23 ธ.ค. 2019 เวลา 00:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การควบคุมมอธมะพร้าว [Levuana iridescens] โดยชีววิธี
มอธมะพร้าว [Levuana iridescens] (ที่มา ดัดแปลงจาก Rosa Henderson, Landcare Research - https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/8e/Levuana_iridescens.jpg
มอธมะพร้าว [Levuana iridescens] เป็นสัตว์ในกลุ่มของผีเสื้อกลางคืน ที่มีตัวหนอนที่กินยอดมะพร้าวเป็นอาหาร มอธมะพร้าชนิดนี้พบได้บนแห่งหนึ่งในหมู่เกาะฟิจิที่ชื่อว่า Viti Levu (หมู่เกาะฟิจิมีเกาะมากกว่า 300 เกาะ) และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับผลผลิตมะพร้าวบนเกาะแห่งนี้ โดยหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดนี้จะกินใบมะพร้าวเป็นอาหาร และถ้าหนอนผีเสื้อชนิดนี้ระบาด จะทำให้ใบและยอดมะพร้าวขาดร่วงลงมา และทำให้ต้นมะพร้าวตายได้
อาการของมะพร้าวที่ถูกโจมตีโดยมอธมะพร้าว (ที่มา https://cisr.ucr.edu/slideshowpro/albums/album-33/lg/palm_destroyed_by_levuana.jpg)
ซึ่งการตายของต้นมะพร้าวนี้จะมีผลกระทบต่อชนพื้นเมืองบนเกาะ เพราะคนบนเกาะมีการพึ่งพิงมะพร้าวเป็นทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เส้นใย ยารักษาโรค น้ำมัน และอุปกรณ์ก่อสร้าง
มีการรายงานการพบมอธชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1877 เฉพาะในเกาะ Viti Levu และอีก 40 ปีต่อมาก็เริ่มมีการกระจายของมอธชนิดนี้มากว้างขึ้นไปยังเกาะรอบๆ อีกด้วย ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความคิดว่า มอธชนิดนี้ไม่ใช่ชนิดพันธุ์พื้นถิ่น แต่อาจจะเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive alien species) ของหมู่เกาะฟิจิ ที่ถูกมนุษย์นำเข้ามาโดยอาจจะไม่ตั้งใจ เพราะมันมีการระบาดบ่อยครั้ง สามารถรุกรานไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ได้ และไม่มีศัตรูธรรมชาติที่จะคอยควบคุมมอธมะพร้าวในระยะต่างๆ
ตำแหน่งของหมู่เกาะฟิจิ (ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/fa/Fiji_%28orthographic_projection%29.svg)
ตำแหน่งของเกาะ Viti Levu ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศฟิจิ (ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/e1/Fiji_map.png)
ก่อนปี ค.ศ. 1925 ได้มีความพยายามจะควบคุมมอธมะพร้าวนี้ด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการใช้สารเคมี แต่ไม่ได้ผล ต่อมาในปี ค.ศ. 1925 ได้มีนักวิทยาศาสตร์ 3 คนนำโดย J.D. Tothill คิดจะนำวิธีการควบคุมโดยชีววิธีมาควบคุมมอธมะพร้าวชนิดนี้ โดยการหาศัตรูธรรมชาติของมอธมะพร้าวจะพื้นที่อื่นๆ นอกหมู่เกาะฟิจิมาปล่อยเพื่อโจมตี ทำลายมอธมะพร้าว เพื่อทำให้เกิดการควบคุมอย่างยั่งยืน
Tothill จึงได้นำเข้าแมลงวันเบียนชนิด [Bessa remota] จากมาลายา (ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน) ซึ่งจะมีโฮสต์คือ มอธชนิด [Artona catoxantha] ที่เป็นชนิดพันธุ์ใกล้ชิดกับมอธมะพร้าว [Levuana iridescens] และโจมตียอดของพืชกลุ่มปาล์มเช่นกัน ซึ่งแมลงวันเบียนนี้จะเข้าไปวางไข่บนหนอนผีเสื้อ และตัวอ่อนแมลงวันจะใช้หนอนผีเสื้อเป็นโฮสต์ และเป็นแหล่งอาหารในการเจริญเติบโต จนพัฒนาออกมาจนเป็นตัวเต็มวัย
แมลงวันเบียนชนิด [Bessa remota] (ที่มา https://cisr.ucr.edu/slideshowpro/albums/album-33/lg/besa_remota_adult_fly.JPG)
แมลงวันเบียนชนิดนี้ถูกขนส่งและนำมาเลี้ยงประมาณ 2-3 เดือน จนถึงเดือนสิงหาคม-กันยายน ค.ศ. 1925 จึงถูกนำไปปล่อยในธรรมชาติ หลังจากแมลงวันถูกปล่อยไปราวๆ 6 เดือน มอธมะพร้าวถูกโจมตีโดยแมลงวันเบียนจนสูญพันธุ์ไปบนเกาะ Viti Levu แต่ยังเหลืออยู่บนเกาะเล็กๆ 2 เกาะที่มีชื่อว่า Nukulau และ Makuleva จนถึงประมาณ ค.ศ. 1929 มอธมะพร้าวนี้จึงสูญพันธุ์ไปทั้งหมดจากโลก จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่พบมอธมะพร้าวชนิดนี้ในพื้นที่อื่นๆ บนโลก และการมาของแมลงวันเบียน ยังทำให้มอธเฉพาะถิ่นชนิดใกล้เคียงกันกับ มอธมะพร้าวที่มีชื่อว่า [Heteropan dolens] ได้สูญพันธุ์ไปด้วย
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการควบคุมโดยชีววิธี โดยเฉพาะการใช้คู่ศัตรูพืช-ศัตรูธรรมชาติที่ไม่เคยมีวิวัฒนาการร่วมกันมาก่อน ที่ถึงแม้จะประสบผลสำเร็จ แต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากการโจมตีของศัตรูธรรมชาติอย่างแมลงวันเบียน [Bessa remota] อาจจะมีความรุนแรงเกินไปจนกระทั่งศัตรูพืชอย่างมอธมะพร้าว [Levuana iridescens] สูญพันธุ์ได้ รวมไปถึงชนิดพันธุ์ที่เราไม่ได้ต้องการควบคุมอื่นๆ อย่างมอธ [Heteropan dolens] ที่อาจจะถูกโจมตีโดยแมลงที่เราปล่อยออกไปได้
เพราะฉะนั้นการควบคุมศัตรูพืชที่ดูเหมือนจะปลอดภัยต่อมนุษย์อย่างการใช้สิ่งมีชีวิตควบคุมกันเอง อย่างการควบคุมโดยชีววิธีอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดการสูญพันธุ์อย่างในกรณีนี้ได้ ดังนั้นจึงควรจะมีการศึกษาให้ดีก่อนที่จะมีการลงมือควบคุมสิ่งมีชีวิต แม้ว่าจะเป็นการใช้การควบคุมโดยชีววิธีก็ตาม
เอกสารอ้างอิง
4. Kuris, A.M. 2003. Did biological control cause extinction of the coconut moth, Levuana iridescens, in Fiji? Biological Invasions 5: 131-141.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา