เมื่อวาน เวลา 05:48 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เส้นทางสู่ Gorilla Glass จากโปรเจ็กต์ล้มเหลวในปี 1971 สู่มาตรฐานหน้าจอสมาร์ทโฟนทั่วโลก

ย้อนกลับไปในยุคก่อน iPhone จะถือกำเนิด พวกเราใช้หน้าจอมือถือที่เรียกได้ว่าห่วยสุดๆ ตกนิดตกหน่อยจอก็แตก เป็นพลาสติกที่มีรอยขีดข่วนง่ายมาก สร้างความปวดหัวให้คนใช้ทั่วโลก
เดือนกันยายน 2006 เพียงสี่เดือนก่อน Steve Jobs วางแผนเปิดตัว iPhone ให้โลกได้เห็น เขาปรากฏตัวที่สำนักงานใหญ่ Apple ด้วยอารมณ์โกรธจัด เพราะเห็น iPhone ต้นแบบมีรอยขีดข่วนทั่วหน้าจอพลาสติก เพราะแค่กระทบกับกุญแจในกระเป๋ากางเกงเท่านั้น จอก็มีรอยเต็มไปหมดแล้ว
ผู้บริหารพยายามอธิบายว่ามีจอแก้วต้นแบบ แต่มันล้มเหลวในการทดสอบ ตกจากที่สูงหนึ่งเมตร 100 ครั้ง พังสิ้นซาก 100 ครั้ง Jobs กล่าวอย่างโมโหว่า “ฉันแค่อยากรู้ว่านายจะทำมันสำเร็จหรือเปล่า”
แผนเดิมคือจัดส่ง iPhone ด้วยจอแบบเดียวกับ iPod แต่จากคำสั่งเด็ดขาดของ Jobs ทำให้ทีม iPhone มีเวลาไม่ถึงปีหาจอใหม่
ปัญหาใหญ่ก็คือ ไม่มีจอแก้วไหนที่ทำได้ตามที่ Jobs ต้องการ แก้วส่วนใหญ่เปราะบาง แตกง่าย หรือไม่ก็หนาเกินไป
Apple พยายามเสริมความแข็งแกร่งของกระจกเองแต่ก็เละเทะไม่เป็นท่า เพราะเป็นบริษัทเทคโนโลยี ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์
1
ฟ้าลิขิตให้ iPhone ต้องมีหน้าจอพิเศษ เมื่อเพื่อนของ Jobs แนะนำให้เขาติดต่อ Wendell Weeks ซีอีโอของ Corning บริษัทแก้วในนิวยอร์ก
ช่วงปลายทศวรรษ 1950 Bill Decker ประธาน Corning ซึ่งตอนนั้นผลิตจานแก้วสำหรับ Microwave คุยกับ William Armistead หัวหน้าฝ่ายวิจัย
Decker ตั้งคำถามว่าทำไมไม่แก้ไขปัญหากระจกที่แตกง่ายเสียที จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Project Muscle
เป้าหมายของโครงการนี้คือสร้างกระจกใสแข็งแกร่งสุดล้ำ ทีมวิจัยสำรวจวิธีเสริมความทนทานของกระจกทุกรูปแบบที่คิดได้
วิธีการหลักมีสองแบบ คือเทคนิคการชุบแข็งแบบเก่าด้วยความร้อน และแบบใหม่คือกระจกหลายชั้นที่ขยายตัวต่างกัน
นักวิจัยเชื่อว่าเมื่อแก้วหลายชั้นเย็นตัวลง จะเกิดการบีบอัดที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ได้
การทดลองของ Project Muscle นำไปสู่การพัฒนาวัสดุใหม่ที่แข็งแรงพิเศษง ด้วยกระบวนการเสริมความแข็งแกร่งทางเคมีสุดเจ๋ง
พวกเขาใช้วิธีใหม่ที่เรียกว่าการแลกเปลี่ยนไอออน เริ่มต้นด้วยทรายซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแก้ว ผสมสารเคมีให้ได้อะลูมิโนซิลิเกตที่มีโซเดียมสูง
จากนั้นนำแก้วแช่ในเกลือโพแทสเซียมและให้ความร้อนสูงถึง 400 องศาเซลเซียส เพราะโพแทสเซียมหนักกว่าโซเดียมในส่วนผสมดั้งเดิม
ไอออนขนาดใหญ่ถูกยัดลงในพื้นผิวแก้ว ทำให้เกิดสภาวะบีบอัดที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ พวกเขาตั้งชื่อวัสดุใหม่นี้ว่า Chemcor
Chemcor แข็งแกร่งกว่ากระจกธรรมดาถึง 50 เท่า ทนแรงกดได้สูงถึง 100,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และยังมองทะลุผ่านได้ชัดเจน
ปี 1962 Corning คิดว่ากระจกใหม่พร้อมสำหรับตลาดแล้ว แต่พวกเขาไม่รู้จะทำตลาด Chemcor อย่างไร เพราะคุณสมบัติมันเทพเกินไป
Corning จัดงานแถลงข่าวใหญ่ใจกลางแมนฮัตตัน เพื่ออวดโฉมกระจกสุดล้ำนี้ให้โลกได้เห็น มีการทดสอบการกระแทก งอและบิด
แทบไม่มีอะไรทำลายมันได้เลย แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือมีผู้สนใจเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ทั้งที่มันสามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย
ทั้งหน้าต่างที่ทนทานสำหรับเรือนจำ หรือกระจกหน้ารถที่ป้องกันการแตกได้ดี Corning มองเห็นศักยภาพมากมายแต่ตลาดกลับไม่สนใจ
ปี 1969 บริษัทลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ถึง 42 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Chemcor ก็พร้อมที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับโลก
1
แต่ตลาดกลับตอบรับในทิศทางตรงกันข้าม ไม่มีใครต้องการกระจกแก้วแข็งแรงราคาแพง ท้ายที่สุด Chemcor และ Project Muscle ถูกทิ้งร้างในปี 1971
ตัดภาพมาปี 2005 เมื่อโทรศัพท์ฝาพับอย่าง Razr ดังกระฉูด Corning หวนกลับมารื้อฟื้นโปรเจ็กต์ Chemcor ที่ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่ยุค 1960 อีกครั้ง
พวกเขาต้องการทดสอบว่ามีวิธีสร้างกระจกทนทาน ราคาไม่แพงจนเกินไป และป้องกันรอยขีดข่วนสำหรับมือถือได้หรือไม่ ครั้งนี้พวกเขาตั้งชื่อโค้ดสุดเท่ให้โครงการว่า “Gorilla Glass”
1
เมื่อทีม Apple เดินทางไปสำนักงานใหญ่ Corning ทางตอนเหนือของนิวยอร์ก Weeks มีความต้องการที่จะรื้อฟื้นงานวิจัยเก่า
Jobs อธิบายสิ่งที่พวกเขากำลังมองหา และ Weeks แนะนำ Jobs เกี่ยวกับ Gorilla Glass ที่กำลังพัฒนาอยู่ ทั้งคู่ถกเถียงกันอย่างหนัก
ต่างคนต่างโม้ถึงเทคโนโลยีสุดยอดในผลิตภัณฑ์ของตน น่าสนใจที่เป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ Jobs ถึงกับผงะในการประชุม
1
Weeks เป็นคนขัดจังหวะและสั่งสอน Jobs เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของวัสดุแก้ว แบบถึงพริกถึงขิงไม่มีใครยอมใคร สุดท้ายเป็นที่ชัดเจนว่าจอแก้วของ Weeks นั้นโครตเทพกว่าสิ่งที่ทีมงานของ Jobs วิจัยด้วยตัวเอง
Jobs ตัดสินใจสั่งให้ Weeks ผลิต Gorilla Glass ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ก่อน iPhone จะเปิดตัว
Weeks พยายามอธิบายว่าบริษัทไม่มีกำลังผลิตมากพอและผลิตไม่ทันแน่นอน แต่ Jobs กลับตอบด้วยความมั่นใจ “ไม่ต้องกลัว จงตั้งสติให้ดี คุณสามารถทำมันได้”
Corning มีต้นแบบจากงานวิจัยเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ไม่เคยผลิตจำนวนมากอย่างที่ Jobs ต้องการ อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ได้ถูกขีดเขียนขึ้นมาใหม่
ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี สมาร์ทโฟนเกือบทุกเครื่องบนโลกต่างใช้ Gorilla Glass เป็นส่วนประกอบหลักที่ขาดไม่ได้
Gorilla Glass ผลิตในโรงงานที่ตั้งอยู่ระหว่างทุ่งยาสูบและฟาร์มปศุสัตว์ใน Harrodsburg รัฐเคนตักกี้ ซึ่งมีประชากรแค่ประมาณ 8,000 คน
นับเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของ iPhone ที่ได้รับการผลิตในสหรัฐอเมริกา เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับคนในพื้นที่
หลังจาก iPhone รุ่นแรกออกสู่ตลาด Gorilla Glass ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความเจ๋งเกินคาด กลายเป็นวัสดุสำคัญในวงการอิเล็กทรอนิกส์
มันถูกใช้ในทั้งโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต ก่อนจะขยายไปสู่อุปกรณ์เกือบทุกประเภทที่ต้องการหน้าจอแข็งแรงทนทาน
การได้สัญญาผลิตครั้งใหญ่จาก Apple ช่วยให้ Corning เติบโตแบบพุ่งกระฉูด ไม่ใช่แค่เพราะความสำเร็จของ iPhone เท่านั้น แต่ยังเป็นการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเทคโนโลยีของ Corning นั้นเจ๋งแค่ไหน
ไม่นานหลังจากนั้น Samsung, Motorola, LG และแทบทุกบริษัทที่อยากเข้าวงการสมาร์ทโฟน ต่างหันมามองและใช้ Gorilla Glass กันทั้งนั้น
นี่คือเรื่องราวสุดพีคของนวัตกรรมที่ถูกลืมไปเกือบครึ่งศตวรรษ ก่อนจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งโดย iPhone
เพื่อปกป้องหน้าจอจากรอยขีดข่วนในโลกยุคใหม่ ที่คนเกือบครึ่งโลกต้องสัมผัสกับหน้าจอนี้ทุกวัน บ่อยจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียว
กระจกอัจฉริยะที่ไม่มีใครสนใจในช่วง 1960-1970 กลับกลายเป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีที่ขาดไม่ได้
เป็นตัวอย่างเจ๋งมากๆ ของนวัตกรรมที่มาถูกที่ถูกเวลา แม้จะรอคอยโอกาสนานเกือบ 50 ปี มันก็ไม่เคยประสบความสำเร็จได้จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม
Gorilla Glass ไม่ได้เป็นแค่ส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติในวงการอุตสาหกรรมวัสดุ
มันแสดงให้เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาระยะยาว แม้จะไม่เห็นผลทันที แต่เมื่อถึงจุดพีค มันกลับมาสร้างประโยชน์มหาศาล
ปัจจุบัน Corning ยังพัฒนา Gorilla Glass อย่างต่อเนื่อง ออกรุ่นใหม่ๆ ที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ตอบสนองความต้องการของตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตแบบไม่หยุดยั้ง เกิดการแข่งขันกันรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ
การเติบโตของ Gorilla Glass ยังทำให้ Corning ขยายการวิจัยไปสู่วัสดุแก้วชนิดใหม่ๆ สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ทั้งยานยนต์ อาคาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมหนึ่งสามารถผลักดันให้เกิดนวัตกรรมอีกมากมายได้
เรื่องราวของ Gorilla Glass จึงไม่ใช่แค่ความสำเร็จของวัสดุชนิดหนึ่ง แต่เป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการอดทนรอคอย
เป็นการไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค และการเห็นโอกาสในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม นี่คือแก่นของการสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนในระยะยาว ความรู้และเทคโนโลยีบางอย่างอาจมาก่อนเวลาที่โลกพร้อมยอมรับมัน มันต้องรอเวลาที่เหมาะสม
เมื่อถึงเวลาที่ใช่ นวัตกรรมเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับและเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างมหาศาล เหมือน Gorilla Glass ที่ปกป้องจอมือถือเราทุกวันนี้
ลองคิดดู หากไม่มี Gorilla Glass หน้าจอมือถือของเราอาจเป็นรอยมากมายแค่เผลอวางไว้ในกระเป๋าร่วมกับกุญแจ
หรือถ้าวันนั้น Jobs ไม่โมโหเรื่องรอยขีดข่วน ไม่ได้เจอกับ Weeks พวกเราอาจยังใช้มือถือจอห่วยๆ กันอยู่
บางครั้งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เกิดจากความบังเอิญ การพบกันของคนที่ใช่ในเวลาที่เหมาะสม ราวกับฟ้าลิขิตให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้น
จาก Project Muscle สู่ Chemcor แล้วถูกลืมไปเกือบ 50 ปี จนฟื้นคืนชีพมาเป็น Gorilla Glass นี่คือเส้นทางสุดแเจ๋งของนวัตกรรมที่ปลุกปั้นโลกอิเล็กทรอนิกส์ให้แข็งแรงทนทานมากขึ้น
ความรู้และเทคโนโลยีบางอย่างอาจจะมาก่อนเวลาที่โลกพร้อมจะยอมรับมัน แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม นวัตกรรมเหล่านั้นก็จะได้รับการยอมรับและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้อย่างมหาศาล เฉกเช่นเดียวกับ Gorilla Glass ที่ปกป้องหน้าจอสมาร์ทโฟนของเรามาจนถึงทุกวันนี้นั่นเองครับผม
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
คิดเห็นอย่างไรคอมเม้นต์กันได้เลยครับผม
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
1
The original article appeared here https://www.tharadhol.com/the-road-to-gorilla-glass/
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA ด.ดล Blog
คลิกเลย --> https://lin.ee/aMEkyNA
รวม Blog Post ที่มีผู้อ่านมากที่สุด
——————————————–
ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
=========================
โฆษณา