Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
CheeChud.com
•
ติดตาม
16 ม.ค. 2021 เวลา 07:16 • การเมือง
< มาตรการเยียวยาโควิดระลอกสอง
เมื่อประชาชนกำลัง "โคม่า" แต่รัฐแจก “พารา” คนละสองเม็ด >
ชัชวนันท์ สันธิเดช
ที่ปรึกษา กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร
วันพฤหัสบดีที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจในฐานะที่ปรึกษา กมธ. โดยเป็นการประชุมผ่านโปรแกรม Zoom อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
วาระหลักในการประชุมครั้งนี้ เป็นเรื่องของแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคระลอกสองที่กำลังดำเนินอยู่ โดยมีหลายหน่วยงานรัฐเข้าร่วม
คำถามที่กรรมาธิการหลายคน นำโดยคุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองประธาน กมธ.หยิบยกขึ้นมาถามผู้ชี้แจงเป็นลำดับต้นๆ หนีไม่พ้นโครงการ “เราชนะ” ที่เตรียมแจกเงิน 3,500 บาทต่อคน เป็นระยะเวลาสองเดือน โดยมีการสอบถามถึงหลักคิดและที่มาของตัวเลขดังกล่าว
ในประเด็นนี้ ผมได้แสดงความคิดเห็นไปว่า เงิน 3,500 บาท เป็นจำนวนเงินที่ “น้อยมาก" และไม่มีทาง “เพียงพอ” เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งที่รัฐสามารถเพิ่มงบประมาณสำหรับเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดให้มากกว่านี้ได้ เมื่อดูจากความสามารถทางการคลังของประเทศในปัจจุบัน
ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า “มาตรการควบคุมโรค” ควรจะมาพร้อมกับ “มาตรการช่วยเหลือ” โดยยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ที่เมื่อมีคำสั่งล็อคดาวน์ นายกรัฐมนตรีแองเจลา เมอร์เคล ก็ออกมาแถลงทั้งมาตรการควบคุมโรคและมาตรการช่วยเหลือไปพร้อมๆ กัน โดยบอกชัดเจนเลยว่าใครจะได้รับการชดเชยเท่าไร มีเกณฑ์อย่างไร
ไม่ใช่สั่งปิดโน่นนี่ก่อน แล้วค่อยเข็นมาตรการเยียวยาตามมาทีหลังเหมือนของเรา
อีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมได้ยกมือถามก็คือ เพราะเหตุใด มาตรการช่วยเหลือ SMEs และผู้ประกอบการ จึงจำกัดไว้ในรูปของ “สินเชื่อ” เหตุใดไม่เป็น “เงินชดเชย” โดย “ให้เปล่า” ไปเลย เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหาย จากการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจหรือทำมาหากิน อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐ
ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของผับ บาร์ แต่เดิมเคยเปิดถึงเที่ยงคืน-ตี 1 พอเกิดโควิดระลอกสอง ก็ต้องปิดตั้งแต่ 3 ทุ่ม แล้วพวกเขาจะเอารายได้ที่ไหนมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน? หรือต่อให้ได้สินเชื่อมาจริง หากไม่มีรายได้เข้ามา เงินนั้นย่อมหมดไปอย่างรวดเร็ว แล้วต่อไปจะเอาเงินที่ไปใช้หนี้? (ยังไม่พูดถึงเหตุผลที่ธุรกิจจำนวนมากกู้เงินไม่ได้ เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ของธนาคารพาณิชน์ ซึ่งผมเคยเขียนเล่าไปแล้ว)
มันคือวงจรแห่งความเจ็บปวดที่พวกเขาไม่มีทางหลุดพ้นได้เลย
ที่น่าตลกที่สุดก็คือ มาตรการซึ่งเตรียมไว้เยียวยาในครั้งนี้ ไม่ได้มีการเจาะจงให้ตรงจุดเท่าที่ควร ทั้งที่ปรากฏชัดอยู่แล้วว่าผู้เสียหายหนักที่สุด คือประชาชนในพื้นที่ที่มีการควบคุมเข้มงวด อันได้แก่หลายจังหวัดในภาคตะวันออก ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการและผู้มีอาชีพอิสระซึ่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจหรือประกอบวิชาชีพได้ตามปกติ เช่น ร้านนวด ฟิตเนส ฯลฯ
ดังที่คุณศิริกัญญา ตันสกุล ประธาน กมธ.กล่าวสรุปว่า เป็นมาตรการที่มีลักษณะ “blanket measures” หรือ“เหวี่ยงแห” ไม่ได้พุ่งเป้าไปยังผู้ที่เดือดร้อนเฉพาะกลุ่มนั่นเอง
โดยสรุป ผมมองว่าปัญหาของมาตรการเหล่านี้ เกิดจากการที่ผู้มีอำนาจรัฐและระบบราชการไทยยังขาด “sense of urgency” ไม่ได้รู้สึกถึงความหนักหนาสาหัสของปัญหาที่ประชาชนกำลังประสบ อันเกิดจากวิธีคิดแบบ “top down” ราวกับนั่งมองความเดือดร้อนของประชาชนลงมาจากหอคอยงาช้าง
เหมือนประชาชนกำลังป่วยหนักอาการโคม่า แต่รัฐเอาพาราเซตามอลไปแจกคนละสองเม็ด ไม่ลงไปดูให้ดีว่าใครป่วยมาก ป่วยน้อย เป็นโรคอะไร ควรรักษาอย่างไรบ้าง สุดท้ายจึงได้แต่ร้องครวญคราง นอนซมกันยาวๆ ไป
... และนี่คือการปฏิบัติหน้าที่ของผมในฐานะที่ปรึกษา กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ครับ
เพื่อราษฏร,
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย