16 ธ.ค. 2019 เวลา 01:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แมลงในผลมะเดื่อ
มะเดื่อเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่หอมหวานมาก แต่ว่าหลายๆ คนอาจจะไม่ชอบมะเดื่อสักเท่าไหร่ เพราะในผลมะเดื่อมักจะมีแมลงตัวเล็กๆ อยู่ข้างใน หลายผลก็มีแมลงอยู่เยอะมาก
แมลงนั้นคืออะไร ทำไมถึงเจออยู่ในผลมะเดื่อแทบทุกลูก และแมลงนี้มีความสำคัญอย่างไรกับมะเดื่อวันนี้จะมาเล่าให้ฟังครับ
ผลของมะเดื่อ
มะเดื่อเป็นพืชในสกุล [Ficus] ในสกุลเดียวกันนี้มีพืชที่เราคุ้นเคยกันดีอีกคือ โพ หรือ โพธิ์ [Ficus religiosa] และไทร [Ficus benjamina] ที่เราชอบเรียกรวมกันว่าต้นโพธิ์ต้นไทร ส่วนชนิดที่นำมาปลูกเพื่อใช้รับประทานผล ได้แก่ มะเดื่อฝรั่ง [Ficus carica] และ มะเดื่อชุมพร หรือมะเดื่ออุทุมพร [Ficus racemosa]
พืชในสกุลนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าเขตร้อนมากๆ เนื่องจากผลของพืชสกุลนี้เป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด เช่น กลุ่มของลิง (Primates) ค้างคาวกลุ่มที่กินผลไม้เป็นอาหาร และนกหลากหลายชนิด ในขณะที่ใบก็เป็นอาหารของหนอนผีเสื้อหลายชนิด
ผลของมะเดื่อมีความพิเศษคือ เป็นผลรวมของดอกหลายๆ ดอกที่อยู่บนช่อดอกเดียวกัน แต่ดอกไม่ได้ชูออกด้านนอกเพื่อให้เกิดการผสมเกสร แต่อยู่ในส่วนที่ดูเหมือนผลของมะเดื่อ ที่มีรูเปิดเล็กๆ ที่ก้นผลที่เรียกว่า Ostiole ทำให้มะเดื่อต้องการผู้ผสมเกสรแบบพิเศษที่จะสามารถมุดผ่านรูเล็กๆ นี้และช่วยผสมเกสรของมะเดื่อ ผู้ช่วยของมะเดื่อนี้เป็นแตนขนาดเล็กจิ๋ว ที่เรียกว่า แตนมะเดื่อ หรือ Fig wasp
โครงสร้างของผลรวมของมะเดื่อ (ดัดแปลงมาจาก By Gubin Olexander - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=64358333)
พืชในกลุ่มมะเดื่อแต่ละชนิดจะมีแตนมะเดื่อ 1 หรือ 2-3 ชนิดที่ทำหน้าที่ผสมเกสรจำเพาะเจาะจงกับพืชชนิดนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้านำพืชในสกุลมะเดื่อไปปลูกในพื้นที่ใหม่ๆ โดยไม่มีแตนมะเดื่อที่จำเพาะกับพืชชนิดนั้นไปด้วย จะทำให้พืชชนิดนั้นไม่สามารถผลิตเมล็ดได้
ความสัมพันธ์ระหว่างมะเดื่อกับแตนมะเดื่อนั้นเป็นไปในรูปแบบของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยมะเดื่อก็จะมีแตนมะเดื่อในการช่วยผสมเกสร ในขณะที่แตนมะเดื่อก็จะกินรังไข่ของมะเดื่อเป็นอาหาร และผสมพันธุ์ในผลรวมของมะเดื่อ
ภาพวาดแตนตัวเมีย (ซ้าย) และแตนตัวผู้ของแตนมะเดื่อชนิด [Blastophaga psenes] ที่เป็นผู้ผสมเกสรของมะเดื่อฝรั่ง [Ficus carica] (ที่มา Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=801268)
วงจรชีวิตของแตนมะเดื่อเริ่มจาก แตนตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วเข้าไปในผลรวมของมะเดื่อทางช่องเปิดที่เรียกว่า Ostiole พร้อมกับละอองเกสรเพศผู้ของดอกมะเดื่อดอกอื่นที่ติดตัวแตนไป
แตนมะเดื่อเพศเมียก็จะวางไข่ลงในดอกบางดอกของมะเดื่อในผลรวมนั้น และในช่วงที่วางไข่นั้นก็จะช่วยกระจายละอองเกสรเพศผู้ที่ติดตัวมันไปเรื่อยๆ ถ้าดอกไหนถูกแตนวางไข่ ก็จะเจริญไปเป็นปุ่มปม (Gall) ที่มีตัวอ่อนของแตนเจริญอยู่ข้างใน ในขณะที่ดอกที่ไม่ได้มีแตนวางไข่และได้รับละอองเกสรเพศผู้ ก็จะติดเมล็ด และเมื่อวางไข่เสร็จแล้ว แม่แตนมะเดื่อก็จะตาย
เมื่อตัวอ่อนเจริญเป็นตัวเต็มวัย แตนเพศผู้จะเจริญออกมาก่อน และออกจากปุ่มปมที่มันเจริญอยู่ และจะเดินหาเพศเมียที่ยังไม่ฟักออกมาจากปุ่มปม โดยแตนเพศผู้จะไม่มีปีกเหมือนแตนเพศเมีย เมื่อเจอแตนเพศเมียในปุมปมในผลมะเดื่อก็จะมุดลงไปในปุ่มปม แล้วผสมพันธุ์ตั้งแต่แตนตัวเมียยังไม่ออกมาเห็นโลกภายนอก
เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว แตนเพศผู้จะขุดผนังของผลรวม (Synconium wall) เป็นช่องเพื่อให้แตนตัวเมียออกไปหาดอกมะเดื่อดอกใหม่ แล้วแตนตัวผู้ก็จะตายในผลมะเดื่อนั้น ไม่ได้ออกมาข้างนอก และแตนมะเดื่อตัวเมียเมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ก็จะรวบรวมละอองเกสรตัวผู้ในดอกที่มันเกิด แล้วมุดออกไปทางรูที่แตนตัวผู้ขุดไว้ให้ เพื่อหาดอกมะเดื่อดอกใหม่เพื่อวางไข่และช่วยผสมเกสรของดอกมะเดื่อดอกใหม่ต่อไป
เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เราแกะหรือกินผลมะเดื่อจึงมักพบแมลงขนาดเล็ก ที่เป็นพวกแตนมะเดื่อนี้อยู่ข้างในเสมอ เพราะพวกมันจะมุดเข้าไปวางไข่ตั้งแต่ดอกมะเดื่อยังไม่โตเต็มที่ และเมื่อดอกเจริญต่อไปเป็นผลไข่ของแตนก็จะเข้าสู่ระยะหนอน หรือตัวเต็มวัยซึ่งเป็นแตนขนาดเล็กที่เราจะพบได้บ่อยๆ เมื่อแกะผลมะเดื่อออกมา
ผลมะเดื่อที่ถูกวางไข่โดยแตนมะเดื่อแล้ว
แตนมะเดื่อ (Fig wasp)
แตนเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มที่มีวงจรชีวิตที่น่าสนใจ ใครอยากลองอ่านวงจรชีวิตของแตนเบียนผีเสื้อหนอนมะนาว กดตามไปอ่านได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. วีดีโออธิบายวงจรชีวิตของ Fig wasp อาจจะทำให้เห็นภาพมากขึ้น https://youtu.be/8fpKDtLjvaI
โฆษณา