30 ก.ย. 2019 เวลา 16:36 • บันเทิง
Movietalk ที่นี่...โรงหนัง:
SCALA The Last Stand
สกาลา ยืนหนึ่งโรงสุดท้าย
ที่มาของคอนเทนต์ใหม่ในเพจ Movietalk ที่เกิดขึ้นจากการคุยกันผ่านทางคอมเมนต์ระหว่างผู้เขียน กับ แอดพี่บี@bangkoklife ที่ชักชวนให้รีวิวโรงหนัง ซึ่งอันที่จริงก็เคยมีความคิดนี้อยู่แล้ว แต่คิดแนวทางนำเสนอไม่ออกจนแต่ระหว่างที่คุยกันก็เลยเกิดไอเดียขึ้น ซึ่งปัญหาเดียวคือการหารูปถ่ายโรงหนังในอดีต และการสืบค้นข้อมูลประกอบการเขียน
แต่ในที่สุดคอนเทนต์นี้ก็เกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะดูหนัง Brave Father Online รอบเช้าที่โรงหนังสกาลา ซึ่งคงจะเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับโรงหนังประเดิมคอนเทนต์นี้ เนื่องเพราะสกาลาคือโรงหนัง Stand Alone หนึ่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ท่ามกลางกระแสเปลี่ยนแปลงโลก และรสนิยมการดูหนังของคนดูที่แปรเปลี่ยนไป
เพื่อไม่ให้เปิดการเสียเวลา ขอเริ่มต้นกันเลยครับ
ที่นี่...โรงหนัง: สกาลา The Last Stand ยืนหนึ่งโรงสุดท้าย
‘สกาลา’ คือ โรงภาพยนตร์ (ซึ่งต่อไปขอเรียกว่า ‘โรงหนัง’) ประเภทสแตนด์อโลนหนึ่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ท่ามกลางคลื่นสึนามิแห่งการเปลี่ยนแปลงรสนิยมของคนดูหนังมาแล้วหลายยุคหลายสมัย
ภาพประกอบ​: matichon
สกาลา เกิดขึ้นจากการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เปิดให้เอกชนเช่าเพื่อพัฒนาที่ดินในปี พ.ศ.2505 คุณพิสิฐ ตันสัจจา ซึ่งเป็นผู้เริ่มธุรกิจเครือเอเพ็กซ์ ที่ประสบความสำเร็จจากการทำโรงหนังศาลาเฉลิมไทย ได้เริ่มสร้างโรงหนังในบริเวณนั้นโดยโรงหนังสยามเป็นโรงแรกที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2509 ถัดมาคือโรงหนังลิโด ในปี 2511 และในปี 2512 ก็ถึงเวลากำเนิดโรงหนังสกาลา ที่เปิดรอบปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2512 เป็นโรงหนังความจุ 1,000 ที่นั่ง (ปัจจุบันเหลือ 876 ที่นั่ง) โดยหนังเรื่องแรกที่เปิดฉายที่นี่คือเรื่อง The Undefeated สองสิงห์ตะลุยสิบทิศ
ภาพประกอบ​: sarakadee,
โรงหนังสกาลาถูกสร้างภายใต้แนวคิดอยากจะสร้างโรงหนังที่สวยที่สุด ออกแบบโดยจิระ ศิลป์กนก โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก เอามารวมกันไว้ให้อยู่ในที่เดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีปูนปั้นลอยตัวที่แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ซึ่งมีทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไทย รวมอยู่บนผนัง และเมื่อเดินขึ้นบันไดมาจะมีโคมไฟแชงกาเรียจากอิตาลี คอยทำหน้าที่ต้อนรับผู้ชมที่กำลังเดินขึ้นบันไดด้านหน้า ความอลังการ ความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นที่มาของชื่อโรงหนังสกาลา ที่หมายถึง บันได นั่นเอง
ภาพประกอบ​: matichon
โรงหนังสกาลา มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมโรงภาพยนตร์ ในรูปแบบสมัยใหม่ช่วงหลัง (Late Modernist) ผสมกับ การประดับลวดลายแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ด้านหน้าอาคารยกพื้นขึ้นสูงเปิดเป็นทางเข้า โดยใช้ลักษณะของซุ้มโค้ง ภายในชั้นบนที่เป็นทางเข้าชมภาพยนตร์มีลักษณะเป็นโครงสร้างทรงโค้งมีเสารองรับตามจุดต่างๆ เพดานระหว่างเสาประดับเป็นรูปคล้ายเฟือง ขนาดใหญ่ ซึงกลายเป็นลักษณะเฉพาะของโรงหนังแห่งนี้
สกาล่าได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์​
โรงหนังสกาลาจึงกลายเป็นโรงหนังที่สวยที่สุดในบรรดาโรงหนังในยุคนั้น แม้จะมาทีหลัง เป็นน้องเล็ก แต่ก็กลายเป็นโรงหนังหลักของเครือเอเพ็กซ์ ที่ใช้เปิดตัวภาพยนตร์ในยุคนั้นต้องจัดฉายรอบปฐมทัศน์ที่สกาลาถึงจะเรียกว่าอลังการตัวจริง, การจัดฉายภาพยนตร์รอบการกุศล
โรงหนังสกาลาต้องเผชิญภาวะวิกฤตทั้งจากการเปลี่ยนแปลงรสนิยมคนดูหนัง ที่หนังกลายเป็นความบันเทิงในบ้านผ่านการเช่าวีดีโอมาดูที่บ้านแทน ภายหลังการจากไปของวีดีโอที่ถูกแทนที่ด้วยแผ่นหนังเลเซอร์ดิสก์ และการเข้ามาของโรงหนังแนวใหม่ ‘โรงหนังมัลติเพล็กซ์’ ที่ภายในประกอบด้วยโรงหนังย่อยหลายโรง จัดฉายหนังหลายเรื่องที่รอบเวลาเหลื่อมกัน ที่สำคัญจุดขายที่ภาพและเสียงที่มาด้วยระบบ Dolby Sterio แถมด้วยบางโรงติด THX ที่การันตีคุณภาพโรงมาตรฐานโลก
ทำให้โรงหนังในเครือเอเพ็กซ์ สกาลา, ลิโด, สยาม ต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในราว ๆ ปี พ.ศ.2544 ที่ติดตั้งระบบเสียง Surround Dolby Digital มาตรฐานเดียวกับโรงมัลติเพล็กซ์
แต่การถาโถมเข้ามาของโรงหนังมัลติเพล็กซ์ก็มีส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนดู ให้หันมานิยมดูหนังในโรงมัลติเพล็กซ์มากขึ้น ส่งผลให้โรงหนังสแตนด์อโลนร่วมยุคอาทิเช่น แมคเคนนา, เอเธนส์, ต้องทยอยปิดตัวลง จนในที่สุดเหลือเพียงสกาลาหนึ่งเดียวเท่านั้น
ในวันนี้ของสกาลายังคงต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ภายใต้ทำเลทอง เครือเอเพ็กซ์ประสบปัญหาขาดทุน และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามความเปลี่ยนแปลง จนเกิดกระแสข่าวปิดตัวสกาลาให้ได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้
นั่นยังไม่ใช่ปัญหาเดียวของโรงหนังสกาลาที่จะต้องเจอคลื่นสึนามิอีกหนึ่งยุค เมื่อรสนิยมคนดูเปลี่ยนแปลงอีกครั้งผ่านการดูหนังด้วยระบบสตรีมมิ่ง ที่มี Netflix เป็นหัวหอกชี้นำให้เกิดเทรนด์ดูหนังที่บ้านผ่านการโหลดหนังมาดู สกาลา และโรงหนังมัลติเพล็กซ์จึงถูกท้าทายอีกครั้ง และคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าโรงหนังเหล่านี้จะรักษาตัวเองต่อไปได้หรือไม่
สำหรับคนที่เคยดูหนังที่สกาลามาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากไปดูกับก๊วนเพื่อนสมัยเรียนพาณิชย์, ดูหนังคนเดียวเพื่อทำรายงานในช่วงมหาวิทยาลัย, ฆ่าเวลารอแฟนด้วยการดูหนังระหว่างคุณเธอไปช็อปปิ้งกับเพื่อน กระทั่งทุกวันนี้ดูหนังที่สกาลาเพื่อเขียนบล็อก ผู้เขียนถือว่าโรงหนังสกาลาคือไทม์ไลน์ชีวิตของผู้เขียน
ด้วยบรรยากาศที่ดูย้อนยุค แต่คงความคลาสิก พนักงานที่ดูเป็นมิตร ที่มาในชุดสูทสีเหลืองผูกหูกระต่าย พกไฟฉายไว้กับตัว, การเลือกดูหนังในกระดาษผังที่นั่ง (ที่ปัจจุบันเราดูผ่านหน้าจอทัชสกรีน) ตั๋วหนังที่ยังใช้ปากกาเขียน แล้วฉีกตั๋วให้คนดูถือไว้ ก่อนจะถูกฉีกอีกครั้งตอนเข้าโรงหนัง ในราคา 120- และที่สำคัญ ป็อปคอร์นที่นี่ รสอร่อยในราคาถูกมากกกกก 45 บาทเท่านั้น! (แม่เจ้า! ไปคิดต่อกันเอง) มีเงินร้อยบาท คุณได้ทั้งป็อปคอร์น​พร้อมเครื่องดื่ม ยังเหลือเงินทอนด้วย
สกาลาในปัจจุบัน ที่แม้กระทั่ง Avengers: Endgame ก็ยังถูกฉายที่นี่ หนังบล็อกบัสเตอร์ทั้งหลาย, หนังระดับหวังรางวัล สถานที่จัดกิจกรรม ‘ทึ่งหนังโลก’ ของหอภาพยนตร์, สถานที่จัดคอนเสิร์ต หรือกระทั่งพี่โน๊ต อุดม ก็เคยจัดเดี่ยวไมโครโฟนที่นี่มาแล้วเหมือนกัน ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือความพยายามที่จะต่อลมหายใจและยืนหยัดต่อไปของโรงหนังสกาลา
ปัจจุบัน สกาลา อยู่ภายใต้การบริหารโดยมีคุณ นันทา ตันสัจจา เป็นประธานโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์
ภาพประกอบ​: thairath.co.th
สำหรับคนดูหนังที่เคยได้ยินชื่อ ‘สกาลา’ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ดูหนังที่นี่มาก่อน ควรหาโอกาสสักครั้งที่จะไปสัมผัส และดื่มด่ำกับโรงหนังสแตนด์อโลนในตำนาน ที่ผ่านยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งหลายครา ส่วนคนที่มีความหลังกับสกาลา การกลับมาดูหนังที่นี่ ถือเป็นโอกาสที่จะทบทวนความทรงจำในอดีต เยี่ยมเยียนเพื่อนเก่าที่เคยต้อนรับเราเมื่อนานมาแล้ว และหากรู้สึกผูกพันแบบที่ผู้เขียนรู้สึก บางทีมันอาจช่วยต่อลมหายใจให้แก่โรงหนังยืนหนึ่งโรงสุดท้ายที่ชื่อ
‘สกาลา’
The Last Stand Scala
ขอบคุณที่มาข้อมูล: Wikipedia, asaconservationaward.com, thairath.co.th
ขอบคุณที่มาภาพประกอบ: thairath.co.th, mgronline.com, sarakadee, matichon
Photo: Movie

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา