่ารื้อแบบถอนรากกันเลยทีเดียว แน่นอนว่าภาคธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า โดยเฉพาะธุรกิจสีเขียวด้านความยั่งยืน
ซึ่งก่อนหน้านี้อย่างที่ลุงเคยเขียนถึงแนวโน้มธุรกิจทั่วโลก ที่นำเอาหลักการ ESG หรือ Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน มาปรับใช้เกือบทุกองค์กร แต่นับตั้งแต่ที่ทรัมป์พาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และเดินหน้าสนับสนุนพลังงานฟอสซิล รวมถึงลดมาตรฐานการปล่อยมลพิษ ฯลฯ เป็นการเปลี่ยนทิศทางโลกให้ถอยหลังกลับไปยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเสียอย่างนั้น อย่างไรมาดูกัน
  • เริ่มจากการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส
สิ่งแรกที่ทรัมป์เลือกทำหลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 นั่นก็คือ การพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสเป็นครั้งที่ 2 นั่นเอง หลังจากที่เคยถอนตัวมาแล้วในสมัยแรก
แน่นอนว่าการถอนตัวครั้งนี้ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความกังวลเกี่ยวกับความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดลงให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งอาจจะทำให้หลายประเทศต้องหันมาทบทวนนโนบายด้านสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ว่าควรไปในทิศทางไหนดี โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่ยังต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมฟอสซิล งานนี้มีไขว้เขวกันบ้างแหละ
ซึ่งก็สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ สสว. ที่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลกระทบทางตรง และทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการผลิต และอุตสาหกรรมการส่งออก การที่ทรัมป์ชะลอการใช้กฎหมาย Clean Competition Act อาจทำให้ SME ไทยในอุตสาหกรรมการผลิต ขนส่ง และเกษตรกรรม ที่ยังมีการปล่อยคาร์บอนจำนวนมากอยู่ ได้รับประโยชน์ในระยะสั้น เพราะจะทำให้ประเทศไทยสามารถยืดเวลาในการทำตามเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ได้นั่นเอง
แต่ในระยะยาวประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันจากตลาดส่งออกจากสหภาพยุโรปที่ยังคงเข้มงวดกับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และอาจทำให้สินค้าจากไทยถูกเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้น และเมื่อถึงจุดที่ตลาดโลกกลับไปให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ถึงตอนนั้นไทยอาจปรับตัวไม่ทันแล้วก็ได้
  • ผลกระทบด้านเงินทุนและการสนับสนุนทางการเงินต่อประเทศกำลังพัฒนา
ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเงินทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ต่อประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย แต่เมื่อทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่ง เงินทุนดังกล่าวกลับถูกระงับ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนประมาณ 30% ของกองทุนนี้เลยทีเดียว ส่งผลให้เงินทุนด้านพลังงานสะอาด ธุรกิจและโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของไทยที่ต้องอาศัยเงินทุนจากสหรัฐฯ ก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ส่วนการตั้งกำแพงภาษีกับนานาประเทศ อาจไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่เมื่อครั้งที่สหรัฐฯ และจีนเปิดสงครามการค้าในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์ ก็ส่งผลให้มีขยะทะลักเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก รวมถึงไทย ต้องจับตาดูว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะขยะและวัสดุรีไซเคิลก็เป็นหนึ่งในสินค้านำเข้าและส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศ
แม้ว่านโยบายของทรัมป์จะทำให้แนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อมชะลอตัวลง แต่กระแสโลกยังคงมุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืน สหภาพยุโรป จีน และอีกหลายประเทศยังคงเดินหน้าสู่ความยั่งยืนและมุ่งมั่นที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่าไทยเองก็ควรมองไปข้างหน้า และเตรียมความพร้อมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกด้วยเช่นกัน
โฆษณา